Thai PBS On This Day | พฤษภาคม 2567


วันสำคัญ

30 เม.ย. 67

วิรินทร์ พรหมสาขา ณ สกลนคร | จูล~Joule

Logo Thai PBS
Thai PBS On This Day | พฤษภาคม 2567

เพราะทุกเรื่องราวมีความหมาย เราจึงรวบรวมทุกวันสำคัญ วันนี้ในอดีต เทศกาลและเหตุการณ์ที่น่าจดจำทั่วทุกมุมโลกมาให้คุณได้รู้ ผ่านการเล่าอดีต บันทึกปัจจุบัน รอบรู้ทุกวัน กับ Thai PBS On This Day ประจำเดือนพฤษภาคม 2567

1 พฤษภาคม : วันแรงงานแห่งชาติ (May Day)

ที่มาของ “วันแรงงานแห่งชาติ (May Day)” เริ่มมาจาก “วันเมย์เดย์ (May Day)” ของประเทศในแถบยุโรปในสมัยก่อน ที่ถือเอาวันนี้เป็นวันเริ่มต้นฤดูใหม่ทางเกษตรกรรม โดยมีพิธีเฉลิมฉลองและทำการบวงสรวง เพื่อขอให้การปลูกพืชได้ผลดี รวมถึงขอให้อยู่เย็นเป็นสุข ในตอนเหนือของยุโรปจะมีการจัดงานรอบกองไฟในวันนี้ด้วย ซึ่งประเพณีนี้ในประเทศอังกฤษก็ยังมีสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน

“วันเมย์เดย์ (May Day)” ในยุคแรก ๆ ยังเป็นเพียงวันหยุดพักผ่อนประจำปี แต่ต่อมาประเทศอุตสาหกรรมหลายประเทศก็ถือเอาวันนี้เป็นวันหยุดตามประเพณีด้วย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเตือนใจให้ผู้คนและสังคมตระหนักถึง “ผู้ใช้แรงงาน” ที่เป็นส่วนสำคัญในการทำประโยชน์ให้แก่เศรษฐกิจของประเทศ

ต่อมาหลายประเทศในตะวันตกได้มีการเรียกร้องให้ถือเอาวันที่ 1 พฤษภาคม เป็น “วันแรงงานสากล” และเริ่มมีการเฉลิมฉลองเป็นครั้งแรกในวันที่ 1 พฤษภาคม 2433 ต่อเนื่องทุกปีจนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ในประเทศไทย เริ่มมีการบริหารจัดการแรงงาน โดยจัดสรรและพัฒนาแรงงาน รวมถึงคุ้มครองดูแลสภาพการทำงาน เพื่อสร้างรากฐานและส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง เมื่อปี 2475 จากนั้นเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2499 คณะกรรมการการจัดงานที่ระลึกแรงงาน ได้จัดประชุมขึ้น พร้อมทั้งมีความเห็นตรงกันว่า ควรกำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคม เป็น “วันกรรมกรแห่งชาติ” ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วันแรงงานแห่งชาติ” นั่นเอง

1 พฤษภาคม 2383 : จำหน่ายดวงตราไปรษณีย์ หรือ แสตมป์ (Stamp) ดวงแรกของอังกฤษและของโลก

เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2383 “ไปรษณีย์อังกฤษ” ได้นำ “ดวงตราไปรษณีย์” หรือ “แสตมป์ (Stamp)” ดวงแรกของประเทศอังกฤษและดวงแรกของโลก ออกวางจำหน่าย ซึ่งเริ่มใช้ได้ในวันที่ 6 พฤษภาคม 2383 โดยแสตมป์ดวงนี้ มาจากความคิดของ “โรว์แลนด์ ฮิลล์ (Rowland Hill)” พนักงานไปรษณีย์ ผู้ริเริ่มให้ปรับปรุงระบบการขนส่งไปรษณีย์ภันฑ์ของอังกฤษ ในปี 2380 เขาได้เสนอให้มีการใช้ซองจดหมายและตราไปรษณีย์ เป็นค่าขนส่งล่วงหน้า

ดวงตราไปรษณีย์ หรือ แสตมป์ (Stamp) ดวงแรกของประเทศอังกฤษและดวงแรกของโลก ออกแบบโดย “วิลเลียม มูลเรดี (William Mulready)” มีพระบรมฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระราชินีวิคทอเรีย (Queen Victoria) เรียกว่า “เพ็นนีแบล็ค (Penny Black)” เนื่องจากพิมพ์ด้วยสีดำและมีราคา 1 เพนนี (Penny) ทั้งนี้ ด้วยเหตุที่เป็นแสตมป์ (Stamp) ดวงแรกของโลก จึงไม่ปรากฏชื่อประเทศอังกฤษอยู่บนแสตมป์ (Stamp)

2 พฤษภาคม : วันทูน่าโลก (World Tuna Day)

กลุ่มอุตสาหกรรมการประมง องค์การไม่แสวงผลกำไร และรัฐบาลจาก 8 ประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิคฝั่งตะวันตก (PNA) ได้ร่วมกันผลักดันการอนุรักษ์ปลาทูน่าและการประมงที่ไม่ส่งผลเสียต่อสายพันธุ์ปลาและสิ่งแวดล้อม จนต่อมาได้ขยายความร่วมมือไปใน 96 ประเทศทั่วโลก

ต่อมาในปี 2560 “องค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN)” ได้กำหนดให้วันที่ 2 พฤษภาคม ของทุกปีเป็น “วันทูน่าโลก (World Tuna Day)” เพื่อมุ่งเน้นการอนุรักษ์ประชากรปลาทูน่าของโลก รวมถึงสนับสนุนการบริหารจัดการอุตสาหกรรมปลาทูน่าให้เหมาะสม ป้องกันปัญหาการประมงผิดกฎหมาย หรือเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของปลาทูน่า

2 พฤษภาคม 2062 : “เลโอนาร์โด ดา วินชี” จิตรกรชาวอิตาเลียน เสียชีวิต

“เลโอนาร์โด ดา วินชี (Leonardo da Vinci)” จิตรกรชาวอิตาเลียน เจ้าของฉายา “ผู้รอบรู้จักรวาล (Universal Man)” แห่งยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ เกิดเมื่อวันที่ 15 เมษายน 1995 ที่อันเชียโน (Anchiano) ประเทศอิตาลี

เขาเป็นผู้ที่มีความชำนาญหลากหลายด้าน เป็นทั้งจิตรกรเอก ประติมากร นักประดิษฐ์ นักวิทยาศาสตร์ รอบรู้เรื่องกายวิภาคศาสตร์ สถาปัตยกรรม ดาราศาสตร์ พฤกษศาสตร์ เขาคือเจ้าของภาพวาดอมตะอย่าง “อาหารเย็นมื้อสุดท้าย (The Last Supper)” และ “โมนาลิซ่า (Mona Lisa)”

“เลโอนาร์โด ดา วินชี (Leonardo da Vinci)” เสียชีวิตเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2062 ที่ปราสาทโคลส ลูเซ่ (Château du Clos Lucé) เมืองแอมบอยซี (Amboise) ประเทศฝรั่งเศส ขณะอายุได้ 67 ปี

3 พฤษภาคม : วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก (World Press Freedom Day)

เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2534 “องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO)” ได้เสนอให้สมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN) ประกาศให้วันที่ 3 พฤษภาคม ของทุกปีเป็น “วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก (World Press Freedom Day)” เพื่อย้ำเจตนารมณ์และหลักการที่เป็นพื้นฐานของเสรีภาพสื่อมวลชนทั่วโลก คือเสรีภาพในการคิดและการแสดงออก เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้เสนอข้อเท็จจริงโดยเสรีและปลอดภัย เนื่องจากในระยะหลัง มีนักข่าวภาคสนามที่ลงพื้นที่ เสียชีวิตขณะปฏิบัติงาน ถูกจับเป็นตัวประกัน หรือถูกจับกุม เพิ่มจำนวนมากขึ้น

แม้ว่าการเฉลิมฉลอง “วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก (World Press Freedom Day)” จะเริ่มขึ้นเมื่อปี 2534 แต่เสรีภาพในการแสดงออกนั้น ถูกพูดถึงมาก่อน โดยสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ มีมติรับรอง “ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (The Universal Declaration of Human Rights)” เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2491 โดยมีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพของสื่อมวลชนไว้ในข้อที่ 19 ว่า

ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความเห็นและการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงอิสรภาพในการที่จะถือเอาความเห็นโดยปราศจากการแทรกสอด และที่จะแสวงหา รับ และแจกจ่ายข่าวสาร และความคิดเห็นไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ และโดยไม่คำนึงถึงเขตแดน

3 พฤษภาคม : วันสัตว์เลี้ยงพิเศษแห่งชาติ (สหรัฐอเมริกา) (National Specially-Abled Pets Day)

“คอลลีน เพจ (Colleen Paige)” นักเขียน - ผู้เชี่ยวชาญด้านไลฟ์สไตล์และสัตว์เลี้ยง เป็นผู้ก่อตั้ง “วันสัตว์เลี้ยงพิเศษแห่งชาติ (สหรัฐอเมริกา) (National Specially-Abled Pets Day)” ทุกวันที่ 3 พฤษภาคม ของทุกปี จะมีการให้ความรู้ผู้คนเกี่ยวกับการดูแลสัตว์เลี้ยงพิการ มีกิจกรรมหาบ้านให้สัตว์พิการ ร่วมถึงการเฉลิมฉลองบนโซเชียลมีเดียผ่านแฮชแท็ก #SpeciallyAbledPetsDay เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของสัตว์เลี้ยงพิการ เดาไม่ถูกเลยว่าเหล่าสัตว์เลี้ยงพิการจะใจฟูแค่ไหน ที่มีผู้คนมอบความรักและความเอาใจใส่ เพื่อตอบแทนที่น้อง ๆ ได้เข้ามาเติมเต็มความสุขของบ้านหลังใหม่ที่เลือกไปเป็นสมาชิก

4 พฤษภาคม : วันฉัตรมงคล

“วันฉัตรมงคล” มีความหมายตามพจนานุกรมว่า พระราชพิธีฉลองพระเศวตฉัตร ทำในวันซึ่งตรงกับวันบรมราชาภิเษก โดยก่อนหน้ารัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 “พระราชพิธีฉัตรมงคล” ถือเป็นพิธีของเจ้าพนักงานในพระราชฐาน ที่มีหน้าที่รักษาเครื่องราชูปโภคและพระทวารประตูวัง ได้จัดการสมโภชสังเวยเครื่องราชูปโภคที่ตนรักษาทุกปีในเดือน 6

ต่อมาเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2393 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เสด็จขึ้นครองราชย์ ได้ทรงกระทำพิธีฉัตรมงคลขึ้นเป็นครั้งแรกในวันบรมราชาภิเษก โดยมีพระราชดำริว่า “วันบรมราชาภิเษก” เป็นมหามงคลสมัยที่ควรแก่การเฉลิมฉลองในประเทศที่มีพระเจ้าแผ่นดิน จึงถือให้วันนั้นเป็นวันนักขัตฤกษ์มงคลกาล และควรที่จะมีการสมโภชพระมหาเศวตฉัตรให้เป็นสวัสดิมงคลแก่ราชสมบัติ ทั้งนี้ “วันบรมราชาภิเษก” ยังตรงกับวันสมโภชเครื่องราชูปโภคที่มีมาแต่เดิม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 จึงทรงถือเอา “วันฉัตรมงคล” เป็นวันสมโภชเครื่องราชูปโภคด้วย

พร้อมทั้งมีพระราชดำริให้จัดงานพระราชกุศลพระราชทาน ใช้ชื่อว่า “ฉัตรมงคล” โดยนิมนต์พระสงฆ์มาสวดเจริญพระพุทธมนต์ ในวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 6 รุ่งขึ้นมีการถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทและพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ด้วยเหตุนี้ จึงถือว่าการเฉลิมฉลอง “พระราชพิธีฉัตรมงคล” เริ่มมีขึ้นในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เป็นครั้งแรก

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 “วันบรมราชาภิเษก” ตรงกับเดือน 12 จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานฉัตรมงคลในเดือน 12 แต่ไม่ได้รับการยินยอม จึงทรงออกพระราชบัญญัติว่าด้วยตราจุลจอมเกล้าสำหรับตระกูลขึ้น ให้มีพระราชทานตรานี้ ตรงกับวันคล้ายวันบรมราชาภิเษก ท่านผู้หลักผู้ใหญ่จึงยินยอมให้เลื่อนงานฉัตรมงคลมาตรงกับ “วันบรมราชาภิเษก” แต่ยังให้รักษาประเพณีสมโภชเครื่องราชูปโภคอยู่ตามเดิม รูปแบบงาน “วันฉัตรมงคล” จึงเป็นเช่นนี้สืบต่อมาถึงปัจจุบัน

โดยในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงาน “พระราชพิธีฉัตรมงคล” เป็นเวลา 3 วัน คือ วันที่ 4 พฤษภาคม 2562 “วันฉัตรมงคล” ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก วันที่ 5 พฤษภาคม 2562 พระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย สถาปนาพระฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศ์ และเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค วันที่ 6 พฤษภาคม 2562 เสด็จออก ณ สีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท และ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

4 พฤษภาคม : วันสตาร์ วอร์ส (Star Wars Day)

ชาวจักรวาลของภาพยนตร์ในตำนานเรื่อง “สตาร์ วอร์ส (Star Wars)” คงจะคุ้นหูกันดีกับวลีเด็ดสุดอมตะ “May the force be with you” ที่มีความหมายว่า “ขอพลังจงอยู่กับท่าน” กันอย่างดี และนี่คือที่มาของ “วันสตาร์ วอร์ส (Star Wars Day)” ที่เป็นการเล่นคำของแฟนหนังสติเฟื่อง โดยเปลี่ยนประโยคเป็น “May the fourth be with you” ซึ่งความหมายก็กลายเป็นว่า “ขอพลังแห่งวันที่ 4 พฤษภาคมจงอยู่กับท่าน”

5 พฤษภาคม : วันคล้ายวันประสูติ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ ทรงประสูติเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2527 ทรงเป็นพระธิดาพระองค์เล็กในสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี กับ วีระยุทธ ดิษยะศริน มีพระเชษฐภคินี 1 พระองค์ คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์

พระองค์ทรงเป็นพระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทั้งยังทรงเป็นพระภาคิไนยในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ด้วย

พระองค์มีฐานันดรศักดิ์เมื่อแรกประสูติคือ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาให้ดำรงฐานันดรศักดิ์

ในวันที่ 12 มิถุนายน 2527 ได้มีการพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ ณ พระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ หมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ตามโบราณราชประเพณี

ต่อมาเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2562 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 มีพระบรมราชโองการ เฉลิมพระนามเป็น “พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ” พระราชทานน้ำพระมหาสังข์ใบมะตูม ทรงเจิมแล้วพระราชทานพระสุพรรณบัฏ เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ฝ่ายใน ชั้นปฐมจุลจอมเกล้า และเหรียญรัตนาภรณ์ ร.10 ชั้นที่ 1

ด้านการศึกษา ทรงศึกษาระดับอนุบาลที่โรงเรียนจิตรลดา จากนั้นประทับ ณ รัฐแมริแลนด์ สหรัฐอเมริกา และทรงเข้าศึกษาที่สถาบันศิลปะวอชิงตัน (The Art Institute of Washington) จนสำเร็จการศึกษา ต่อมาทรงย้ายไปศึกษาต่อด้านแฟชั่นดีไซน์ในสถาบันศิลปะแคลิฟอร์เนีย (The Art Institute of California) และในปี 2552 ได้ทรงโอนย้ายหน่วยกิตทั้งหมด เพื่อมาทรงศึกษาต่อในสาขาหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ทรงสำเร็จการศึกษาในปี 2553 และทรงเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรในปี 2554

ด้านพระกรณียกิจ ทรงนำความรู้มาออกแบบผลิตภัณฑ์ในโครงการสวนจิตรลดา ปรับรูปแบบบรรจุภัณฑ์ทางการเกษตรโครงการสวนจิตรลดา สนับสนุนงานด้านศิลปะ พระพุทธศาสนา และโครงการเกษตรตัวอย่างในพระดำริที่จังหวัดสุรินทร์

5 พฤษภาคม : วันนักเขียนไทย

“สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย” ได้กำหนดให้วันที่ 5 พฤษภาคม ของทุกปีเป็น “วันนักเขียนไทย” เพื่อรำลึกถึงคุณูปการของนักเขียนไทยที่สร้างสรรค์ผลงานมาหล่อเลี้ยงวงการหนังสือไทย สร้างโลกแห่งการอ่านให้กับหนอนหนังสือชาวไทยได้เติบโตทางความคิด จิตใจ และจินตนาการ

“วันนักเขียนไทย” เริ่มมาจากเหตุการณ์ในปี 2511 “เลียว ศรีเสวก” นักประพันธ์ เจ้าของนามปากกา “อรวรรณ” ได้ล้มป่วยลง เหล่าบรรดานักเขียนนำโดย “สุวัฒน์ วรดิลก” จึงมีแนวคิดที่จะจัดงานรวมน้ำใจ เพื่อหาเงินช่วยเหลือ “อรวรรณ” ซึ่งงานจัดขึ้นในวันที่ 5 พฤษภาคม 2511 หลังจากนั้น เหล่าบรรดานักเขียนจึงรวมตัวกัน เพื่อก่อตั้ง “ชมรมนักเขียน” ซึ่งต่อมาคือ “สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย” นั่นเอง

กิจกรรมใน “วันนักเขียนไทย” จะมีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่นักเขียนผู้ล่วงลับ สมาชิกพบปะพูดคุย อภิปรายกันในหัวข้อต่าง ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับวงการวรรณกรรมไทย รวมถึงทิศทางในอนาคตด้วย

5 พฤษภาคม 2509 : “จิตร ภูมิศักดิ์” นักคิดทางการเมือง เสียชีวิต

“จิตร ภูมิศักดิ์” นักเขียนและนักคิดทางการเมือง ผู้ถูกยกย่องให้เป็นแรงบันดาลใจในการต่อสู้ทางการเมือง เกิดเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2473 ที่อำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี เขาตั้งใจอยากจะเป็นนักปราชญ์ราชบัณฑิตตั้งแต่ยังเล็ก เมื่อเติบโตจึงสั่งสมความรู้ กลายเป็นผู้มีความสามารถที่หลากหลายและลึกล้ำ ไม่ว่าจะเป็นด้านวรรณคดี บทกวี ศิลปะ งานวิจารณ์ ประวัติศาสตร์ ภาษาศาสตร์ ด้วยแนวคิดแบบหัวก้าวหน้า

เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2496 ขณะที่เขาเป็นนิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขาถูกเพื่อนนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จับ “โยนบก” ลงจากเวทีสูง 5 ฟุต ของหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อหน้านิสิตกว่า 3,000 คน โดยผู้กระทำระบุว่า เป็นการลงโทษตามธรรมเนียม จากกรณีทำหน้าที่สาราณียากรหนังสือ “มหาวิทยาลัย” ฉบับวันที่ 23 ตุลาคม 2496 ซึ่งต่อมาถูกตำรวจสันติบาลอายัด และทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาโทษ โดยให้เขาพักการเรียน 1 ปี ในปี 2497

ต่อมาในยุครัฐประหาร 16 กันยายน 2500 โดย “จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์” เขาถูกจับและจำคุกอยู่นานถึง 6 ปี (ปี 2501 - 2507) ในข้อหา “กระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์ และสมคบกระทำความผิดต่อความมั่นคง” ในที่สุด ศาลกลาโหมก็ยกฟ้อง ภายหลังการเสียชีวิตของ “จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์” ซึ่งระหว่างที่ถูกคุมขังในคุกลาดยาว เขาได้เขียนเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” ในเวลาต่อมา ศิลปินอย่าง “เพ็ญศรี พุ่มชูศรี” นักร้องประจำวงดนตรีกรมโฆษณาการ (สุนทราภรณ์) และวงดนตรี “คาราวาน” ได้นำมาขับร้องและเป็นที่รู้จักมาจนถึงปัจจุบัน

เขาเริ่มเข้าสู่เส้นทางนักปฏิวัติ โดยการเข้าร่วมการต่อสู้กับ “พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)” ในเดือนพฤศจิกายน 2508 ที่บ้านโนนสวรรค์ อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นพื้นที่เริ่มแรกของ “พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)” ต่อมาปฎิบัติการในพื้นที่เทือกเขาภูพาน ภายใต้นามแฝง “สหายปรีชา”

“จิตร ภูมิศักดิ์” เสียชีวิตด้วยวัยเพียง 36 ปี ขณะหลงทางเข้าไปยังหมู่บ้านหนองกุง อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ทางการควบคุมไว้แล้ว กระสุนปืนนัดแรกเข้าที่โคนขาขวาของเขา ก่อนจะถูกเจ้าหน้าที่ยิงซ้ำจนเสียชีวิต ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าว ได้มีการจัดตั้งอนุสาวรีย์ “จิตร ภูมิศักดิ์” และใช้เป็นสถานที่จัดงานวันจิตร ภูมิศักดิ์ ในวันที่ 5 พฤษภาคม ของทุกปี

ภายหลังเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ชื่อของ “จิตร ภูมิศักดิ์” กลับมาถูกพูดถึงอีกครั้ง ผ่านบทเพลงและบทกวีการเมือง รวมถึงหนังสือต้องห้ามอันโด่งดัง “โฉมหน้าศักดินาไทย (ปี 2500)” ซึ่งวิพากษ์ระบบจักรวรรดินิยมและศักดินา เขาได้รับการยกย่องในฐานะนักเขียน นักภาษาศาสตร์ ปัญญาชน ศิลปินนักรบของประชาชน และกลายเป็นวีรบุรุษที่คนหนุ่มสาวในยุคต่อมาได้ยึดถือเป็นแรงบันดาลใจในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

6 พฤษภาคม 2399 : วันเกิด “ซิกมุนด์ ฟรอยด์” บิดาแห่งทฤษฎีจิตวิเคราะห์

“ซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Schlomo Freud)” แพทย์และนักจิตวิทยาชาวออสเตรีย บิดาแห่งทฤษฎีจิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis) เกิดเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2399 เมือง Příbor สาธารณรัฐเช็ก (เดิมอยู่ภายใต้จักรวรรดิออสเตรีย)

เขาสนใจด้านวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่เด็ก ในปี 2416 - 2424 จึงเข้ารับการศึกษาที่มหาวิทยาลัยแห่งกรุงเวียนนา (University of Vienna) สาขาวิทยาศาสตร์ แล้วเข้าศึกษาต่อในสาขาแพทยศาสตร์ ด้านโรคทางสมองและประสาท ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอัมพาต ซึ่งที่นี่เองที่ทำให้เขาได้ค้นพบว่า ความจริงแล้วคนไข้บางรายป่วยเป็นอัมพาต เนื่องจากภาวะทางจิตใจ ไม่ใช่เพราะร่างกาย

จากการที่เขาได้พบคนไข้อัมพาต เนื่องจากปัญหาทางจิตใจเป็นจำนวนหลายราย เขาจึงใช้วิธีการรักษาแบบจิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis) คือให้ผู้ป่วยเล่าถึงความคับข้องใจหรือความหวาดกลัว และพยายามให้ผู้ป่วยเข้าใจเหตุการณ์นั้น เพื่อลดความขัดแย้งในใจ ทำให้มีผู้ป่วยหลายรายหายจากการอัมพาต เมื่อรักษาด้วยวิธีนี้ ภายหลังผลงานของเขาเป็นที่ยอมรับในปี 2473

เขาเป็นทั้งแพทย์และนักจิตวิทยา ผู้บุกเบิกการศึกษาทางด้านจิตวิทยา เป็นบุคคลที่มีอิทธิพลทางความคิดมากที่สุดคนหนึ่งในศตวรรษที่ 20 โดยทฤษฎีต่าง ๆ ที่เขาค้นพบ ยังคงถูกนำมาใช้รักษาโรคทางจิตในปัจจุบันด้วย เช่น ทฤษฎีบุคลิกภาพแบบจิตวิเคราะห์ ซึ่งกล่าวว่า พลังจิตใต้สำนึกมีผลต่อพฤติกรรมของแต่ละบุคคล และจำแนกบุคคลให้แตกต่างกัน

ทฤษฎีที่มีชื่อเสียงของเขา มี 2 ทฤษฎี

  • ระดับจิต 3 ระดับ คือ “จิตสำนึก หรือ จิตรู้สำนึก (Conscious Mind)” หมายถึง ภาวะจิตที่รู้ตัวอยู่ ได้แก่ การแสดพฤติกรรม เพื่อให้สอดคล้องกับหลักแห่งความเป็นจริง | “จิตกึ่งสำนึก (Subconscious Mind)” หมายถึง ภาวะจิตที่ระลึกถึงได้ เป็นส่วนของจิตใจที่มิได้แสดงออกเป็นพฤติกรรม | “จิตไร้สำนึก หรือ จิตใต้สำนึก (Unconscious Mind)” หมายถึง ภาวะจิตที่ไม่อยู่ในภาวะที่รู้ตัว ระลึกถึงไม่ได้
  • โครงสร้างทางจิต 3 ส่วน คือ “อิด (Id)” คือ จิตไร้สำนึก หรือความต้องการพื้นฐานของมนุษย์เป็นสิ่งที่ยังไม่ได้ขัดเกลา | “อีโก้ (Ego)” คือ จิตสำนึกหรือเหตุผล เป็นส่วนที่ควบคุมพฤติกรรมที่เกิดจากความต้องการของจิตไร้สำนึก | “ซูเปอร์อีโก้ (Super Ego)” คือ ส่วนที่เป็นมโนธรรมสำนึก จากการที่จิตได้รับการขัดเกลาและพัฒนา

“ซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Schlomo Freud)” เสียชีวิตเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2482 ย่านแฮมป์สเตด (Hampstead) ลอนดอน สหราชอาณาจักร ขณะอายุได้ 83 ปี

8 พฤษภาคม : วันกาชาดสากล (World Red Cross and Red Crescent Day)

“คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (International Committee of the Red Cross : ICRC)” และ “สหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ (International Federation of Red Cross and Red Crescent Societies : IFRC)” ได้ร่วมกันกำหนดให้วันที่ 8 พฤษภาคม ของทุกปีเป็น “วันกาชาดโลก (World Red Cross and Red Crescent Day)” ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของ “อังรี ดูนังต์ (Jean Henri Dunant)” ผู้ริเริ่มก่อตั้งกาชาดด้วย

“อังรี ดูนังต์ (Jean Henri Dunant)” ผู้ริเริ่มก่อตั้งกาชาด เกิดเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2371 เขาเป็นนายธนาคารชาวสวิสเซอร์แลนด์ ที่รู้สึกสลดใจเมื่อพบเหตุการณ์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2402 ในการต่อสู้ระหว่างกองกำลังทหารฝรั่งเศสร่วมกับอิตาลี และกองกำลังทหารของออสเตรีย บริเวณใกล้กับหมู่บ้านซอลเฟริโน ทางตอนเหนือของอิตาลี ทำให้มีทหารบาดเจ็บและล้มตายเป็นจำนวนมาก เนื่องจากขาดคนช่วยเหลือพยาบาล เขาจึงได้รวบรวมบรรดาหมอชาวออสเตรียและกลุ่มนักเรียนแพทย์อิตาเลียน มาช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ให้แก่ทหารที่ได้รับบาดเจ็บ โดยไม่เลือกฝ่ายมิตรหรือศัตรู ซึ่งต่อมาถือเป็นจุดเริ่มต้นของ “คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (International Committee of the Red Cross : ICRC)”

สำหรับที่มาของสัญลักษณ์กาชาด (เครื่องหมายกากบาทสีแดงบนพื้นสีขาว) เนื่องจากกิจการกาชาดได้เริ่มต้นขึ้นที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จึงมีการให้เกียรติโดยใช้สัญลักษณ์ที่มีลักษณะกลับกันกับธงชาติของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ รวมถึงเพื่อป้องกันการเข้าใจผิดว่าเครื่องหมายกากบาทมีความสำคัญทางศาสนาคริสต์ ซึ่งอาจทำให้เกิดความสับสนได้

โดยยังมีการกำหนดเครื่องหมายเสี้ยววงเดือนแดง สำหรับใช้ในประเทศมุสลิม เพื่อแสดงความเคารพและให้เกียรติต่อศาสนาด้วย เรียกว่า “สภาเสี้ยววงเดือนแดง” มีหลักการและหน้าที่ที่ไม่แตกต่างกันจากสภากาชาด โดยยึดหลักการกาชาด 7 ประการ คือ มนุษยธรรม ความไม่ลำเอียง ความเป็นกลาง ความอิสระ บริการอาสาสมัคร ความเป็นเอกภาพ และความเป็นสากล

ในส่วนของ “สภากาชาดไทย” เป็นสมาชิกของ “สหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ (International Federation of Red Cross and Red Crescent Societies : IFRC)” ลำดับที่ 31

9 พฤษภาคม : วันแห่งไอศกรีม (ญี่ปุ่น) (アイスクリームの日 - Ice Cream No Hi)

ร้อน ๆ ต้องสู้ด้วยเย็น ๆ !!! แล้วจะมีอะไรคลายร้อนไปได้มากกว่า “ไอศกรีม” กันล่ะ ?

ในปี 2508 ชาวญี่ปุ่นหัวใสในนาม “สมาคมไอศกรีมโตเกียว” (ปัจจุบันคือสมาคมไอศกรีมญี่ปุ่น) จึงร่วมกันก่อตั้ง “วันแห่งไอศกรีม (アイスクリームの日 - Ice Cream No Hi)” ขึ้นมาดับความร้อนกันซะเลย โดยในวันนี้ชาวญี่ปุ่นจะเฉลิมฉลองกับ “ไอศกรีม” รสชาติสุดโปรด เพื่อระลึกถึงการมาของ “ไอศกรีม” ตัวต้นเรื่องเมื่อปี 2412 “アイスクリン (Aisukurin - ไอสุคุริน)” แบรนด์ไอศกรีมยี่ห้อแรกของญี่ปุ่น ที่ออกวางจำหน่ายในย่านโยโกฮามา จนเป็นที่นิยมและเริ่มแพร่หลายไปทั่วญี่ปุ่นในเวลาต่อมา

“アイスクリン (Aisukurin - ไอสุคุริน)” เป็นไอศกรีมแบบเกล็ดน้ำแข็ง ที่มีเนื้อสัมผัสเนียนนุ่ม ให้รสสัมผัสที่ลงตัว ระหว่างไอศกรีมเกล็ดน้ำแข็งผสานกับซอร์เบต์ (Sorbet) ส่วนรสชาติก็มีความเข้มข้น อร่อยละมุนไม่เหมือนใคร จากส่วนผสมของไข่ น้ำตาล และนมผงพร่องมันเนย

9 พฤษภาคม 2446 : “พอล โกแกง” จิตรกรชาวฝรั่งเศส เสียชีวิต

“พอล โกแกง (Paul Gauguin)” จิตรกรชาวฝรั่งเศส เกิดเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2391 กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เขาเป็นจิตรกรแนวโพสต์-อิมเพรสชันนิสม์ (Post-Impressionism) ซึ่งถือเป็นกระแสศิลปะที่เกิดขึ้นในประเทศฝรั่งเศส โดยในยุคนั้นมีศิลปินที่ทำงานแนวนี้ทั้งหมด 4 คน คือ “พอล เซซาน (Paul Cezanne)” “พอล โกแกง (Paul Gauguin)” “วินเซนต์ แวนโก๊ะ (Vincent van Gogh)” และ “จอร์จ เซอราต์ (Georges Seurat)”

หลังจากที่ได้รู้จักกับ “คามิลล์ ปิสซาร์โร (Camille Pissarro)” และได้ชมนิทรรศการงานศิลปะแนวอิมเพรสชันนิสม์ (Impressionism) ในช่วงกลางทศวรรษ 1870 เขาตัดสินใจผันตัวจากโบรกเกอร์มาเป็นจิตรกร ละทิ้งความเจริญในเมืองใหญ่ มุ่งหน้าสู่เมืองปาเปเอเต (Papeete) ของเฟรนช์ โพลินีเซีย (French Polynesia) ในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ ดินแดนอาณานิคมของฝรั่งเศส โดยมีจุดหมายปลายทางคือ ตาฮิติ (Tahiti)

“พอล โกแกง (Paul Gauguin)” เสียชีวิตเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2446 เมือง Atuona ดินแดนอาณานิคมของฝรั่งเศส French Polynesia ในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ ขณะมีอายุได้ 55 ปี ต่อมาภายหลัง ผลงานของเขาซึ่งมีจุดเด่นที่รูปแบบภาษาและการจัดวางสี ได้ทำให้เขามีอิทธิพลอย่างมากต่อพัฒนาการของศิลปะสมัยใหม่ (Modern Art)

10 พฤษภาคม : วันพืชมงคล 2567

“พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ” เป็นพระราชพิธี 2 พิธีรวมกัน คือ “พระราชพิธีพืชมงคล” อันเป็นพิธีสงฆ์ ซึ่งจะประกอบพระราชพิธีวันแรกในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง กับ “พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ” อันเป็นพิธีพราหมณ์ ซึ่งจะประกอบพระราชพิธีในวันรุ่งขึ้น ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง

“พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ” เป็นพระราชพิธีที่มีมาแต่โบราณ ตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ซึ่งในสมัยกรุงสุโขทัยนั้น พระมหากษัตริย์ไม่ได้ลงมือไถนาเอง เป็นแต่เพียงเสด็จไปเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีเท่านั้น

ในสมัยกรุงศรีอยุธยา พระมหากษัตริย์ ไม่ได้เสด็จไปเป็นองค์ประธาน เหมือนกับในสมัยกรุงสุโขทัย และจะทรงจำศีลเงียบ 3 วัน แต่จะมอบอาญาสิทธิ์ให้ “เจ้าพระยาจันทกุมาร” เป็นผู้แทนพระองค์ โดยทรงทำเหมือนอย่างออกอำนาจจากกษัตริย์ ซึ่งวิธีนี้ได้ใช้ตลอดมาถึงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการประกอบพระราชพิธีนี้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 แต่ผู้ทำการแรกนา เปลี่ยนเป็น “เจ้าพระยาพลเทพ” คู่กันกับการยืนชิงช้า แต่พอถึงรัชกาลที่ 3 ให้ถือว่า ผู้ใดยืนชิงช้า ผู้นั้นเป็นผู้แรกนา ในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดมีพิธีสงฆ์เพิ่มขึ้นในพระราชพิธีต่าง ๆ ทุกพิธี ดังนั้น “พระราชพิธีพืชมงคล” จึงได้เริ่มมีขึ้นแต่นั้นมา โดยได้จัดรวมกับ “พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ” และมีชื่อเรียกรวมกันว่า “พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ”

11 พฤษภาคม : วันปรีดี พนมยงค์

“ปรีดี พนมยงค์” หรือ “หลวงประดิษฐ์มนูธรรม” นักกฎหมาย อาจารย์ นักกิจกรรม นักการเมือง นักการทูต และอดีตนายกรัฐมนตรีของไทย เกิดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2443 ณ บ้านหน้าวัดพนมยงค์ ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ในปี 2460 เข้าศึกษาที่โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม และศึกษาภาษาฝรั่งเศสที่เนติบัณฑิตยสภา โดยอาจารย์เลเดแกร์ (E.LADEKER) ที่ปรึกษาศาลต่างประเทศเป็นผู้สอน ต่อมาในปี 2462 สอบไล่วิชากฎหมายชั้นเนติบัณฑิตได้ ในปี 2463 ได้เป็นสมาชิกสามัญแห่งเนติบัณฑิตยสภา และในเดือนสิงหาคม 2463 ก็ได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงยุติธรรมให้ทุนไปศึกษาวิชากฎหมาย ณ ประเทศฝรั่งเศส

ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2470 “ปรีดี พนมยงค์” ได้ร่วมกับเพื่อนอีก 6 คน รวมเป็น 7 คน จัดประชุมเป็นครั้งแรก เพื่อก่อตั้ง “คณะราษฎร” ที่กรุงปารีส ประกอบด้วย “ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี” นายทหารกองหนุน “ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ” (ต่อมาคือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม)” นักศึกษาโรงเรียนนายทหารปืนใหญ่ฝรั่งเศส “ร.ต.ทัศนัย มิตรภักดี” นักศึกษาโรงเรียนนายทหารม้าฝรั่งเศส “ตั้ว ลพานุกรม” ทหารอาสาไทย “หลวงสิริราชไมตรี (จรูญ สิงหเสนี)” อดีตนายสิบตรีกองทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ 1 ผู้ช่วยสถานทูตสยามประจำกรุงปารีส “แนบ พหลโยธิน” เนติบัณฑิตอังกฤษ หลานพระยาพหลพลหยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) และ “ปรีดี พนมยงค์”

จนเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 “คณะราษฎร” พร้อมสมาชิกทั้งทหารบก ทหารเรือ และพลเรือน โดยมี “พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน)” เป็นหัวหน้าคณะราษฎร ได้ทำการอภิวัฒน์สยาม เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ต่อมาคือ “วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง”

“ปรีดี พนมยงค์” ได้รับแต่งตั้งจากสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นอนุกรรมการคนหนึ่งในจำนวน 9 คน มีหน้าที่ร่างธรรมนูญปกครองแผ่นดินถาวร ซึ่งต่อมาคือ “รัฐธรรมนูญ” พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศเป็น “รัฐธรรมนูญ” ฉบับ 10 ธันวาคม 2475 และเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2476 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง “ปรีดี พนมยงค์” ให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

นอกจากนี้ “ปรีดี พนมยงค์” ยังเสนอรัฐบาลให้จัดตั้ง “มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง” พร้อมร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พ.ศ. 2476 เพื่อเสนอสภาผู้แทนราษฎร ต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2477 ซึ่งดำรงตำแหน่งนี้อยู่เป็นเวลากว่า 18 ปี

ในวันที่ 8 ธันวาคม 2484 “ปรีดี พนมยงค์” ได้เป็นส่วนหนึ่งของ “เสรีไทย (Free Thai Movement)” ขบวนการใต้ดินในสงครามมหาเอเชียบูรพา ส่วนหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่ 2 (ปี 2484 - 2488) เพื่อต่อต้านการรุกรานของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น เป็นแหล่งข่าวสำคัญของฝ่ายสัมพันธมิตร รวมถึงรักษาเอกราชและอธิปไตยของชาติไทย โดย “ปรีดี พนมยงค์” ใช้ชื่อรหัสว่า “รูท”

ต่อมาในวันที่ 8 ธันวาคม 2488 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ยกย่อง “ปรีดี พนมยงค์” ไว้ในฐานะรัฐบุรุษอาวุโส เนื่องจากทรงพระราชดำริเห็นว่า ได้เคยรับหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินในตำแหน่งสำคัญ ๆ มาแล้วหลายตำแหน่ง รวมถึงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จากนั้นในวันที่ 24 มีนาคม 2489 ได้มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้ “ปรีดี พนมยงค์” เป็นนายกรัฐมนตรี

“ปรีดี พนมยงค์” ต้องลี้ภัยทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่การรัฐประหาร เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2480 โดยเดินทางไปสิงคโปร์และจีน เมื่อถึงปี 2513 จึงเดินทางจากจีนไปอาศัยอยู่ในฝรั่งเศส และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2526 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ขณะอายุได้ 83 ปี

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2543 ครบรอบ 100 ปี ชาตกาล “ปรีดี พนมยงค์” องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ได้ประกาศให้ “ปรีดี พนมยงค์” เป็นบุคคลสำคัญของโลก

11 พฤษภาคม : วันเพลงลูกทุ่งไทย

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2507 เป็นวันที่รายการเพลงชื่อ “เพลงลูกทุ่ง” เริ่มออกอากาศครั้งแรกทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวี ช่อง 4 บางขุนพรหม “ครูนคร ถนอมทรัพย์ (ครูกุงกาดิน)” ได้เป็นผู้นำวงดนตรีชื่อ “จุฬารัตน์” นำโดย “ชาย เมืองสิงห์” มาร่วมแสดงในรายการ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้วงการลูกทุ่งเป็นที่รู้จักของคนเมืองและได้รับนิยมมากขึ้น

โดยคำว่า “เพลงลูกทุ่ง” มาจากการบัญญัติศัพท์ของ “อาจารย์จำนง รังสิกุล” ข้าราชการกรมโฆษณาการ (ต่อมาเปลี่ยนเป็นกรมประชาสัมพันธ์) นักสื่อสารมวลชนชาวไทย ผู้ร่วมก่อตั้งสถานีโทรทัศน์ไทยทีวี ช่อง 4 บางขุนพรหม สถานีโทรทัศน์แห่งแรกของประเทศไทย นอกจากนี้ท่านยังดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด รวมถึงเป็นผู้อำนวยการสถานีวิทยุกระจายเสียง ท.ท.ท. และสถานีโทรทัศน์ไทยทีวี ช่อง 4 บางขุนพรหม เป็นคนแรกอีกด้วย ซึ่งท่านเป็นผู้นำคำว่า “เพลงลูกทุ่ง” มาตั้งชื่อรายการ “เพลงลูกทุ่ง”

ในเดือนเมษายน 2567 “ครูนคร ถนอมทรัพย์ (ครูกุงกาดิน)” ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล-ประพันธ์และขับร้อง) ปี 2554 ร่วมกับ “ทศพล หิมพานต์” นายกสมาคมนักร้องลูกทุ่งแห่งประเทศไทย และ “เจนภพ จบกระบวนวรรณ” นักจัดรายการวิทยุเพลงลูกทุ่ง พร้อมด้วย 7 สมาคม ด้านเพลงลูกทุ่ง จึงได้รวมตัวกันเพื่อกำหนดให้วันที่ 11 พฤษภาคม ของทุกปีเป็น “วันเพลงลูกทุ่งไทย” เพื่อสืบสานประวัติศาสตร์เพลงลูกทุ่งให้อยู่คู่ประเทศไทยสืบไป

“วันเพลงลูกทุ่งไทย” จะมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ในช่วงเช้า จะมีพิธีไหว้บรมครูบูรพาจารย์วงการเพลงลูกทุ่ง และในช่วงบ่ายจะมีมหกรรมการแสดงจากนักร้องลูกทุ่งทั่วฟ้าเมืองไทย

11 พฤษภาคม 2345 : วันเกิด “แฝดสยาม อิน-จัน”

“แฝดสยาม (Siamese Twins)” หรือ “อิน-จัน (Eng-Chang Bunker)” เกิดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2345 ที่ตำบลแม่กลอง อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม พวกเขาคือฝาแฝดที่มีหน้าอกติดกันและใช้ตับร่วมกัน รวมทั้งเป็นฝาแฝดคู่แรกของโลกที่สามารถดำรงชีพเหมือนคนธรรมดาได้ตลอดชีวิต

ต่อมา “หลวงอาวุธวิเศษประเทศพานิช (Robert Hunter - โรเบิร์ต ฮันเตอร์)” พ่อค้าชาวอังกฤษเชื้อสายสก็อต ผู้เป็นเจ้าของ “ห้างหันแตร” และ “กัปตัน คอฟฟิน (Captain Coffin)” พ่อค้านักเดินเรือชาวอเมริกัน ได้พาพวกเขาไปแสดงตัวตามสถานที่ต่าง ๆ จนมีชื่อเสียงไปทั่วอเมริกาและยุโรป โดยระหว่างนี้พวกเขาก็ได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษไปด้วย

“อิน-จัน (Eng-Chang Bunker)” ได้เข้าพิธีแต่งงานกับสองพี่น้อง โดยอินแต่งงานกับ “ซาราห์ เยตส์ (Sarah Anne Yates)” มีบุตรรวม 11 คน ส่วนจันแต่งงานกับ “อะเดเลด เยตส์ (Adelaide Yates)” น้องสาวของซาราห์ มีบุตรรวม 10 คน โดยอาศัยอยู่ที่รัฐนอร์ทแคโรไลนา (North Carolina) สหรัฐอเมริกา ประกอบอาชีพเกษตรกรไร่ฝ้าย “อิน-จัน (Eng-Chang Bunker)” ได้สัญชาติอเมริกันเมื่อปี 2382 และใช้นามสกุลว่า “บังเกอร์ (Bunker)” มีลูกหลานสืบตระกูลมาจนถึงทุกวันนี้

เนื่องด้วยในยุคสมัยนั้น การเป็นแฝดตัวติดกันในลักษณะนี้ยังเป็นเรื่องใหม่ ชื่อเสียงของ “อิน-จัน (Eng-Chang Bunker)” จึงทำให้เกิดคำศัพท์ใหม่ว่า “แฝดสยาม (Siamese Twins)” โดยอ้างอิงตามสถานที่เกิดและเติบโตของพวกเขา

ช่วงบั้นปลายของชีวิต จันล้มป่วยในปี 2413 ด้วยอาการสโตรก (โรคหลอดเลือดสมอง) และเป็นอัมพาตซีกขวา สุขภาพจึงแย่ลงเรื่อย ๆ แต่อินผู้พี่ก็คอยดูแลน้องเสมอ “อิน-จัน (Eng-Chang Bunker)” เสียชีวิตเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2417 เมื่ออายุได้ 72 ปี โดยจันเสียชีวิตลงด้วยอาการหัวใจวาย และอีก 2 ชั่วโมงต่อมา อินผู้พี่ก็หมดลมหายใจไปตามกัน ซึ่งภายหลังการเสียชีวิต ได้มีการสร้าง “อนุสรณ์สถานแฝดสยามอิน-จัน” ที่ตำบลลาดใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม

ทั้งนี้คำว่า “ตับเดียวกัน” อาจมีความหมายที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาหลังจากเหตุการณ์นี้ กล่าวคือ จากเดิมที่หมายถึง “ตับจาก” ใบจากที่นำมาเรียงร้อยเข้าด้วยกัน ใช้เพื่อทำหลังคามุงจาก เมื่ออากาศร้อนมาก ๆ “ตับจาก” นี้จะส่งเสียงดัง และเรียกว่า “ร้อนตับแตก” ผู้คนก็อาจเข้าใจไปว่า หมายถึงแฝดสยามอิน-จัน ซึ่งใช้ตับร่วมกัน ก็เป็นได้

11 พฤษภาคม 2524 : “บ็อบ มาร์เลย์” ราชาเพลงเร็กเก้ เสียชีวิต

“โรเบิร์ต เนสตา มาร์เลย์ (Robert Nesta Marley)” หรือ “บ็อบ มาร์เลย์ (Bob Marley)” เจ้าของฉายา “ราชาเพลงเร็กเก้ (King Of Reggae)” เกิดเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2488 ในเขต Nine Mile ประเทศจาไมกา (Jamaica) พ่อของเขาเป็นคนผิวขาวเสียชีวิตตอนเขาอายุ 10 ขวบ เขาจึงอยู่กับแม่ซึ่งเป็นคนผิวสีมาตั้งแต่เด็ก ทำให้เขาได้รับความกดดันจากสังคมจากการเป็นลูกครึ่ง

ต่อมาในปี 2503 ดนตรีเร็กเก้ (Reggae) และทรงผมเดรดล็อค (Dreadlocks) เริ่มเป็นที่นิยมในหมู่คนผิวขาว เขาจึงทำให้ดนตรีเร็กเก้ (Reggae) แนวเพลงที่เกิดขึ้นในประเทศจาเมกา (Jamaica) ในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1960 ซึ่งพัฒนามาจากดนตรีพื้นเมือง เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ด้วยการผสมผสานกับประเด็นความขัดแย้งเรื่องสีผิวในยุคสมัยนั้น โดยเขาใช้บทเพลงเป็นเครื่องมือในการต่อสู้เรื่องสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียมกันทางสังคม การต่อต้านสงครามและการกดขี่ เนื้อเพลงของเขามักสะท้อนชีวิตและมุมมองทางสังคมการเมืองที่เฉียบแหลม ลึกซึ้ง

เขาได้รับรางวัล Peace Medal of the Third World จากองค์การสหประชาชาติ (UNITED NATIONS : UN) ในปี 2521 และถูกกล่าวขานว่าเป็นนักต่อสู้ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลคนหนึ่งของโลก

“โรเบิร์ต เนสตา มาร์เลย์ (Robert Nesta Marley)” หรือ “บ็อบ มาร์เลย์ (Bob Marley)” เสียชีวิตเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2524 ที่ไมอามี (Miami) รัฐฟลอริดา (Florida) สหรัฐอเมริกา

12 พฤษภาคม : วันพยาบาลสากล (International Nurses Day)

“สภาพยาบาลระหว่างประเทศ (International Council of Nurses : ICN)” ซึ่งเป็นองค์กรวิชาชีพพยาบาล ได้กำหนดให้วันที่ 12 พฤษภาคม ของทุกปีเป็น “วันพยาบาลสากล (International Nurses Day)” โดยเริ่มครั้งแรกเมื่อปี 2514

“วันพยาบาลสากล (International Nurses Day)” ถูกกำหนดขึ้นเพื่อสดุดีคุณงามความดีของ “ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล (Florence Nightingale)” ที่ทำประโยชน์มากมายให้แก่มวลมนุษย์ และเพื่อให้พยาบาลทั่วโลกได้ร่วมมือกัน จัดกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์แก่สาธารณชน และกำหนดแนวทางเพื่อให้พยาบาลทั่วโลกรณรงค์แก้ไขปัญหาสุขภาพในแต่ละปีด้วย

ทั้งนี้ “ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล (Florence Nightingale)” เกิดเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2363 ที่เมืองฟลอเรนซ์ (Florence) ประเทศอิตาลี (Italy) เธอคือผู้ก่อกำเนิดวิชาชีพการพยาบาล และเป็นผู้ที่มีอุดมการณ์ที่จะบำเพ็ญสาธารณประโยชน์เพื่อมวลมนุษย์อย่างแท้จริง จนได้รับการยกย่องและเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

ในช่วงสงครามไครเมีย (Crimean War : ตุลาคม 2396 - กุมภาพันธ์ 2399) เธอได้เป็นอาสาสมัครไปช่วยดูแลทหารที่ได้รับบาดเจ็บจากสงคราม เธอเสียสละทรัพย์สินและขอเรี่ยไรเพื่อจัดหาเครื่องเวชภัณฑ์ต่าง ๆ ทั้งยังได้ออกตระเวนตรวจเยี่ยมเพื่อรักษาและให้กำลังใจทหารแม้ในเวลาค่ำคืน จนได้รับสมญานามว่า “สุภาพสตรีแห่งดวงประทีป (The Lady Of The Lamp)”

ต่อมาเธอได้ริเริ่มพัฒนากิจการพยาบาลให้ก้าวหน้า จนในที่สุดได้มีผู้ร่วมกันก่อตั้งกองทุนการศึกษาสำหรับพยาบาล “ไนติงเกล (Nightingale)” เพื่อเป็นเกียรติแก่เธอ และได้รับการยกย่องให้เป็นผู้จัดระเบียบด้านสุขภาพในกองทัพอังกฤษ รวมถึงการวางแผนงานด้านสุขาภิบาลในประเทศอินเดีย จนก่อตั้งโรงเรียนพยาบาลที่เป็นต้นแบบของโรงเรียนพยาบาลทั่วโลกได้สำเร็จ นอกจากนี้ เธอยังได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ในฐานะผู้บุกเบิกวิชาชีพการพยาบาลอีกด้วย

“ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล (Florence Nightingale)” เสียชีวิตเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2453 ย่านเมย์แฟร์ (Mayfair) กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร

12 พฤษภาคม 2475 : วันก่อตั้ง “สวนโมกขพลาราม”

เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2475 “พระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินฺทปญฺโญ)” หรือ “พุทธทาสภิกขุ” และ “ธรรมทาส พานิช” ผู้เป็นน้องชาย ได้เริ่มก่อตั้งสำนักปฏิบัติธรรมที่วัดร้างตระพังจิก ตำบล พุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมโดย “พุทธทาสภิกขุ” ท่านให้ชื่อว่า “สวนโมกขพลาราม” เพราะบริเวณที่ตั้งมีต้นโมกและต้นพลาขึ้นอยู่มาก มีความหมายว่า “สวนป่าอันเป็นกำลังแห่งความหลุดพ้นจากทุกข์” ต่อมาในปี 2486 “สวนโมกขพลาราม” ได้ย้ายมาอยู่ที่ “วัดธารน้ำไหล” บริเวณเขาพุทธทอง ริมทางหลวงหมายเลข 41 อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี

“พุทธทาสภิกขุ” ท่านมีความปรารถนาให้ “สวนโมกขพลาราม” หรือ “สวนโมกข์” เป็นสถานที่แสวงหาความสงบและศึกษาธรรม โดยภายในมี “โรงมหรสพทางวิญญาณ” ซึ่งเป็นอาคารที่รวบรวมภาพศิลปะ คำสอนในศาสนานิกายต่าง ๆ ภาพพุทธประวัติ รอบบริเวณวัดเป็นสวนป่าร่มรื่นเต็มไปด้วยปริศนาธรรม ปราศจากโบสถ์และศาลาอย่างวัดทั่วไป เหมาะสำหรับเป็นที่ฝึกอบรมจิตใจและศึกษาพุทธศาสนา ทั้งยังมีการฝึกสอนสมาธิสำหรับคนไทยและชาวต่างชาติด้วย

หลังจากที่ “พระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินฺทปญฺโญ)” หรือ “พุทธทาสภิกขุ” มรณภาพในปี 2536 ยังคงมีพระภิกษุ พุทธศาสนิกชนและประชาชน เข้ามาเยี่ยมชม ตักบาตร ฟังธรรม และปฏิบัติธรรมที่ “สวนโมกขพลาราม” หรือ “สวนโมกข์” อยู่เสมอ

14 พฤษภาคม : วันอนุรักษ์ควายไทย

คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้วันที่ 14 พฤษภาคม ของทุกปีเป็น “วันอนุรักษ์ควายไทย” เนื่องจากปัจจุบันจำนวนควายไทยและผู้เลี้ยงควายไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง “ควาย” ยังเป็นสัตว์ที่ไม่ได้รับความเอาใจใส่จากทางภาครัฐในการส่งเสริมและสนับสนุนในการสร้างเสริมอาชีพ จึงเป็นจุดประสงค์ให้กำหนดวันนี้ขึ้น เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญ รวมถึงการอนุรักษ์ “ควายไทย” ก่อนที่จะสูญพันธุ์

เหตุที่เลือกกำหนดให้เป็นวันที่ 14 พฤษภาคม เนื่องจากเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ได้มีพระราชกระแสรับสั่งถึงหลักการการดำเนินโครงการธนาคารโค-กระบือ เป็นครั้งแรก ซึ่งถือเป็นแนวทางในการอนุรักษ์ควายไทยสืบมา

14 พฤษภาคม 2516 : องค์การนาซาส่ง “สถานีอวกาศสกายแล็บ” ขึ้นสู่ชั้นอวกาศ

เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2516 “องค์การนาซา (NASA)” ได้ทำการส่ง “สถานีอวกาศสกายแล็บ (Skylab Space Station)” ขึ้นสู่ชั้นอวกาศ โดยจรวด “แซทเทิร์น 5 (Saturn V)” ซึ่ง “สถานีอวกาศสกายแล็บ (Skylab Space Station)” นับเป็นสถานีอวกาศขนาดใหญ่แห่งแรกของสหรัฐอเมริกา ที่มนุษย์อวกาศสามารถเดินทางไปปฏิบัติการได้

ทั้งนี้ ระหว่างการส่ง “สถานีอวกาศสกายแล็บ (Skylab Space Station)” ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ได้เกิดแรงสั่นสะเทือนจนทำให้ชิ้นส่วนหลายชิ้นหลุดออกจากตัวยาน อีก 11 วันต่อมา นักบินอวกาศชุดแรกก็ได้เดินทางมาถึง และซ่อมแซมส่วนต่าง ๆ จนสำเร็จ โดยใช้เวลาทั้งหมด 28 วัน

“สถานีอวกาศสกายแล็บ (Skylab Space Station)” มีจุดประสงค์หลักเพื่อทดลองการใช้ชีวิตในระยะยาวของมนุษย์ ท่ามกลางสภาวะไร้แรงดึงดูดในอวกาศ และใช้เป็นสถานีศึกษาด้านอวกาศและดาราศาสตร์ โดย “สถานีอวกาศสกายแล็บ (Skylab Space Station)” มีน้ำหนัก 75 ตัน ภายในมีห้องทดลองสภาวะไร้แรงดึงดูด (Weightlessness) และกล้องโทรทรรศน์สำรวจอวกาศ

เคยมีมนุษย์อวกาศขึ้นมาปฏิบัติการ 3 ครั้ง อยู่ในชั้นบรรยากาศทั้งหมด 2,249 วัน โคจรรอบโลกทั้งหมด 34,981 รอบ หมดอายุในปี 2522 โดยตกลงสู่พื้นโลกบริเวณมหาสมุทรอินเดียและแถบตะวันตกของประเทศออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2522

15 พฤษภาคม : วันครอบครัวสากล (International Day of Families)

“องค์การสหประชาชาติ (UNITED NATIONS : UN)” ได้ประกาศให้วันที่ 15 พฤษภาคม ของทุกปีเป็น “วันครอบครัวสากล (International Day of Families)” เพื่อให้ผู้คนเห็นความสำคัญของครอบครัว เพราะสังคมที่ดีควรเริ่มต้นมาจากครอบครัวที่อบอุ่น โดยกำหนดให้แต่ละประเทศจัดกิจกรรมในแต่ละปี เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของครอบครัวให้มากขึ้น

17 พฤษภาคม : วันความดันโลหิตสูงโลก (World Hypertension day)

“สมาพันธ์ความดันโลหิตสูงโลก (World Hypertension League)” ได้กำหนดให้วันที่ 17 พฤษภาคม ของทุกปีเป็น “วันความดันโลหิตสูงโลก (World Hypertension Day)” โดยรณรงค์ให้ผู้คนตื่นตัวและตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคอัมพฤกษ์-อัมพาต โดยเน้นให้ประชาชนรับรู้ค่าระดับความดันโลหิตและระดับความเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง

“โรคความดันโลหิตสูง” คือ ภาวะที่มีระดับความดันโลหิตสูงเรื้อรัง มีค่าตั้งแต่ 140/90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป ประชาชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ควรตรวจวัดความดันโลหิตปีละ 1 ครั้ง เพราะหากเป็นความดันโลหิตสูง จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพ ทำให้เส้นเลือดแดงแข็งขึ้น ลดความเร็วการไหลเวียนเลือดและออกซิเจนไปสู่หัวใจ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อ เป็นสาเหตุให้เกิดหัวใจล้มเหลว หลอดเลือดสมองแตกหรือตีบ โรคเบาหวาน และมีแนวโน้มเป็นโรคไตวายระยะสุดท้ายด้วย

นอกจากนี้ ยังเป็นปัจจัยหรือสาเหตุที่จะทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ ซึ่งผู้ที่มีภาวะหัวใจสั่นพลิ้วหรือหัวใจเต้นผิดปกติ จะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง สูงขึ้น 3 - 5 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่มีภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ

17 พฤษภาคม 2464 : วันเกิด “อิศรา อมันตกุล” นักเขียนและนักหนังสือพิมพ์คนสำคัญของไทย

“อิศรา อมันตกุล” นักเขียนและนักหนังสือพิมพ์คนสำคัญของไทย เกิดเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2464 ที่ย่านบางลำพู กรุงเทพมหานคร

เขาได้รับเลือกให้เป็นนายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยคนแรก (ปี 2499 - 2501) ระหว่างนั้น ในยุคที่เรียกกันว่า “แท่นพิมพ์ถูกล่ามโซ่” (เริ่มตั้งแต่ปี 2475) ภายหลังจากที่ “จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์” ทำการรัฐประหารในปี 2501 เขาถูกจับกุมพร้อมกับนักหนังสือพิมพ์อีกหลายคน ด้วยข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ และถูกปล่อยตัวในเดือนกันยายน 2507 จากนั้นจึงกลับมาทำงานหนังสือพิมพ์อีกครั้ง และได้รับการยกย่องว่าเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่เป็นนักต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคม

“อิศรา อมันตกุล” เสียชีวิตเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2512 ด้วยโรคมะเร็งที่ลิ้น ขณะมีอายุได้ 48 ปี ต่อมา สมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย และ สมาคมหนังข่าวแห่งประเทศไทย ได้ร่วมประชุมและมีมติให้จัดตั้ง “มูลนิธิ อิศรา อมันตกุล” เพื่อเป็นอนุสรณ์ ซึ่งจดทะเบียนก่อตั้งเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2514 โดยมีภารกิจสำคัญคือ จัดให้มีการประกาศรางวัลผลงานข่าวหนังสือพิมพ์ และภาพข่าวหนังสือพิมพ์ดีเด่น มีพิธีมอบรางวัลครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2516

17 พฤษภาคม 2535 : เกิดเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ (Black May)”

เหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ (Black May)” เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2535 มีจุดเริ่มต้นเมื่อ “คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.)” ได้ทำการรัฐประหารรัฐบาล “พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ” โดยมีหัวหน้าคณะคือ “พล.อ. สุนทร คงสมพงษ์” ผู้บัญชาการทหารสูงสุดในขณะนั้น และได้เลือก “อานันท์ ปันยารชุน” เป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมร่างรัฐธรรมนูญจนมีการเลือกตั้ง

ผลปรากฏว่า “ณรงค์ วงศ์วรรณ” หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรมที่ตั้งขึ้น และได้รับการสนับสนุนจากบุคคลในคณะ รสช. ได้คะแนนมากที่สุด แต่ไม่สามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ เนื่องจากถูกรัฐบาลสหรัฐอเมริกาขึ้นบัญชีดำจากความใกล้ชิดกับนักค้ายาเสพติด ทำให้ “พล.อ. สุจินดา คราประยูร” ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน ถือเป็นการตระบัดสัตย์ที่เคยกล่าวไว้ว่า จะไม่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จนได้รับฉายา “เสียสัตย์เพื่อชาติ” จากสื่อมวลชนในเวลาต่อมา

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ประชาชนไม่พอใจที่ “พล.อ. สุจินดา คราประยูร” ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งขัดกับหลักประชาธิปไตย จนนำไปสู่การรวมกลุ่มประท้วงของนักศึกษาและประชาชนประมาณ 500,000 คน บริเวณท้องสนามหลวง โดยการอดอาหาร การเดินขบวน และการชุมนุมในสถานที่ต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานคร ทำให้รัฐบาล “พล.อ. สุจินดา คราประยูร” ใช้คำสั่งสลายการชุมนุม จนเกิดการปะทะขึ้น โดยมีประชาชนเสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงรับสั่งให้ “พล.อ. สุจินดา คราประยูร” และ “พล.ต. จำลอง ศรีเมือง” แกนนำของผู้ชุมนุมในขณะนั้น เข้าเฝ้า โดยได้พระราชทานพระราชดำรัสแก่คณะผู้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ซึ่งได้มีการเผยแพร่ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทรท.) หลังจากนั้น 4 วัน “พล.อ. สุจินดา คราประยูร” ได้ประกาศลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี และ “นายอานันท์ ปันยารชุน” ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ก่อนการเลือกตั้งในเวลาต่อมา

ภายหลัง มีการเรียกเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ (Black May)” ในอีกชื่อหนึ่งว่า “ม็อบมือถือ” เนื่องจากเป็นยุคที่โทรศัพท์มือถือเพิ่งเข้ามาแพร่หลายในประเทศไทย ผู้ชุมนุมซึ่งเป็นชนชั้นกลางในประเทศและเป็นกลุ่มหลักในการชุมนุมครั้งนี้ ได้ใช้โทรศัพท์มือถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการติดต่อสื่อสารกัน

19 พฤษภาคม : วันอาภากร

“พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์” หรือที่ผู้คนทั่วไปรู้จักท่านในนาม “เสด็จเตี่ย” ต้นราชสกุล “อาภากร” ประสูติเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2423 ในพระบรมมหาราชวัง ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 28 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 กับ “เจ้าจอมมารดาโหมด” ธิดาของเจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค)

เมื่อมีพระชันษา 13 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้พระองค์เสด็จไปทรงศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ และเมื่อทรงสำเร็จการศึกษาด้านการทหารเรือแล้ว ทรงเข้ารับราชการสนองพระเดชพระคุณ โดยทรงเริ่มวางรากฐานการบริหารงานของกองทัพเรือ ก่อตั้งโรงเรียนนายเรือและฐานทัพเรือที่สัตหีบ จังหวัดชลบุรี ทรงเป็นครูสอนนักเรียนนายเรือ และริเริ่มการใช้ระบบการปกครองบังคับบัญชาตามระเบียบการปกครองในเรือรบ

จากพระกรณียกิจของพระองค์ที่ทรงวางรากฐานและพัฒนาปรับปรุงทหารเรือสยาม ให้เจริญก้าวหน้าตามแบบประเทศตะวันตก กองทัพเรือจึงได้ถวายพระสมัญญาพระองค์เป็น “พระบิดาของกองทัพเรือไทย” และต่อมาในปี 2544 ได้มีการแก้ไขเป็น “องค์บิดาของทหารเรือไทย”

นอกจากนี้ ระหว่างปี 2454 - 2459 หลังจากที่ทรงออกจากประจำการชั่วคราว พระองค์ได้ทรงทุ่มเทเวลาในการศึกษาตำรายาด้านการแพทย์แผนโบราณ เพื่อรักษาผู้ป่วยที่เป็นประชาชนทั่วไป โดยไม่เปิดเผยพระองค์ คนทั่วไปจะรู้จักท่านในนาม “หมอพร” ทั้งนี้ยังทรงเขียนตำรายาแผนโบราณ “พระคัมภีร์อติสาระวรรคโบราณะกรรมและปัจจุบันนะกรรม” ลงในสมุดข่อยด้วยฝีพระหัตถ์ของพระองค์เอง ปัจจุบันได้ถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ทหารเรือ จังหวัดสมุทรปราการ

“พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์” สิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคหวัดใหญ่ ที่ตำบลหาดทรายรี อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2466 สิริพระชนมายุได้ 43 พรรษา ต่อมาจึงถือเอาวันที่ 19 พฤษภาคม ของทุกปีเป็น “วันอาภากร” เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์

19 พฤษภาคม 2433 : วันเกิด “โฮจิมินห์” วีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของเวียดนาม

“เหวียนซิงกุง (เหวียนทัตทันห์)” หรือที่ผู้คนทั่วไปรู้จักในนาม “โฮจิมินห์ (Ho Chi Minh)” ชื่อที่ใช้ในการเคลื่อนไหวกอบกู้อิสรภาพ ช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งหมายถึง “แสงสว่างแห่งปัญญา” เกิดเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2433 ที่จังหวัดเหงะอาน ประเทศเวียดนาม เขาคือวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของเวียดนามในศตรรษที่ 20 ซึ่งชาวเวียดนามเรียกขานกันอย่างสนิทสนมว่า “ลุงโฮ”

ในปี 2488 “จักรพรรดิบ๋าว ดั่ย” จักรพรรดิองค์สุดท้ายของเวียดนามทรงสละราชสมบัติ “โฮจิมินห์ (Ho Chi Minh)” ได้ประกาศตั้ง “พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม” ต่อมาในปี 2497 เขาก็เป็นผู้นำเวียดนามในการประกาศเอกราชอย่างเป็นทางการ หลังการรบชนะฝรั่งเศสในยุทธการเดียนเบียนฟู โดย “โฮจิมินห์ (Ho Chi Minh)” ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนามคนแรก

“ลุงโฮ” เป็นผู้นำที่เข้มแข็ง มุ่งมั่น และเป็นนักอุดมคติที่ไม่เคยมักใหญ่ใฝ่สูง ใช้ชีวิตเรียบง่ายสมถะ สวมเสื้อผ้าง่าย ๆ อาศัยในบ้านไม้หลังเล็ก ใช้เวลาว่างวาดรูปและเขียนบทกวี อ่อนน้อมถ่อมตน แต่มั่นคงในอุดมการณ์ ชาวเวียดนามจึงรักและศรัทธา “ลุงโฮ” มาก และยกย่องท่านเป็นเสมือน “บิดาแห่งเวียดนาม”

“โฮจิมินห์ (Ho Chi Minh)” เสียชีวิตเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2512 ที่เมืองฮานอย ประเทศเวียดนาม ขณะอายุได้ 79 ปี ต่อมาได้มีการกำหนดให้วันที่ 2 กันยายน ของทุกปีเป็น “วันชาติเวียดนาม” รวมถึงเปลี่ยนชื่อเมืองจาก “ไซ่ง่อน (Saigon)” เป็น “โฮจิมินห์ ซิตี้ (Ho Chi Minh City)” เพื่อเป็นเกียรติแก่ท่านด้วย และในปี 2530 “องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO)” ได้ประกาศให้ “โฮจิมินห์ (Ho Chi Minh)” เป็นบุคคลสำคัญของโลก

20 พฤษภาคม : วันผึ้งโลก (World Bee Day)

“องค์การสหประชาชาติ (UNITED NATIONS : UN)” ได้กำหนดให้วันที่ 20 พฤษภาคม ของทุกปีเป็น “วันผึ้งโลก (World Bee Day)” เพื่อสร้างความตระหนักรู้และส่งเสริมความสำคัญของผึ้ง หรือนักผสมละอองเกสรดอกไม้และพันธุ์พืชอื่น ๆ ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ อีกทั้งยังเป็นการหาทางแก้ปัญหาประชากรผึ้งที่ลดลง จากภัยการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช และพื้นที่ป่าถูกทำลาย

นอกจากนี้ “วันผึ้งโลก (World Bee Day)” ยังกำหนดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ “อันทวน ยานชา (Anton Jansa)” ผู้บุกเบิกเทคนิคการเลี้ยงผึ้ง ที่เกิดในวันที่ 20 พฤษภาคม 2277 ที่หมู่บ้านเบรซนิตซา (Breznica) ประเทศสโลวีเนีย อีกด้วย

22 พฤษภาคม : วันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ (International Day for Biological Diversity : IDB)

“องค์การสหประชาชาติ (UNITED NATIONS : UN)” ได้กำหนดให้วันที่ 22 พฤษภาคม ของทุกปีเป็น “วันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ (International Day for Biological Diversity : IDB)” เพื่อรำลึกถึงวันที่อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ เริ่มมีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2535

รวมทั้งเพื่อรณรงค์ให้ประชาคมโลกเกิดความตระหนักถึงความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ และส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์ การใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน โดยสำนักเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ จะกำหนดหัวข้อการจัดกิจกรรมที่แตกต่างกันไปในแต่ละปี

22 พฤษภาคม 2356 : วันเกิด “ริชาร์ด วากเนอร์” คีตกวี และวาทยกรขาวเยอรมัน

“ริชาร์ด วากเนอร์ (Wilhelm Richard Wagner)” คีตกวี และวาทยกรชาวเยอรมัน เกิดเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2356 ที่เมืองไลพ์ซิก (Leipzig) ประเทศเยอรมนี เขาได้รับการยกย่องว่า เป็นผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในวงการอุปรากร เป็นผู้ปฏิวัติอุปรากร ด้วยดนตรีที่เข้มข้น เร้าอารมณ์ ยิ่งใหญ่อลังการ สร้างสรรค์ขึ้นมาจากการผสมผสาญเทพนิยายโบราณเข้ากับการละครและดนตรีได้อย่างกลมกลืนและมีชีวิต

“ริชาร์ด วากเนอร์ (Wilhelm Richard Wagner)” เสียชีวิตเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2426 ที่ Ca' Loredan Vendramin Calergi พระราชวังในศตวรรษที่ 15 เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี ขณะมีอายุได้ 70 ปี

22 พฤษภาคม 2557 : เกิดเหตุการณ์ “รัฐประหาร 2557”

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เวลา 16.30 น. “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)” นำโดย “พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา” หัวหน้าคณะรัฐประหาร ได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการของ “นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล” (รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) จนทำให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 สิ้นสุดลง และในวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 โดยมีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา

ต่อมาในวันที่ 21 สิงหาคม 2557 สภาฯ มีมติเลือก “พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นนายกรัฐมนตรี โดยหลายประเทศประณามการรัฐประหารครั้งนี้ ส่วนในประเทศไทย มีการตอบสนองทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อต้าน

เหตุการณ์ “รัฐประหาร 2557” นับเป็นรัฐประหารครั้งที่ 13 ในประวัติศาสตร์ไทย เกิดขึ้นหลังวิกฤตการณ์ทางการเมือง ซึ่งเริ่มขึ้นในเดือนตุลาคม 2556 เพื่อคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม จนเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 “พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ผู้บัญชาการทหารบก ได้ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่เวลา 03.00 น. กองทัพบกตั้ง “กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.)” และให้ยกเลิก “ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.)” ที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ตั้งขึ้น โดย “กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.)” ใช้วิธีการปิดควบคุมสื่อ ตรวจพิจารณาเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ต และจัดประชุมเพื่อหาทางออกวิกฤตการณ์การเมืองของประเทศ

หลังจากนั้น ในวันที่ 21 - 22 พฤษภาคม 2557 “พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ผอ.รส.) เรียกประชุมผู้แทนรัฐบาล วุฒิสภา คณะกรรมการการเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ที่สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพมหานคร เพื่อหาข้อสรุปในการก้าวผ่านวิกฤตการณ์ทางการเมือง แต่ไม่อาจหาข้อสรุปได้

“พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา” และผู้บัญชาการเหล่าทัพ จึงประกาศการทำรัฐประหารในที่ประชุม พร้อมควบคุมตัวผู้เข้าร่วมประชุม ยกเว้นตัวแทนวุฒิสภาและคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยนำตัวไปยังกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ซึ่งใช้เป็นกองบัญชาการของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

22 พฤษภาคม 2567 : วันวิสาขบูชา

คำว่า “วิสาขบูชา” ย่อมาจากคำว่า “วิสาขปุรณมีบูชา” แปลว่า “การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ” เป็นช่วงเวลาที่พระจันทร์เสวยวิสาขฤกษ์ ดังนั้น “วิสาขบูชา” จึงหมายถึง “การบูชาในวันเพ็ญเดือน 6”

เหตุการณ์สำคัญทางพระพุทธศาสนาที่เกี่ยวเนื่องกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นที่อัศจรรย์ เกิดขึ้นในวันและเดือนเดียวกันทางจันทรคติ คือวันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 มีดังนี้

  1. ประสูติ : พระนางสิริมหามายา ประสูติพระโอรส “เจ้าชายสิทธัตถะ” ใต้ต้นสาละ ณ ป่าลุมพินีวัน
  2. ตรัสรู้ : พระพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ คือ “อริยสัจ 4” ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ ใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ ณ ริ่มฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา
  3. ปรินิพพาน : พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน เมื่อมีพระชนมายุ 80 พรรษา ในป่าสาละ ณ เมืองกุสินารา

ใน “วันวิสาขบูชา” พุทธศาสนิกชนจะไปร่วมทำบุญและเวียนเทียนรอบพระอุโบสถหรือเจดีย์ต่าง ๆ เพื่อกระทำการบูชาปูชนียวัตถุ ด้วยเครื่องบูชา เช่น ดอกไม้ ธูป เทียน ตลอดจนปฏิบัติธรรมและฟังการแสดงพระธรรมเทศนา

22 พฤษภาคม 2567 : วันต้นไม้แห่งชาติ

“วันต้นไม้แห่งชาติ” ถูกกำหนดให้ตรงกับ “วันวิสาขบูชา” หรือวันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี โดยเป็นวันสำคัญของชาติที่ประชาชนทุกหมู่เหล่า จะได้ร่วมกันปลูกต้นไม้ไว้เป็นที่ระลึกและช่วยเพิ่มพูนทรัพยากรป่าไม้ อันเป็นการบำเพ็ญประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ อีกทางหนึ่งด้วย

23 พฤษภาคม : วันเต่าโลก (World Turtle Day)

องค์กรอนุรักษ์และช่วยเหลือเต่าบก-เต่าทะเล “American Tortoise Rescue” ในสหรัฐอเมริกา ได้กำหนดให้วันที่ 23 พฤษภาคม ของทุกปีเป็น “วันเต่าโลก (World Turtle Day)” เพื่อใช้โอกาสนี้ในการให้ความรู้กับผู้คนเกี่ยวกับเต่า รวมทั้งปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์เต่า เนื่องจากปริมาณประชากรเต่าโลกที่มีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ

24 พฤษภาคม 2086 : “นิโคลัส โคเปอร์นิคัส” นักดาราศาสตร์ชาวโปแลนด์ เสียชีวิต

“นิโคลัส โคเปอร์นิคัส (Nicolaus Copernicus)” นักคณิตศาสตร์และนักดาราศาสตร์สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา ชาวโปแลนด์ เกิดเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2016 เมืองทัวรูน ประเทศโปแลนด์ หลังจากเรียนจบปริญญาเอกทางด้านนิติศาสตร์ เขากลับไปเรียนแพทย์และศึกษาวิชาดาราศาสตร์เพิ่มเติม ทำให้เขาเป็นผู้มีความรู้ในหลากหลายสาขาวิชา

ในยุคนั้น มนุษย์ยังเชื่อว่าโลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาล แต่เขากลับเชื่อในทฤษฎีของ “อาคีสทาร์คัส (Akistarchus)” ซึ่งเชื่อว่าดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของจักรวาล เขาได้ทำการทดลองจนค้นพบว่า ดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของสุริยจักรวาล โดยมีโลกและดาวเคราะห์อื่น ๆ โคจรรอบ ๆ ทั้งนี้ โลกมีสัณฐานเป็นทรงกลมและหมุนรอบตัวเอง ใช้เวลา 24 ชั่วโมง และหมุนรอบดวงอาทิตย์ใช้เวลา 365 วัน

เขาไม่ได้เผยแพร่สรุปการทดลองนี้ออกไป เนื่องจากเกรงอิทธิพลของศาสนจักรในยุโรป โดยอีก 100 ปี ต่อมา “กาลิเลโอ กาลิเลอิ (Galileo Galilei)” และ “โยฮันเนส เคปเลอร์ (Johannes Kepler)” สามารถหาหลักฐานมาสนับสนุนทฤษฎีของเขาได้ ส่งผลให้เกิดการปฏิวัติทางดาราศาสตร์ครั้งใหญ่ จากที่เคยยึดถือมาตั้งแต่สมัย “ปโตเลมี (Ptolemy)” ในศตวรรษที่ 2 ว่าโลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาล นับได้ว่าผลงานและทฤษฎีต่าง ๆ ของโคเปอร์นิคัสได้ช่วยบุกเบิกแนวทางให้กับนักดาราศาสตร์รุ่นต่อมาอย่างมาก

“นิโคลัส โคเปอร์นิคัส (Nicolaus Copernicus)” เสียชีวิตเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2086 เมืองฟรอมบอร์ก (Frombork) ประเทศโปแลนด์ ขณะอายุได้ 70 ปี

24 พฤษภาคม 2531 : “ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก” คว้ามงกุฎนางงามจักรวาล เป็นคนที่ 2 ของไทย

“ปุ๋ย - ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก ไซมอน” เกิดเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2511 ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ประเทศไทย จบการศึกษาเป็นมหาบัณฑิต สาขาจิตวิทยา จากมหาวิทยาลัย Pepperdine สหรัฐอเมริกา

เมื่ออายุได้ 20 ปี เธอเข้าร่วมประกวดและได้รับตำแหน่ง “นางสาวไทย ปี 2531” จากนั้นก็เป็นตัวแทนสาวไทยเข้าร่วมประกวดและได้รับตำแหน่งชุดประจำชาติยอดเยี่ยม พร้อมตำแหน่ง “Miss Universe 1988 (นางงามจักรวาล ปี 2531)” ที่ไต้หวัน เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2531 ซึ่งถือเป็นนางงามจักรวาลคนที่ 2 ของประเทศไทย ต่อจาก “อาภัสรา หงสกุล” ที่เคยคว้าตำแหน่งนางงามจักรวาล ปี 2508

หลังการรับตำแหน่ง “ปุ๋ย - ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก ไซมอน” ก็เดินหน้าทำงานเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการก่อตั้งมูลนิธิ “Angels Wings” เพื่อช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส ทั้งทางด้านการศึกษา สาธารณสุข รวมถึงการสร้างโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล นอกจากนี้ เธอยังเป็นทูตสันถวไมตรีให้กับกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) อีกด้วย

“ปุ๋ย - ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก ไซมอน” สมรสกับ “เฮิร์บ ไซมอน” เมื่อปี 2545 มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ “ฌอน ไซมอน” และ “โซฟี ไซมอน”

25 พฤษภาคม 2394 : “พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว” เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ พระองค์ที่ 2 ในรัชกาลที่ 4

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2394 “พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว” เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ พระองค์ที่ 2 ในรัชกาลที่ 4 เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 กับ สมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ ทรงมีพระนามเดิมว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์” พระราชสมภพเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2351 ที่เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร

โดยหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2394 ขุนนางผู้ใหญ่ได้กราบทูลเชิญ “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎสมมติเทววงศ์ พงศ์อิศวรกษัตริย์ วรขัตติยราชกุมาร” ซึ่งขณะนั้นได้ผนวชอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร ให้เสวยราชสมบัติเป็น “พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4”

จากนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้ทรงมีพระราชดำริว่า “สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าจุฬามณี” ทรงมีพระปรีชาสามารถรอบรู้ในการพระนคร และการต่างประเทศ ตลอดจนขนบธรรมเนียมต่าง ๆ อีกทั้งพระบรมวงศานุวงศ์และเสนาบดีก็นิยมนับถือมาก จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีอุปราชาภิเษกขึ้นเป็น “พระมหาอุปราช พระราชวังบวรสถานมงคล” พร้อมทั้งพระราชทานพระนามอย่างพระเจ้าแผ่นดินว่า “พระบาทสมเด็จพระปวเรนทราเมศ มหิศเรศรังสรรค์ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว” มีพระเกียรติยศเป็นอย่างพระเจ้าแผ่นดิน

ทั้งนี้ ทรงกระทำเหมือนเมื่อครั้งที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงยกย่อง สมเด็จพระเอกาทศรถ พระราชอนุชามหาอุปราชครั้งกรุงเก่า โดยชาวต่างชาติรู้จัก “พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว” ในนาม “The Second King”

พระราชพิธีอุปราชาภิเษกให้มีพระมหากษัตริย์ 2 พระองค์นี้ เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในสมัยรัชกาลที่ 4 ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงยกเลิกตำแหน่ง “วังหน้า” และปฏิรูประบบการปกครองใหม่ ให้มี “มกุฎราชกุมาร” เป็นผู้สืบต่อราชสมบัติ

25 พฤษภาคม 2411 : “คลองดำเนินสะดวก” เปิดใช้งานเป็นวันแรก

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2411 “คลองดำเนินสะดวก” ได้เปิดใช้งานเป็นวันแรก หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้ทรงพระราชดำริ เมื่อปี 2409 เห็นว่าการคมนาคมระหว่างกรุงเทพมหานคร - สมุทรสาคร โดยมีคลองภาษีเจริญเป็นเส้นทางคมนาคมนั้น ช่วยให้การสัญจรสะดวกดี ถ้ามีคลองระหว่างกรุงเทพมหานคร - สมุทรสงครามและราชบุรี ก็จะสะดวกขึ้นอีกเป็นอันมาก

พระบาทมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ที่พระสมุหกลาโหม เป็นผู้อำนวยการขุดคลอง โดยเริ่มขุดในปี 2409 จากแม่น้ำท่าจีน บริเวณปากคลองบางยาง อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ไปเชื่อมต่อกับแม่น้ำแม่กลอง ที่ตำบลบางนกแขวก อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ใช้กำลังของทหาร ข้าราชการ ประชาชน ตลอดจนแรงงานชาวจีน ร่วมกันขุดโดยใช้แรงงานคน ไม่ใช้เครื่องจักรหรือเครื่องทุ่นแรง

ใช้เวลาในการขุดประมาณสองปีเศษจึงเสร็จ สิ้นงบประมาณในการขุด 1,400 ชั่ง หรือประมาณ 112,000 บาท โดยมีความยาว 840 เส้น หรือประมาณ 32 กิโลเมตร พระบาทมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงเห็นว่า คลองนี้ขุดได้ตรง สะดวกต่อการสัญจร จึงพระราชทานนามให้เป็นมงคลว่า “คลองดำเนินสะดวก” ปัจจุบันคลองแห่งนี้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดราชบุรีคือ “ตลาดน้ำดำเนินสะดวก” นั่นเอง

27 พฤษภาคม 2449 : วันเกิด “พุทธทาสภิกขุ”

“พระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินฺทปญฺโญ)” หรือ “พุทธทาสภิกขุ” เกิดเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2449 ที่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เดิมชื่อ “เงื่อม พานิช” ท่านเป็นพระผู้ผลิตสื่อธรรมะในยุคที่เทคโนโลยียังไม่พัฒนา

ท่านได้ร่วมกับ “ธรรมทาส พานิช” ผู้เป็นน้องชาย ก่อตั้งสำนักปฏิบัติธรรมที่วัดร้างตระพังจิก ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมโดย “พุทธทาสภิกขุ” ท่านให้ชื่อว่า “สวนโมกขพลาราม” เพราะบริเวณที่ตั้งมีต้นโมกและต้นพลาขึ้นอยู่มาก มีความหมายว่า “สวนป่าอันเป็นกำลังแห่งความหลุดพ้นจากทุกข์” ต่อมาในปี 2486 “สวนโมกขพลาราม” ได้ย้ายมาอยู่ที่ “วัดธารน้ำไหล” บริเวณเขาพุทธทอง ริมทางหลวงหมายเลข 41 อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ท่านมีความปรารถนาให้ “สวนโมกขพลาราม” หรือ “สวนโมกข์” เป็นสถานที่แสวงหาความสงบและศึกษาธรรม โดยภายในมี “โรงมหรสพทางวิญญาณ” ซึ่งเป็นอาคารที่รวบรวมภาพศิลปะ คำสอนในศาสนานิกายต่าง ๆ ภาพพุทธประวัติ รอบบริเวณวัดเป็นสวนป่าร่มรื่นเต็มไปด้วยปริศนาธรรม ปราศจากโบสถ์และศาลาอย่างวัดทั่วไป เหมาะสำหรับเป็นที่ฝึกอบรมจิตใจและศึกษาพุทธศาสนา ทั้งยังมีการฝึกสอนสมาธิสำหรับคนไทยและชาวต่างชาติด้วย

“พระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินฺทปญฺโญ)” หรือ “พุทธทาสภิกขุ” มรณภาพเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2536 ที่วัดสวนโมกขพลาราม อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ต่อมาในวันที่ 20 ตุลาคม 2548 “องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO)” มีมติประกาศยกย่องให้ “พุทธทาสภิกขุ” เป็นบุคคลสำคัญของโลก

30 พฤษภาคม 2567 : วันอัฏฐมีบูชา

“วันอัฏฐมีบูชา” ถือเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา กล่าวคือ เป็นวันที่มีการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ มกุฏพันธนเจดีแห่งกรุงกุสินารา หลังจากเสด็จดับขันธปรินิพพาน 8 วัน ในวันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 ปีนี้ตรงกับวันที่ 30 พฤษภาคม 2567

ตามธรรมเนียมปฏิบัติแล้ว จะไม่มีการเวียนเทียน แต่อาจจะมีการจัดกิจกรรมทางศาสนาอื่น ๆ เช่น การเข้าวัดสวดมนต์ การปฏิบัติธรรมระลึกถึงพระพุทธคุณ หรือการเจริญศีลภาวนา

31 พฤษภาคม : วันงดสูบบุหรี่โลก (World No Tobacco Day)

ในปี 2531 “องค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO)” ได้กำหนดให้วันที่ 31 พฤษภาคม ของทุกปีเป็น “วันงดสูบบุหรี่โลก (World No Tobacco Day)” เพื่อกระตุ้นให้ผู้คนและทุกประเทศตระหนักถึงอันตราย รวมถึงความสูญเสียทั้งทางสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม ที่เกิดจากการสูบบุหรี่

ทั้งนี้ โทษของการสูบบุหรี่ จะทำให้เพิ่มอัตราเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจสูงขึ้น 2 เท่า เสี่ยงการเกิดโรคถุงลมโป่งพองสูงขึ้น 6 เท่า รวมถึงเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอดสูงขึ้น 10 เท่า ซึ่งนอกจากจะส่งผลโดยตรงต่อผู้สบบุหรี่แล้ว การสูบบุหรี่ยังมีอันตรายต่อคนรอบข้างอย่างร้ายแรงอีกด้วย

31 พฤษภาคม : วันนกแก้วโลก (World Parrot Day)

วันที่ 31 พฤษภาคม ของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น “วันนกแก้วโลก (World Parrot Day)” เพื่อเน้นย้ำถึงภัยคุกคามต่อนกแก้วป่าและนกแก้วที่เลี้ยงไว้ทั่วโลก นอกจากนี้ยังเป็นวันที่ผู้คนจะได้เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับนกที่ฉลาดและสีสันสวยสดงดงามตัวนี้อีกด้วย

31 พฤษภาคม 2423 : สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ (พระนางเรือล่ม) เสด็จธิวงคต

“สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี” หรือที่รู้จักกันในนาม “พระนางเรือล่ม” เป็นพระราชธิดาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 กับ สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา (เจ้าจอมมารดาเปี่ยม) ทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2403 ได้รับพระราชทานนามจากสมเด็จพระราชบิดาว่า “พระองค์เจ้าหญิงสุนันทากุมารีรัตน์”

ต่อมาทรงเป็นอัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และได้ประสูติพระราชธิดาพระองค์แรกคือ “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์” เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2421

จนเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2423 มีการเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานจากกรุงเทพมหานคร ไปประทับ ณ พระราชวังบางปะอิน พระนครศรีอยุธยา “สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี” และ “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์” ได้เกิดอุบัติเหตุเรือพระที่นั่งล่ม บริเวณอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

ด้วยความเคร่งครัดในกฎมณเฑียรบาลที่มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ระบุว่า ห้ามผู้ใดแตะต้องพระวรกายของพระมเหสี มิฉะนั้นจะถูกประหารทั้งตระกูล กฎมณเฑียรบาลข้อนี้ทำให้เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการช่วยเหลือ จนทำให้ “สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี” สิ้นพระชนม์พร้อมกับพระราชธิดาในที่สุด

พิธีถวายพระเพลิงพระศพ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2424 ในงานมีการแจกหนังสือสวดมนต์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำริให้พิมพ์แจก เพื่อเป็นพระราชกุศล จำนวน 10,000 เล่ม นับเป็นหนังสืองานศพเล่มแรกของไทย ทั้งยังทรงสร้าง “อนุสาวรีย์พระนางเรือล่ม” ไว้ที่พระราชวังบางปะอิน พระนครศรีอยุธยา เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความรักและอาลัยอีกด้วย

🗝 เล่าอดีต บันทึกปัจจุบัน รอบรู้ทุกวัน กับ Thai PBS On This Day

แท็กที่เกี่ยวข้อง

Thai PBSไทยพีบีเอสThai PBS Digital MediaThai PBS On This Dayวันแรงงานแห่งชาติMay Dayดวงตราไปรษณีย์แสตมป์Stampวันทูน่าโลกWorld Tuna Dayเลโอนาร์โด ดา วินชีLeonardo da Vinciวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกWorld Press Freedom Dayวันสัตว์เลี้ยงพิเศษแห่งชาติNational Specially-Abled Pets Dayวันฉัตรมงคลวันสตาร์ วอร์สStar Wars Dayพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณวันนักเขียนไทยจิตร ภูมิศักดิ์สหายปรีชาแสงดาวแห่งศรัทธาซิกมุนด์ ฟรอยด์Sigmund Schlomo FreudวันกาชาดสากลWorld Red Cross and Red Crescent Dayสภากาชาดไทยวันแห่งไอศกรีมアイスクリームの日พอล โกแกงPaul Gauguinวันพืชมงคลพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญวันปรีดี พนมยงค์ปรีดี พนมยงค์คณะราษฎรเสรีไทยวันเพลงลูกทุ่งไทยเพลงลูกทุ่งแฝดสยามSiamese Twinsอิน-จันEng-Chang Bunkerบ็อบ มาร์เลย์Bob MarleyReggaeวันพยาบาลสากลInternational Nurses DayFlorence NightingaleThe Lady Of The Lampสวนโมกขพลารามสวนโมกข์วันอนุรักษ์ควายไทยควายไทยSkylab Space StationวันครอบครัวสากลInternational Day of FamiliesวันความดันโลหิตสูงโลกWorld Hypertension Dayโรคความดันโลหิตสูงอิศรา อมันตกุลพฤษภาทมิฬBlack Mayวันอาภากรพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์เสด็จเตี่ยโฮจิมินห์Ho Chi Minhวันผึ้งโลกWorld Bee Dayวันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพInternational Day for Biological DiversityWilhelm Richard Wagnerรัฐประหาร 2557วันวิสาขบูชาวันต้นไม้แห่งชาติวันเต่าโลกWorld Turtle Dayนิโคลัส โคเปอร์นิคัสNicolaus Copernicusภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนกMiss Universe 1988นางงามจักรวาล 2531พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวThe Second Kingคลองดำเนินสะดวกตลาดน้ำดำเนินสะดวกพุทธทาสภิกขุพระธรรมโกศาจารย์วันอัฏฐมีบูชาวันงดสูบบุหรี่โลกWorld No Tobacco Dayวันนกแก้วโลกWorld Parrot Dayสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวีพระนางเรือล่มวันสำคัญวันนี้ในอดีต
วิรินทร์ พรหมสาขา ณ สกลนคร | จูล~Joule
ผู้เขียน: วิรินทร์ พรหมสาขา ณ สกลนคร | จูล~Joule

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล ทาสแมวผู้เลี้ยงกระต่ายอย่างมืออาชีพ รักในศิลปะ การถ่ายภาพและดนตรีนอกกระแส ชื่นชอบการชมภาพยนตร์ในโรง รวมถึงการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ

บทความ NOW แนะนำ