ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ภาระอันหนังอึ้งในเรือนจำของ "ผู้คุมนักโทษ"

19 พ.ค. 55
16:08
179
Logo Thai PBS
ภาระอันหนังอึ้งในเรือนจำของ "ผู้คุมนักโทษ"

เป็นอีกอาชีพที่ถือว่าหนักและมีภาระต้องรับผิดชอบตลอด 24 ช.ม. สำหรับเจ้าหน้าที่เรือนจำและทำหน้าที่ผู้คุมผู้ต้องขัง ซึ่งจำนวนความแออัดและสัดส่วนของผู้ต้องขังแต่ละแห่งขณะนี้ ก็ต่างกันเกือบ 1 ต่อ 100 คน ทำให้เจ้าหน้าที่หลายคนสะท้อนว่าต้องทำงานท่ามกลางความเหน็ดเหนื่อยและกดดันจากทุกฝ่าย

<"">
 
<"">

ในขณะที่เจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งตั้งใจทำงานแต่เจ้าหน้าที่อีกจำนวนหนึ่ง ก็ยังถูกตั้งคำถาม ถึงความโปรงใส เนื่องจากพบหลักฐานการเข้าไปมีส่วนช่วยเหลือและร่วมกระทำผิดกับผู้ต้องขัง

ในแต่ละวันเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ของเรือนจำกลางจังหวัดลำปาง เกือบ 30 ชีวิต ต้องใช้เวลาวันละเกือบ 10 ช.ม. ทำงานอยู่หลังประตูลูกกรงเหล็กและกำแพงที่มีความสูงเกือบ 10 ม.เพื่อควบคุมดูแลผู้ต้องขังกว่า 1,600 คน แม้หน้าที่คือการควบคุมดูแลผู้ต้องขัง แต่การเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ ก็ต้องผ่านการตรวจร่างกายอย่างละเอียด ไม่เว้นแม้แต่อาหารที่นำเข้าไปก็จะถูกตรวจอย่างเข้มงวด ไม่ต่างจากผู้ต้องขัง

ทันทีที่ฟ้าสางผู้คุมเวรกลางคืนจะเปิดเรือนนอนของผู้ต้องขังบางส่วน เพื่อให้มาเตรียมอาหารให้กับเพื่อนผู้ต้องขังด้วยกัน ก่อนจะปล่อยให้ผู้ต้องขังทั้งหมดลงมาทำกิจวัตรส่วนตัวในเวลา 07.00 น.ซึ่งผู้คุมที่มีอยู่ราว 15 คน ต้องแบ่งงานกันดูแล ทั้งที่ลานอาบน้ำ โรงอาหาร สวนหย่อม โรงนอน และห้องตีตรวนสำหรับผู้ต้องขังที่ต้องออกไปที่ศาล และหากมีผู้ต้องขังที่ต้องไปโรงพยาบาล นั่นหมายความว่า ผู้คุมจะต้องหายไปอีก 2 คน

หลังจากการเข้าแถวฟังอบรม ผู้ต้องขังใหม่จะต้องเรียนรู้ระเบียบวินัยการใช้ชีวิตในเรือนจำจากผู้คุม ส่วนผู้ต้องขังเดิมจะเข้าโรงงานฝึกอาชีพ ซึ่งผู้คุมที่มีจะต้องคอยดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันเหตุทะเลาะวิวาท หรือการลักลอบประดิษฐ์อุปกรณ์ต้องห้าม เช่น มีด หรือ เข็มสัก เฉลี่ยแล้วผู้คุม 1 คน ต้องดูแลผู้ต้องขังราว 120 คน

ทันทีที่ผู้ต้องขังเข้าโรงงานเจ้าหน้าที่ที่เหลืออยู่เพียง 5 นาย จะเริ่มเข้าตรวจค้นในโรงนอน เพื่อค้นหาอุปกรณ์ต้องห้าม และสิ่งของผิดกฎหมาย หลายครั้งเข้าค้นก็ต้องถูกการข่มขู่คุกคามจากผู้ต้องขัง

นายาสมศักดิ์ เขียวอ่อน หัวหน้าฝ่ายควบคุม เรือนจำกลาง จ.ลำปาง ยอมรับว่า การควบคุมผู้ต้องขังในปัจจุบันทำได้ยากกว่าเมื่อก่อน เพราะผู้ต้องขังหลายคนมีความรู้และมักจะอ้างสิทธิมนุษยชน ประกอบกับส่วนใหญ่ต้องโทษคดียาเสพติดมีเครือข่ายภายนอกหลายคน หากเข้มงวดก็เสี่ยงที่จะถูกทำร้าย และด้วยค่าตอบแทนของเจ้าหน้าที่ที่ต่ำทำให้หลายคน ง่ายต่อการถูกชักจูงให้กระทำสิ่งที่ผิดเพื่อความอยู่รอด

หน้าที่ป้องกันควบคุมดูแลไม่ใช่เพียงแค่ส่วนงานควบคุมด้านในเท่านั้น เจ้าหน้าที่ภายนอกทุกส่วน ที่ทำหน้าที่ตรวจค้นอาหาร ติดต่อเข้าเยี่ยม เจ้าหน้าที่หอคอย หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่เฝ้าประตู ยังคงต้องทำหน้าที่ตรวจสอบและจับสังเกตตลอดทั้งวัน

ภายในแดนสนธยาแห่งนี้การทำงานต้องดำเนินไปตลอด 24 ช.ม.ภาระหน้าที่ยังคงติดตามตัว แม้ในยามที่ผู้ต้องขังเข้าเรือนนอนแล้วก็ตาม แม้ผู้คุมจำนวนมากจะทั้งเหน็ดเหนื่อยและทำงานด้วยความซื่อตรงแต่จากพฤติกรรมของผู้คุมบางคน ที่เข้าไปมีส่วนในการเอื้อและช่วยเหลือผู้ต้องขังบางคนกระทำผิด ทำให้ยังมีคำถามต่อผู้คุมและเจ้าหน้าที่ และยังเป็นปัญหาที่กรมราชทัณฑ์ต้นสังกัดต้องเร่งแก้ไข 


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง