รับครั้งแรก! AstraZeneca ชี้วัคซีนอาจมีผลข้างเคียงลิ่มเลือดอุดตัน

ต่างประเทศ
1 พ.ค. 67
13:19
4,889
Logo Thai PBS
 รับครั้งแรก! AstraZeneca ชี้วัคซีนอาจมีผลข้างเคียงลิ่มเลือดอุดตัน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สำนักข่าวต่างประเทศระบุ AstraZeneca ยอมรับครั้งแรกว่าวัคซีนป้องกันโควิด-19 อาจทำให้เกิดภาวะ ลิ่มเลือดอุดตัน หลังกรณีการฟ้องร้องกลุ่มในประเทศอังกฤษ ส่วนในไทยหลังสงกรานตัวเลขขยับพบเป็นสายพันธุ์ย่อยของ XBB.1

วันนี้ (1 พ.ค.2567) สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า บริษัทยายักษ์ใหญ่แอสตราเซเนกา ยอมรับครั้งแรกว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในชื่อ "Covishield" สามารถก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่พบได้ยาก รวมถึงภาวะลิ่มเลือด และเกล็ดเลือดต่ำ

รายงานดังกล่าวเกิดขึ้น ในคดีฟ้องร้องแบบกลุ่มในสหราชอาณาจักร ถึงผลข้างเคียงหลังรับวัคซีนโควิด-19 โดยบริษัทแอสตราเซนเนกา ที่พบภาวะลิ่มเลือดอุดตัน จนทำให้มีผู้เสียชีวิต

ทั้งนี้ Covishield ได้รับการพัฒนาโดยบริษัทอังกฤษ-สวีเดน โดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ และผลิตโดย Serum Institute of India มีการบริหารงานอย่างกว้างขวางในกว่า 150 ประเทศ รวมถึงสหราชอาณาจักรและอินเดีย

การศึกษาบางดำเนินการระหว่างการแพร่ระบาดพบว่า วัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ได้ 60-80 %

ก่อนหน้านี้องค์การอนามัยโลก ยืนยันว่า Covishield อาจมีผลข้างเคียงที่คุกคามถึงชีวิตได้ “มีรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่หายากมากที่เรียกว่า Thrombosis with Thrombocytopenia Syndrome ซึ่งเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การแข็งตัวของเลือดที่ผิดปกติและรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับจำนวนเกล็ดเลือดต่ำ ได้รับรายงานหลังการฉีดวัคซีนด้วยวัคซีนนี้

ไทยรับทราบข้อมูลเบื้องต้น 

ด้าน นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ผลข้างเคียงจากการรับวัคซีนโควิด-19 ของบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ก่อนหน้านี้บริษัท ก็ได้มีการแจ้งข้อมูลที่เป็นวารสารทางการแพทย์ออกมาตั้งแต่ในช่วงที่มีการอนุญาตในลักษณะฉุกเฉิน (EUA) แต่ในขณะนี้มีการอนุญาตใช้โดยทั่วไปแล้ว จึงมีการเก็บข้อมูลผลข้างเคียงในลักษณะที่เป็นหลักฐาน รวมถึงมีเรื่องของการฟ้องร้องดังกล่าวด้วย

สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค รายงานผลการฉีดวัคซีนโควิด ตั้งแต่ 28 ก.พ.2564 -10 มี.ค.2566 ในไทยตั้งแต่เกิดการะบาดของโควิด-19 มีการนำเข้าวัคซีน 5 ชนิดได้แก่ ซิโนแวค แอสตราเซเนกา ชิโนฟาร์ม ไฟเซอร์ และโมเดอร์นา โดยอันดับที่มีการฉีดมากสุดคือ ไฟเซอร์ จำนวน 48,867,210 โดส รองลงมาแอสตราเซเนกา 48,718,241 โดส

โควิดหลังสงกรานต์เพิ่ม-สายพันธุ์ย่อยของ XBB.1

ด้านนพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (21 27 เม.ย.) พบผู้ป่วยโรคโควิดที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลจำนวน 1,672 คนเฉลี่ย 239 คนต่อวัน ผู้ป่วยปอดอักเสบ 390 คน ใส่ท่อช่วยหายใจ 148 คน และมีผู้เสียชีวิต 9 คน

เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน (14-20 เม.ย.) พบว่าผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ยังเป็นไปตามคาดการณ์ เนื่องจากโรคโควิดกลายเป็นโรคประจำถิ่น สามารถพบผู้ป่วยได้ตลอดทั้งปี และยังเป็นโรคประจำฤดูกาล

โดยจะพบผู้ป่วยมากขึ้นตั้งแต่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ต่อเนื่องจนถึงฤดูฝนที่กำลังจะถึงนี้และจะเป็นช่วงเปิดเทอมด้วย ไม่ต่างจากโรคทางเดินหายใจอื่นๆ ทั้งไข้หวัดใหญ่ โรคติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวี แต่ความรุนแรงของโรคโควิด-19 ลดลงอย่างมาก

จากการวิเคราะห์ข้อมูลติดตามย้อนหลังช่วง 3-4 ปีพบว่าอัตราป่วยตายของโรคโควิดลดลงจาก 0.98 % ช่วงปี 2563-2564 เป็น 0.04 % ในปีนี้ ใกล้เคียงกับไข้หวัดใหญ่ และต่ำกว่าไข้เลือดออก

นพ.ธงชัย กล่าวอีกว่า ปัจจุบันโควิดที่ระบาดคือสายพันธุ์ย่อยของ XBB.1 ซึ่งเป็นลูกหลานของโอมิครอน อาการไม่รุนแรง เป็นเหมือนหวัดธรรมดาทั่วไป ซึ่งจุดนี้เองอาจทำให้ประชาชนไม่ได้ระวังจึงแพร่เชื้อต่อกันได้ง่าย

สิ่งสำคัญคือต้องระมัดระวังไม่นำเชื้อไปสู่กลุ่มเสี่ยง ซึ่งจากข้อมูลผู้เสียชีวิตทุกรายยังพบว่า เป็นกลุ่ม 608 โดยเฉพาะผู้สูงอายุหรือมีโรคประจำตัวเรื้อรัง ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนมีความตระหนักแต่ไม่ตระหนก

อ่านข่าว : 

ถ้วนหน้า! พิพัฒน์ยืนยัน 1 ต.ค. ค่าแรง "400 บาท" ทั้งประเทศ

"แรงงาน" ยื่น 10 ข้อเรียกร้อง รัฐบาล ใน "วันแรงงาน"

“เสียงประชาชน” ดังขึ้นดังอีก เอาคืน กกต.อย่าล้ำเส้นสิทธิ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง