เปิดที่มา “ฉัตร” วันฉัตรมงคล เริ่มต้นจาก “ใบบัว” ในพระนิพนธ์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ


วันสำคัญ

3 พ.ค. 66

ชาลี นวธราดล

Logo Thai PBS
เปิดที่มา “ฉัตร” วันฉัตรมงคล เริ่มต้นจาก “ใบบัว” ในพระนิพนธ์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

เนื่องในวันฉัตรมงคล วันที่ 4 พฤษภาคม 2566 ปีนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้งดการพระราชพิธีฉัตรมงคล พุทธศักราช 2566 เนื่องจากพระองค์และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี จะเสด็จพระราชดำเนิน ทรงร่วมพระราชพิธีราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร ในวันที่ 6 พฤษภาคม 2566

ไทยพีบีเอส ถือโอกาสรวบรวมสาระน่ารู้ย้อนอดีต “ฉัตร” ที่หลายคนอาจไม่รู้มาก่อน ว่าเริ่มจากใบบัว สู่ร่ม ก่อนมาเป็นฉัตร ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ประกอบเกียรติยศของบุคคลสำคัญตั้งแต่อดีต ตามพระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งมีบอกไว้ในหนังสือสารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย เล่ม 3 อักษร ฉ-ต ฉบับราชบัณฑิตยสภา

พระที่นั่งพุดตานถม ภายใต้นพปฎลเศวตรฉัตร ในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ภาพจากเฟซบุ๊ก หอสมุดพิกุลศิลปาคาร

ที่มาของฉัตร ในวันฉัตรมงคล

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์อธิบายไว้ความตอนหนึ่งว่า ใบบัวเป็นที่มาต้นเดิมของร่ม และร่มเป็นที่มาต้นเดิมของฉัตร

คนโบราณถือว่าหัวหรือศีรษะ เป็นของสำคัญ จึงรักษาหัวหรือศีรษะกันเป็นพิเศษ สมัยที่ยังไม่มีร่มใช้นั้น เขาจึงเอาใบบัวปิดคนที่มีฐานะเป็นหัวหน้า ไม่ถือใบบัวปิดหัวตัวเอง แต่ให้บ่าวไพร่ของตนถือบังหัวได้


ต่อมาเมื่อได้มีผู้ประดิษฐ์ร่มขึ้นใช้แทนใบบัว คนที่เป็นหัวหน้าจะไปไหนก็มีคนคอยกางร่มให้ นายทัพนายกองเมื่อไปสนามรบ ก็มีคนกั้นร่มให้ เพราะนอกจากจะเป็นการถนอมหัวแล้ว ยังเป็นประโยชน์ที่จะให้ไพร่พลได้รู้ว่า นายทัพนายกองของตนอยู่ที่ไหน จะได้รับคำสั่งถูกต้อง

เมื่อนายทัพนายกองต่างมีร่มเป็นสัญญาณของตนแล้ว เวลารบกันฝ่ายชนะจึงยึดร่มของฝ่ายแพ้ไว้เป็นพยานในชัยชนะของตน เมื่อยึดมาแล้วจะไปไหน ก็จัดให้มีคนถือร่มที่ยึดได้ตามไปด้วยในขบวน เป็นการประกาศชัยชนะของตน

ต่อมาการถือร่มเข้าขบวนก็กลายเป็นเกียรติของผู้เป็นประธานในขบวน เช่น ขบวนแห่ของจีนและญวณ ซึ่งมีคนถือวัตถุเป็นกระบอกไปรอบ ๆ ตัวผู้เป็นประธานจนเป็นแพเต็มไปหมด

ฉัตร มาจากร่มซ้อนร่ม

พระนิพนธ์ ยังบอกอีกว่า แต่ไทยเราเห็นว่าขบวนแห่ทำนองนั้น ไม่เป็นระเบียบและไม่สวยงามด้วย ซ้ำยังปิดบังตัวผู้เป็นประธานอีกด้วย จึงคิดจับร่มซ้อนกันเป็นแถว ๆ เรียกว่า “ฉัตร”

และถือเป็นคตินิยมว่า ฉัตรไม่ว่าจะกี่ชั้นก็ตาม เป็นของตนเอง 1 ชั้น จะซ้อนกันอีกกี่ชั้น ก็หมายความว่าเป็นผู้ชนะกี่ทิศ เช่น ฉัตร 3 ชั้นหมายถึงผู้ชนะ 2 ทิศ, ฉัตร 5 ชั้นหมายถึงผู้ชนะ 4 ทิศ, ฉัตร 7 ชั้นหมายถึงผู้ชนะ 6 ทิศ และฉัตร 9 ชั้นหมายถึงผู้ชนะ 8 ทิศ และพระมหาเศวตฉัตร 9 ชั้น จะเป็นของใครอื่นไม่ได้ นอกจากพระมหากษัตริย์

พระมหาเศวตฉัตร หรือพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร ภายในท้องพระโรงพระมหาปราสาทราชมณเฑียร

ประเพณีการใช้ฉัตรของไทย

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงวินิจฉัยประเพณีการใช้ฉัตรของไทยว่า พระเจ้าแผ่นดินมิได้ทรงใช้ฉัตร 9 ชั้น เพียงอย่างเดียว แต่ทรงใช้ฉัตรตั้งแต่ 1 ชั้น จนถึง 9 ชั้น

ฉัตร 1 ชั้น คือ พระกลด ใช้เวลาเสด็จพระราชดำเนิน

ฉัตร 3 ชั้น คือ ฉัตรชุมสาย

ฉัตร 5 ชั้น คือ เครื่องพระอภิรุม

ฉัตร 7 ชั้น คือ ฉัตรพระคชาธาร

ฉัตร 9 ชั้น คือ พระมหาเศวตฉัตร ที่ประดิษฐานประจำพระแท่นต่าง ๆ

ทั้งนี้ มีการใช้ฉัตรทั้งภายในและภายนอกอาคาร คือ

1. ใช้ปักหรือแขวน ได้แก่ เศวตฉัตร ฉัตรลายขาวทอง ฉัตรตาด ฉัตรโหมด

2. ใช้ตั้งในการพระราชพิธี หรือเชิญไปในกระบวนแห่เพื่อประกอบพระเกียรติยศ เช่น พระมหาเศวตฉัตร

นอกจากนี้ ยังนิยมสร้างฉัตรเป็นเครื่องประดับ เป็นพุทธบูชา เป็นเครื่องประกอบปูชนียวัตถุและปูชนียสถานอีกด้วย

ชุมสาย ฉัตร 3 ชั้น ภาพจากเฟซบุ๊ก หอสมุดพิกุลศิลปาคารพระอภิรุม ฉัตร 5 ชั้น ภาพจากเฟซบุ๊ก หอสมุดพิกุลศิลปาคาร
พระอภิรุม ฉัตร 7 ชั้น ภาพจากเฟซบุ๊ก หอสมุดพิกุลศิลปาคาร
 

 

ฉัตรแต่ละชั้นมีความหมายอย่างไร ใช้กับใคร ?

ในสารานุกรมไทย อธิบายการใช้ฉัตรเพื่อแสดงอิสริยยศ ดังนี้

1. เศวตฉัตร เป็นฉัตรผ้าขาวทรงกว้างมี 4 แบบคือ นพปฎลมหาเศวตฉัตร เป็นฉัตร 9 ชั้น สำหรับพระมหากษัตริย์ที่ทรงรับพระบรมราชาภิเษก ตามโบราณขัตติยราชประเพณีแล้ว เรียกกันโดยย่อว่า พระมหาเศวตฉัตร 

พระสัปตปฎลเศวตฉัตร เป็นฉัตร 7 ชั้น สำหรับพระอิสริยยศของพระมหากษัตริย์ ที่ยังมิได้ทรงรับพระบรมราชาภิเษก สมเด็จพระอัครมเหสี สมเด็จพระบรมราชชนนี และสมเด็จพระยุพราช 

เบญจปฎลเศวตฉัตร เป็นฉัตร 5 ชั้น สำหรับพระราชวงศ์ที่ดำรงพระยศเจ้าฟ้า พระมเหสีชั้นพระราชเทวี และพระอัครชายาเธอ กับสกลมหาสังฆปรินายก ที่ได้รับสมณุตมาภิเษกเป็น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า

2. ฉัตรขาวลายทอง เป็นฉัตร 5 ชั้น พื้นขาวเขียนลายทองห้อยจำปาทอง เป็นฉัตรสำหรับพระบรมราชวงศ์ ชั้นพระองค์เจ้าที่ดำรงพระอิสริยยศเป็นเจ้าต่างกรม ชั้นสมเด็จกรมพระยา

3. ฉัตรตาด มี 2 แบบคือ ฉัตรตาดขาวห้าชั้น เป็นฉัตรสำหรับพระราชโอรส พระราชธิดาของพระมหากษัตริย์ ที่ดำรงพระยศพระองค์เจ้าต่างกรมชั้นกรมพระ ฉัตรตาดเหลือง 5 ชั้น สำหรับพระราชโอรส พระราชธิดาของพระมหากษัตริย์ที่ดำรงพระยศ พระองค์เจ้าต่างกรมชั้นกรมหลวง กับเป็นฉัตรสมเด็จพระสังฆราชเจ้า

4. ฉัตรโหมด มี 5 แบบคือ ฉัตรโหมดขาว 5 ชั้น สำหรับพระราชโอรส พระราชธิดา ของพระมหากษัตริย์ที่ดำรงพระอิสริยยศเป็น พระองค์เจ้าต่างกรมชั้นกรมขุน 

ฉัตรโหมดเหลือง 5 ชั้น สำหรับพระราชโอรส พระราชธิดาของพระมหากษัตริย์ที่ดำรงพระอิสริยยศเป็น พระองค์เจ้าต่างกรมชั้นกรมหมื่น 

ฉัตรโหมดทอง 5 ชั้น สำหรับพระราชโอรส พระราชธิดาของพระมหากษัตริย์ที่ดำรงพระอิสริยยศเป็น พระองค์เจ้าแต่มิได้ทรงกรม 

ฉัตรโหมดเงิน 3 ชั้น สำหรับพระโอรส พระธิดาในสมเด็จพระบวรราชเจ้า ที่ดำรงพระอิสริยยศเป็น พระองค์เจ้าต่างกรม 

ฉัตรโหมดทอง 3 ชั้น สำหรับพระโอรส พระธิดาในสมเด็จพระบวรราชเจ้า ที่มิได้ทรงกรม

ร่มกระดาษหลายคัน คือเครื่องสูงตามประเพณี เพื่อแสดงฐานะผู้มีศักดิ์สมัยโบราณ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมร่วมของภูมิภาคอุษาคเนย์นับพันปีมาแล้ว โดยใช้สืบเนื่องถึงสมัยปราสาทนครวัดในกัมพูชาและกรุงศรีอยุธยาตอนต้น [ในภาพ เครื่องสูงตามประเพณีของเจ้านายชาวลื้อ เมืองสิง ราว 100 ปีมาแล้ว (ปัจจุบันอยู่ในลาว ติดพรมแดนมณฑลยูนนานในจีน) (ภาพโดยชาวยุโรปจากหนังสือ Chronicles of Chiang Khaeng : A Tai L? Principality of the Upper Mekong. Silkworm Books, 2008)]

ประวัติ “ฉัตรมงคล”

ฉัตรถูกเชิญมาใช้ในพระราชพิธีต่าง ๆ โดยเฉพาะพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก พบว่ามีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยปรากฏหลักฐานในหลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช แต่พระราชพิธีฉัตรมงคล เริ่มมีครั้งแรกในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ตามธรรมเนียมเดิม ในเดือน 6 (ตรงกับเดือนพฤษภาคม) 

เจ้าพนักงานทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายใน ที่มีหน้าที่รักษาเครื่องราชูปโภคและพระราชนิเวศน์ จะทำพิธีสมโภชเป็นการภายใน โดยฝ่ายในจะตั้งเครื่องสังเวย เครื่องประโคม และร้อยดอกไม้ประดับบูชา ส่วนฝ่ายหน้าจะจัดพิธีสวดมนต์เลี้ยงพระ

รัชกาลที่ 4 ทรงประกอบพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 15 พฤษภาคม 2394 และโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชกุศลในวันคล้ายวันบรมราชาภิเษกและพระราชทานชื่อว่า “ฉัตรมงคล”

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงรับบรมราชาภิเษกเมื่อวันพุธที่ 11 พฤศจิกายน 2411 แต่ยังคงให้จัดพระราชพิธีฉัตรมงคลในเดือน 6 ตามแบบอย่างในรัชกาลที่ 4  ในปีต่อมาพระราชพิธีฉัตรมงคลถูกย้ายจากเดือน 6 มาทำในเดือน 12 และเรียกว่า "การสมโภชพระมหาเศวตฉัตร" มีการจัดพระราชพิธีรวม 4 วัน

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2 คราวคือ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกและเฉลิมพระราชมณเฑียร วันที่ 11 พฤศจิกายน 2453 และพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช วันที่ 28 พฤศจิกายน 2454

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2468

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 ไม่มีการจัดพระราชพิธีฉัตรมงคล เนื่องจากไม่มีการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 พระราชพิธีฉัตรมงคล จัดขึ้นทุกวันที่ 5 พฤษภาคม เพราะทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2493 และทางราชการ ถือเป็นวันหยุดตามประเพณีของไทย หลังจากสวรรคต รัฐบาลได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ยกเลิกวันที่ 5 พฤษภาคม เป็นวันฉัตรมงคล

และในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ขึ้นระหว่างวันที่ 4-6 พฤษภาคม 2562 โดยพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างเป็นทางการ จัดขึ้นในวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 และในปีถัดไป ถือว่าวันที่ 4 พฤษภาคม เป็นวันฉัตรมงคล

รู้หรือไม่ “ฉัตร” มีจุดเริ่มต้นจาก “ใบบัว”



สมโภชพระมหาเศวตฉัตร เครื่องราชูปโภค

ในพระราชพิธีฉัตรมงคล จะมีพิธีจัดสมโภชเครื่องราชกกุธภัณฑ์ในพระบรมมหาราชวัง โดยเจ้าพนักงานเชิญเครื่องมงคลสิริเบญจราชกกุธภัณฑ์ ขึ้นประดิษฐานบนพระแท่นใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร 

จากนั้นพระราชครูหัวหน้าพราหมณ์อ่านประกาศพระราชพิธีฉัตรมงคล พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์เย็น สำหรับเครื่องสิริเบญจราชกกุธภัณฑ์ ได้แก่

  • พระมหาพิชัยมงกุฎ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 ทำด้วยทองคำหนัก 7.3 กิโลกรัม และได้ประดับเพชร "พระมหาวิเชียรมณี" ที่ยอดมงกุฎในสมัยรัชกาลที่ 4 ถือเป็นเครื่องหมายแห่งชัยชนะในการปราบดาภิเษกของพระมหากษัตริย์
  • พระแสงขรรค์ชัยศรี หรืออาวุธที่มีลักษณะเป็นมีดยาวคล้ายดาบ มีคมทั้ง 2 ด้าน ตรงกลางทั้งด้านหน้าและด้านหลังเป็นสันนูนคล้ายคมหอก ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งพระอาญาสิทธิ์ในการปกครองแผ่นดิน ในทางพุทธศาสนายังหมายถึงพระปัญญาที่แหลมคมอีกด้วย
  • ธารพระกร ซึ่งทำจากไม้ชัยพฤกษ์อันเป็นมงคล สื่อความหมายถึงชัยชนะ
  • วาลวิชนี หมายถึงพัดใบตาลปิดทองและแส้ขนจามรี ซึ่งเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ตามคติอินเดีย
  • ฉลองพระบาทเชิงงอน หรือรองเท้าที่พระมหาราชครูพราหมณ์จะเป็นผู้สวมถวายทีละข้าง ซึ่งแสดงถึงพระบรมเดชานุภาพที่แผ่ไปทุกแห่งหนที่ได้เสด็จพระราชดำเนินไปถึง

 

อ่านเพิ่มเติม : 
- 4 พฤษภาคม "วันฉัตรมงคล" 

ที่มา : 
- พระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในสารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย เล่ม 3 อักษร ฉ-ต ฉบับราชบัณฑิตยสภา
- ฉัตร เกร็ดความรู้จากสารานุกรมไทย เผยแพร่ในเว็บไซต์บ้านจอมยุทธ เมื่อเดือนสิงหาคม 2543
- ฉัตร คอลัมน์องค์ความรู้ภาษา-วัฒนธรรม ในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ โดยสำนักงานราชบัณฑิตยสภา เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2562 
- ว่าด้วย “ฉัตร” ในวันฉัตรมงคล ในมติชนสุดสัปดาห์ เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2559
- ร่มกระดาษ ต้นแบบฉัตร วัฒนธรรมร่วมอุษาคเนย์ เขียนโดย สุจิตต์ วงษ์เทศ ในมติชนสุดสัปดาห์ เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2563
 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ฉัตรวันฉัตรมงคล
ชาลี นวธราดล
ผู้เขียน: ชาลี นวธราดล

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล ไทยพีบีเอส

บทความ NOW แนะนำ