ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

นโยบายแทรกแซงราคายางพารา อาจทำไทยเสีย "แชมป์" ส่งออก ให้อินโดนีเซีย

14:13
167
นโยบายแทรกแซงราคายางพารา อาจทำไทยเสีย "แชมป์" ส่งออก ให้อินโดนีเซีย

การชุมนุมประท้วงที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งของเกษตรกรชาวสวนยางในช่วงกว่า 2 เดือนที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงการแก้ไขปัญหา ที่นักวิชาการบางรายระบุว่า เป็นวิธีที่ไม่ยั่งยืน ด้วยการแทรกแซงราคา รับซื้อในราคาสูงกว่าตลาด พร้อมแนะว่ารัฐบาลควรมีกลไกที่เหมาะสม ซึ่งหากไม่เร่งจัดการไทยอาจเสียตำแหน่งผู้ผลิตและส่งออกยางอันดับ 1 ให้ประเทศอินโดนีเซีย

<"">
<"">

แม้มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 ก.ค.ที่ผ่านมาจะปรับเพิ่มราคารับซื้อยางพาราดิบที่กิโลกรัมละ 100 บาท และยางแผ่นรมควันที่104 ตามโครงการรักษาเสถียรภาพราคายาง ในวงเงิน15,000 ล้านบาท แต่เกษตรกรบางกลุ่มยังคงเรียกร้องอยากให้รัฐบาลดึงราคารับซื้อที่กิโลกรัมละ 120 บาท ซึ่งนายอนันต์ ดาโลดม นายกสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย กล่าวว่าเป็นความผิดพลาดของรัฐบาล ที่แก้ไขปัญหาด้วยการให้ความหวังกับเกษตรกร โดยตั้งราคา 120 บาทเป็นราคาเป้าหมาย

ทั้งนี้เมื่อ พิจารณาจากการศึกษาต้นทุนการผลิตยางแผ่นดิบ ตั้งแต่ปี 2551-2554 ของศูนย์สารสนเทศการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ต้นทุนในแต่ละปีมีการปรับขึ้นเล็กน้อย เช่น ปี 2553 อยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 40.01 บาท และใน 2554 อยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 46.57 บาท  ซึ่งราคาเฉลี่ยทั้ง 4 ปี อยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 41.94 บาท

ขณะที่ราคายางที่ลดลงขณะนี้ยังสูงกว่าราคาเฉลี่ยในช่วง ปี 2545-2554 หรือ 10 ปีที่ผ่านมา ที่มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 69.35 บาท

โดยนายวิทย์ ประทักษ์ใจ ผู้อำนวยการสำนักงานสงเคราะห์การทำสวนยาง หรือ สกย .กล่าวย้ำว่า ราคายางพาราของไทยขณะนี้แม้จะปรับลดลงมาแต่ก็เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจโลกและสอดคล้องราคาน้ำมันที่อ่อนตัวลง การที่เกษตรกรต้องการให้ที่รัฐรับซื้อยางในราคาสูงถึงกิโลกรัม 120 บาทถือเป็นเรื่องยากซึ่งจะเป็นภาระทางการคลังของประเทศมากขึ้น เแต่มั่นใจว่าในระยะยาวราคาจะฟื้นตัวดีขึ้น

นายอนันต์ ยังกล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาราคายางพาราที่ยั่งยืนว่ารัฐควรใช้กลไกของคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติและการประชุมไตรภาคีของ 3 ประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ คือ ไทย มาเลเซีย และอินโดเซีย ให้เกิดประโยชน์ มากกว่าการทุ่มงบมหาศาลในการรับซื้อเพื่อเรียกคะแนนประชานิยม เพราะจะสร้างค่านิยมผิด ๆ ให้แก่กลุ่มเกษตรกรบางกลุ่ม ที่ใช้วิธีเรียกร้องจากรัฐบาลด้วยการชุมนุมประท้วงทุกครั้งเมื่อราคาตกต่ำ ซึ่งทำให้รัฐต้องแก้ปัญหาอย่างเร่งรีบและไม่ยั่งยืนต่อเกษตรกรในอนาคต

และเป็นไปได้ว่า ไทยอาจเสียตำแหน่งผู้ผลิตและผู้ส่งออกยางพารารายใหญ่ของโลกให้แก่อินโดนีเซีย ที่ประกาศจะเพิ่มปริมาณการผลิตในอีก 3 ปีข้างหน้า ถึงร้อยละ 44 ซึ่งนี่อาจเป็นสินค้าเกษตรตัวที่ 2 ต่อจากข้าว ที่ต้องเสียตำแหน่งการส่งออกไป เนื่องจากนโยบายการแทรกแซงราคา และรับจำนำของรัฐบาล ที่ดึงราคาสูงเกินจริง ทำให้สินค้าของไทย ไม่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้