เทศกาลสารทจีน ตรงกับวันที่ 15 เดือน 7 ตามปฏิทินจันทรคติของจีน มีชื่อเป็นทางการว่า “จงหยวนเจี๋ย” ส่วนชื่อทั่วไปแต้จิ๋วนิยมเรียกว่า “ชิกว็วยะปั่ว” แปลว่า “(เทศกาล) กลางเดือน 7” และชื่อที่นิยมเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า “กุ่ยเจี๋ย (กุ๋ยโจย)” แปลว่า “เทศกาลผี” สารทจีนในไทยนับว่าเป็นเทศกาลใหญ่คู่กับตรุษจีน ซึ่ง 2 เทศกาลนี้แพร่หลายในไทยมาช้านาน เรามาดูกันว่า มีเรื่องน่ารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับวันสารทจีน

การไหว้สารทจีน จะแบ่งออกเป็น 3 เวลา คือ
- เช้า : ไหว้เจ้าที่
ของไหว้เหมือนเทศกาลตรุษจีน โดยมีขนมเข่งด้วย ซึ่งเดิมเทศกาลสารทจีนไม่ต้องมีก็ได้ แต่ด้วยความเคยชินจึงกลายเป็นของไหว้ในเทศกาลนี้ไปด้วย - สาย : ไหว้บรรพบุรุษ
ช่วงสายประมาณ 09.00 - 11.00 น. จะเป็นการไหว้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้วภายในบ้าน สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ ขนมเข่ง ขนมเทียน และผลไม้ - บ่าย : ไหว้ผีไร้ญาติ หรือ ฮอเฮียตี๋
เดิมนิยมไหว้กลางแจ้ง และต้องหันหน้าออกนอกบ้าน เพื่อไม่ให้เป็นการเชื้อเชิญวิญญาณเข้ามาในตัวบ้าน ต่อมาอนุโลมไหว้ในชายคาบ้านได้ แต่ต้องอยู่นอกธรณีประตู ของไหว้ต้องมีหลายชนิดและปริมาณมาก กับข้าวบางอย่างไหว้ทั้งหม้อ โดยของไหว้ทุกอย่างจะต้องปักธูป 1 ดอก เพื่อเป็นการเชื้อเชิญวิญญาณให้มารับของเซ่นไหว้ จนธูปหมดดอกหรือเกือบหมดจึงเผากระดาษลา จากนั้นเอาข้าวสารกับเกลือซัดชายคาบ้านเพื่อไล่ให้ผีกลับ เพราะกลัวว่าจะมีผีอยู่ต่อ เป็นภัยแก่คนในบ้าน

ทำไมต้องไหว้ผีไร้ญาติในวันสารทจีน
- คนจีนเชื่อว่าเดือน 7 เป็นเดือนผี จึงไหว้ฮอเฮียตี๋ นอกจากไหว้เจ้า ไหว้บรรพบุรุษ
- คนจีนไหว้ฮอเฮียตี๋ เพื่อให้ชาวจีนที่ตายในไทยไม่มีลูกหลานเซ่นไหว้ ได้รับเครื่องเซ่นไหว้เหมือนคนอื่น
- การไหว้จะไหว้ในช่วงบ่าย เดิมนิยมไหว้กลางแจ้ง ปัจจุบันอนุโลมไหว้ในชายคาบ้านได้
- ของไหว้ทุกอย่างต้องปักธูป 1 ดอก เพื่อเชื้อเชิญ แสดงความเคารพผีไร้ญาติ
- ของไหว้ต้องมีหลายชนิดและปริมาณมาก กับข้าวบางอย่างต้องไหว้ทั้งหม้อ
- คนจีนแต้จิ๋วในไทยไม่ใช้มะม่วงไหว้ เพราะภาษาชาวบ้านเรียกมะม่วงว่า "ส่วย" ใกล้กับคำว่า “ซวย”
- ของที่ไหว้เสร็จแล้ว นิยมแจกจ่ายเพื่อนบ้าน ที่ไม่ได้ไหว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนยากจน แง่หนึ่งจึงเป็นการเกื้อกูลแบ่งปัน และการทำทาน
- ในเดือนนี้ ศาลเจ้าหลายที่ยังมีการทำบุญทิ้งกระจาด หรือซีโกว เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ญาติที่ล่วงลับ และผีไร้ญาติอีกด้วย

ข้อห้ามและข้อปฏิบัติ วันสารทจีน
- ในวันสารทจีนจะไม่นิยมจัดงานมงคล โดยเฉพาะงานแต่งงาน เพราะเชื่อว่าเดือน 7 เป็นเดือนผี เป็นเดือนที่ประตูนรกเปิด
- หยุดงาน งดค้าขายในวันไหว้ เพื่อให้ถนนว่าง ผีเดินได้สะดวก
- บางถิ่นในจีนและไต้หวัน ถือเคล็ด "หลบผี" ไม่ให้เด็กออกไปวิ่งเล่น เพราะกลัวไปชนผีแล้วถูกหลอกหลอนทำร้าย
- การไหว้ผีไร้ญาติ (ฮอเฮียตี๋) ของไหว้ทุกอย่างต้องปักธูปด้วย เพื่อเป็นการเชื้อเชิญและแสดงความเคารพผีไร้ญาติ
- หลังไหว้ผีไร้ญาติเสร็จ ต้องนำข้าวสารกับเกลือซัดชายคาบ้าน เพื่อไล่ให้ผีกลับ อย่าอยู่ต่อ เป็นภัยแก่คนในบ้าน
- แจกจ่ายของไหว้ให้เพื่อนบ้านที่ไม่ได้ไหว้สารทจีน โดยเฉพาะคนยากจนและลูกค้า เพราะคนจีนส่วนใหญ่ค้าขาย เป็นการเกื้อกูลแบ่งปันกัน นัยหนึ่งถือเป็นการทำทาน

"ตรุษจีน - เช็งเม้ง - สารทจีน" แตกต่างอย่างไร
- "วันตรุษจีน" เป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวจีน ที่มีการรวมตัวของครอบครัวเพื่อเฉลิมฉลอง มีกิจกรรมการไหว้เจ้า ซึ่งเป็นการสักการะบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และเทพเจ้าของชาวจีน
- "วันเช็งเม้ง" เป็นวันที่ลูกหลานเดินทางกลับมารวมตัว เพื่อไหว้ "สุสาน" หรือ "ฮวงซุ้ย" ของบรรพบุรุษ โดยไหว้อาหารและข้าวของเครื่องใช้จำเป็นเสมือนให้พวกท่านได้ไปใช้ในอีกภพภูมิ ถือเป็นการแสดงความกตัญญู รำลึกถึงคุณความดี ที่บรรพบุรุษของเราได้กระทำไว้
- "วันสารทจีน" เป็นการไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ระลึกถึงคุณงามความดี และขอพร ขอโชค ส่วนอาหารไหว้นั้นจะเน้นเป็นอาหารที่บรรพบุรุษชื่นชอบเสียส่วนใหญ่ มีการเผากระดาษเงิน กระดาษทองที่เชื่อว่าสามารถส่งไปให้ถึงบรรพบุรุษได้
ที่มา : บทความสารทจีน : เทศกาลสำคัญที่กำลังลบเลือน โดย ถาวร สิกขโกศล, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ ส.ค. 59