NASA ปลดระวางเครื่องบิน Douglas DC-8 หลังจากใช้งานมาอย่างยาวนานร่วม 37 ปี


Logo Thai PBS
NASA ปลดระวางเครื่องบิน Douglas DC-8 หลังจากใช้งานมาอย่างยาวนานร่วม 37 ปี

ภายหลังจากภารกิจ ASIA-AQ ของ NASA เครื่องบิน Douglas DC-8 ที่ใช้สำรวจชั้นบรรยากาศ ก็ถึงคราวปลดระวางภายหลังจากการปฏิบัติงานร่วม 37 ปี

หลังจากที่ปฏิบัติงานร่วม 37 ปี ภายใต้การเป็นห้องปฏิบัติการลอยฟ้าที่ใหญ่ที่สุดของ NASA เครื่องบิน Douglas DC-8 จะได้สิ้นสุดการทำหน้าที่ของมันภายในเดือนพฤษภาคมนี้

ภาพถ่ายเครื่องบิน Douglas DC-8 ของ NASA

DC-8 Airborne Science Laboratory คือห้องปฏิบัติการลอยฟ้าของ NASA ซึ่งอยู่ภายใต้ความดูแลของ Armstrong Flight Research Center ใช้ในการเก็บข้อมูลทางด้านสภาพแวดล้อม ชั้นอากาศเหนือพื้นมหาสมุทร ฝุ่นละอองจากภูเขาไฟ และสารเคมีในชั้นบรรยากาศ

สาเหตุที่ NASA ยังจำเป็นต้องใช้เครื่องบินในการเก็บข้อมูลการสำรวจสภาพอากาศอยู่นั้นเนื่องจากชั้นบรรยากาศของโลกมีหลายระดับชั้นความสูง แต่ละชั้นความสูงมีรูปแบบเฉพาะตัวที่แตกต่างกัน บางชั้นเมื่อสูงขึ้นไปมีอากาศที่เย็นลง กลับกัน ในบางชั้นอุณหภูมิกลับเพิ่มขึ้นอย่างมาก องค์ประกอบของชั้นบรรยากาศแต่ละชั้นย่อมไม่เหมือนกัน และข้อมูลเหล่านี้ไม่สามารถเก็บได้จากสถานีวิจัยอากาศที่ระดับพื้นผิวและจากดาวเทียมได้ ดังนั้นเครื่องบินที่สามารถบินขึ้นไปในแต่ละชั้นของอากาศได้จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมากสำหรับการศึกษาชั้นบรรยากาศของโลก

ภาพถ่ายเครื่องบิน DC-8 ขณะบินโฉบเหนือรันเวย์สนามบินดอนเมือง ระหว่างปฏิบัติภารกิจ ASIA-AQ ภาพถ่ายโดย จิรสิน อัศวกุล

เครื่องบิน DC-8 ไม่ได้เป็นเครื่องบินสำรวจชั้นบรรยากาศเพียงลำเดียวของ NASA เพราะยังมีฝูงบินที่ศึกษาในกลุ่มงานด้านสิ่งแวดล้อมโลกอยู่อีกหลายลำ เช่น เครื่องบิน Gulfstream III เครื่องบินเจ็ตส่วนตัวขนาดเล็กที่ทาง NASA ได้ดัดแปลงภายในห้องโดยสารให้สามารถติดตั้งอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์เพื่อเก็บข้อมูลได้ เช่น Spectrometer และ LIDAR แต่อุปกรณ์ของเครื่องบินในฝูงบินเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์นั้นไม่มีเครื่องบินลำไหนที่บรรทุกและถูกดัดแปลงให้สามารถบรรจุอุปกรณ์ได้มากเท่ากับเครื่องบิน DC-8

ภาพถ่ายขณะเครื่องบิน DC-8 ปฏิบัติภารกิจสำรวจสภาพชั้นน้ำแข็งเหนือแอนตาร์กติกา

ภายใต้ช่วงเวลา 37 ปี ของเครื่องบิน DC-8 NASA ได้ดัดแปลงโครงสร้างของเครื่องบินหลายแห่งเพื่อติดตั้งอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ เช่น การเจาะหน้าต่างเพื่อติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดฝุ่นละอองในอากาศมากถึง 32 ตัวด้วยกัน และได้เปลี่ยนเครื่องยนต์ทั้ง 4 ตัวของเครื่องบินจาก Pratt & Whitney JT3D ที่เป็นเครื่องยนต์ Turbo Fan ขนาดเล็กเป็นเครื่องยนต์ CFM56 เครื่องยนต์ Turbo Fan ขนาดที่ใหญ่ขึ้นและมีประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงที่สูงกว่าเครื่องยนต์ในรุ่นก่อนหน้า ซึ่ง NASA ได้รับเครื่องบินลำนี้ในช่วงปี 1985 และดัดแปลงแล้วเสร็จพร้อมเริ่มปฏิบัติการสำรวจชั้นบรรยากาศในปี 1987

ภาพขณะกำลังทำการทดสอบอุปกรณ์ภาพขณะกำลังทดสอบอุปกรณ์ของ CAPS และ PMex ภายใต้โครงการ NASA Student Airborne Research Project

เครื่องบินลำนี้ได้ร่วมปฏิบัติภารกิจหลากหลายภารกิจด้วยกัน ทั้งโครงการ Operation Ice Bridge ในปี 2009-2010 ภารกิจเพื่อการตรวจสอบสภาพแวดล้อมชั้นน้ำแข็งของแอนตาร์กติกาจากสภาวะการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลก การตรวจสอบเทียบอุปกรณ์ LIDAR เพื่อการตรวจวัดระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ ในโครงการ AS-CENDS (Active Sensing of CO2 Emissions over Nights, Days and Seasons) การเป็นเครื่องมือทวนสัญญาณ (relay) เพื่อการติดตามภารกิจทั้งการปล่อยจรวดและการเดินทางกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของยานสำรวจอวกาศ อย่างภารกิจการติดตามการกลับเดินทางเข้าชั้นบรรยากาศของตัวอย่างหินจากดาวเคราะน้อยของยาน Hayabusa บนทะเลทรายออสเตรเลีย ในปี 2010 และยังเป็นเครื่องบินหลักในการตรวจสอบคุณสมบัติของชั้นอากาศและฝุ่นละอองเหนือน่านฟ้าประเทศไทยในภารกิจ ASIA-AQ อีกด้วย

ภาพถ่ายเครื่องบิน DC-8 ได้รับการต้อนรับกลับบ้านที่ศูนย์วิจัยอาร์มสตรองของ NASA

หลังจากสิ้นสุดภารกิจ ASIA-AQ เครื่องบิน DC-8 ได้เดินทางกลับสู่ Armstrong Flight Research Center เมืองปาล์มเดล (Palmdale) ในรัฐแคลิฟอร์เนียเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งเครื่องบินลำนี้ได้รับเกียรติจาก U.S. Air Force Plant 42 Fire Department ฉีดอุโมงค์น้ำเพื่อเป็นเกียรติให้แก่การเดินทางตลอด 37 ปีและนับว่าเป็นการสิ้นสุดการเดินทางในฐานะของเครื่องบินและสถานีวิจัยชั้นบรรยากาศลอยฟ้าที่ใหญ่ที่สุดของ NASA หลังจากปลดระวาง เครื่องบินลำนี้จะได้บ้านหลังใหม่ที่ Idaho State University ในเมืองโพคาเทลโล (Pocatello รัฐไอดาโฮ และทาง NASA มีแผนจะใช้เครื่องบิน Boeing 777-200ER ซึ่งเป็นเครื่องบินที่ใหม่กว่าและใหญ่กว่า มาสนับสนุนงานการศึกษาชั้นบรรยากาศของโลกต่อจากงานของ DC-8


🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

ที่มาข้อมูล: NASA, spaceth, NASA

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

Douglas DC-8เครื่องบิน Douglas DC-8DC-8 Airborne Science Laboratoryเครื่องบินองค์การนาซานาซาNASAThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech InnovationInnovation Tech World
Thai PBS Sci & Tech
ผู้เขียน: Thai PBS Sci & Tech

🌎 "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends

บทความ NOW แนะนำ