วันวิสาขบูชา 2567 กับ 3 เหตุการณ์สำคัญใน "พระพุทธศาสนา"

ไลฟ์สไตล์
8 พ.ค. 67
11:26
6,752
Logo Thai PBS
วันวิสาขบูชา 2567 กับ 3 เหตุการณ์สำคัญใน "พระพุทธศาสนา"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"วันวิสาขบูชา 2567" ถือเป็นอีกหนึ่งในวันสำคัญทางพุทธศาสนา ที่มีมาแต่โบราณกาล มีประวัติความเป็นมา และความสำคัญอย่างไร รวมถึงสิ่งใดที่พุทธศาสนิกชนพึ่งปฏิบัติ

"วันวิสาขบูชา" ปีนี้ 2567 ตรงกับวันพุธที่ 22 พฤษภาคม อีกหนึ่งในวันสำคัญของประจำปีของ "พุทธศาสนิกชนทั่วโลก" เป็นวันที่ระลึกถึงวันที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า "ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน" ซึ่งเกิดขึ้นในวันและเดือนเดียวกัน คือ ในวันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6  

คำว่า "วิสาขบูชา" หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือน 6 โดยย่อมาจาก "วิสาขปุรณมีบูชา" แปลว่า "การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ" หากปีใดมีอธิกมาส คือ มีเดือน 8 สองหน ก็เลื่อนไปเป็นกลางเดือน 7

อ่านข่าว : "วิสาขบูชา" 22 พ.ค. วันหยุดราชการ ชวนชาวพุทธเข้าวัดทำบุญ

อ่านข่าว : รวมบทสวดมนต์ วันวิสาขบูชา

3 เหตุการณ์สำคัญดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อกว่า 2,500 ปี มาแล้ว ในห้วงระยะเวลาที่ต่างกัน   

ประวัติ - ความสำคัญ "วันวิสาขบูชา

เหตุการณ์วันประสูติ "เจ้าชายสิทธัตถะ"

เหตุการณ์สำคัญครั้งแรก เช้าวันศุกร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีจอ ก่อนพุทธศักราช 80 ปี เจ้าชายสิทธัตถะ โอรสพระเจ้าสุทโธธนะ และ พระนาง สิริมหามายาแห่งกรุงกบิลพัสดุ์ ประสูติที่ป่าลุมพินีวัน ณ เขตแดนรอยต่อระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์ของฝ่ายพระราชบิดา กับกรุงเทวทหะของฝ่ายพระราชมารดา

เหตุการณ์ตรัสรู้เป็น "พระสัมมาสัมพุทธเจ้า"

เหตุการณ์ครั้งที่ 2 เช้ามืดวันพุธ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีระกา ก่อนพุทธศักราช 45 ปี เจ้าชายสิทธัตถะ ทรงตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อมีพระชนมายุได้ 35 พรรษา ณ ใต้ร่มไม้ศรีมหาโพธิ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ภายหลังจากการออกผนวชได้ 6 ปี ปัจจุบัน สถานที่แห่งนี้เรียกว่า พุทธคยา เป็น ตำบลหนึ่งของเมืองคยา แห่งรัฐพิหาร ประเทศอินเดีย

เหตุการณ์เสด็จ "ดับขันธปรินิพพาน"

เหตุการณ์สำคัญ ครั้งที่ 3 เป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน ภายหลังจากการตรัสรู้ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงออกประกาศพระธรรมวินัย และโปรดเวไนยสัตว์เป็นเวลา 45 ปี เมื่อมีพระชนมายุได้ 80 พรรษา พระองค์ก็เสด็จดับขันธปรินิพพาน เมื่อวันอังคาร ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง ณ เมืองกุสินารา ปัจจุบันอยู่ในเมืองกุสีนคระ รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย  

เหตุการณ์สำคัญทั้ง 3 ประการนี้ เกิดขึ้นในวันและเดือนเดียวกัน ทางจันทรคติ ซึ่งนับวันขึ้นแรม ตามวิถีการโคจรของดวงจันทร์ เป็นหลักในการกำหนดวัน เดือนและปีซึ่งยังคงใช้กันมาอยู่จนถึงทุกวันนี้ ควบคู่กันไปกับการกำหนดวัน เดือน และปีทาง สุริยคติ ซึ่งเป็นไปตามวิถีการโคจรของดวงอาทิตย์ นับเป็นเรื่องอัศจรรย์ซึ่งยังไม่เคยมีการประจวบกันเช่นนี้แก่ผู้หนึ่งผู้ใด และเหตุการณ์หนึ่งเหตุการณ์ใดมาก่อนจนตราบเท่าปัจจุบัน

"วันวิสาขบูชา" ในประเทศไทย

กระทรวงวัฒนธรรม อธิบายว่า จากหลักฐานพบว่า "วันวิสาขบูชา" เริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อ "สมัยสุโขทัย" เป็นราชธานี ซึ่งสันนิษฐานว่าได้รับแบบแผนมาจาก "ลังกา" เมื่อประมาณ พ.ศ.420 โดยพระเจ้าภาติกุราช กษัตริย์แห่งกรุงลังกา ได้เป็นผู้ประกอบพิธีวิสาขบูชาขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา นับจากนั้นกษัตริย์แห่งลังกาพระองค์อื่น ๆ ก็ได้ถือปฏิบัติประเพณีวิสาขบูชานี้สืบต่อกันมา

เมื่อครั้งสมัยสุโขทัย ประเทศไทยมีความสัมพันธ์ด้านพระพุทธศาสนากับประเทศลังกาอย่างใกล้ชิด มีพระสงฆ์จากเมืองลังกาหลายรูปเดินทางเข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนา และนำการประกอบพิธีวิสาขบูชาเข้ามาปฏิบัติในไทยด้วย

การปฏิบัติพิธีวิสาขบูชาในสมัยสุโขทัย มีการบันทึกเอาไว้ในหนังสือ "นางนพมาศ" สรุปใจความได้ว่า เมื่อถึงวันวิสาขบูชา พระเจ้าแผ่นดิน ข้าราชบริพาร ทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายใน ตลอดทั้งประชาชนชาวสุโขทัย จะช่วยกันประดับตกแต่งพระนคร ด้วยดอกไม้ พร้อมกับจุดประทีปโคมไฟให้ดูสว่างไสวไปทั่วพระนคร เป็นเวลา 3 วัน 3 คืน เพื่อเป็นการบูชาพระรัตนตรัย

ขณะที่พระมหากษัตริย์ และบรมวงศานุวงศ์ ก็ทรงศีล และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่าง ๆ ครั้นตกเวลาเย็นก็เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ และนางสนองพระโอษฐ์ตลอดจนข้าราชการทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายในไปยังพระอารามหลวง เพื่อทรงเวียนเทียนรอบพระประธาน

ส่วนชาวสุโขทัยจะรักษาศีล ฟังธรรม ถวายสลากภัต สังฆทาน อาหารบิณฑบาตแด่พระภิกษุสามเณร บริจาคทานแก่คนยากจน ทำบุญไถ่ชีวิตสัตว์  

หลักธรรมสำคัญในวันวิสาขบูชา

สำหรับหลักธรรม สำคัญในวันวิสาขบูชา อันเกี่ยวเนื่องจากการประสูติ ตรัสรู้ และเสด็จดับขันธปรินิพพาน คือ ความกตัญญู อริยสัจ 4 และความไม่ประมาท (ที่มา : กรมศิลปากร)

ความกตัญญู คือ รู้บุญคุณ คู่กับความกตเวที คือ ตอบอทนผู้มีพระคุณ

อริยสัจ 4 คือ ความจริงอันประเสริฐ หมายถึง ความจริงที่ไม่ผันแปร เกิดมีขึ้นได้แก่ทุกคนมี 4 ประการ คือ

  • ทุกข์ (ปัญหาของชีวิต)
  • สมุทัย (เหตุแห่งปัญหา)
  • นิโรธ (การแก้ปัญหาได้)
  • มรรค (ทางหรือวิธีแก้ปัญหา มรรคมีองค์

ส่วนความไม่ประมาท คือ การมีสติทั้งขณะทำ ขณะพูดและขณะคิด สติ คือการระลึกรู้ทันที่คิด พูดและทำ กล่าวคือ ระลึกรู้ทันทั้งในขณะ ยืน เดิน นั่ง นอน รวมทั้งระลึกรู้ทันในขณะพูดขณะคิด และขณะทำงานต่าง ๆ

กิจกรรมในวันวิสาขบูชา 

"วันวิสาขบูชา" มีสิ่งที่พุทธศาสนิกชนต่างนิยมปฏิบัติในวันนี้ เช่น การทำบุญ การบูชา การฟังธรรมะ

พุทธศาสนิกชนต่างพากันน้อมระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ด้วยการไปชุมนุมตามพระอารามต่าง ๆ เพื่อกระทำการบูชาปูชนียวัตถุอัน ได้แก่ พระธาตุเจดีย์หรือพระพุทธปฏิมา ที่เป็นพระประธานในพระอุโบสถอย่างใดอย่างหนึ่ง ด้วยเครื่องบูชามีดอกไม้ ธูปเทียน เป็นต้น เริ่มด้วยการสรรเสริญคุณพระรัตนตรัยด้วยบทสวดมนต์ ตามลำดับดังนี้คือบทสวดมนต์

บทสรรเสริญ พระพุทธคุณ ด้วยบท "อิติปิโสภควา อรหังสัมมาสัมพุทโธ...พุทโธภควาติ"

บทสรรเสริญ พระธรรมคุณ ด้วยบท "สวากขาโต ภควตาธัมโม...วิญญูหิติ"

บทสรรเสริญ พระสังฆคุณ ด้วยบท "สุปฏิปันโน ภควโตสาวกสังโฆ...โลกัสสาติ"

จากนั้นก็จะกระทำ ประทักษิณ หรือที่เรียกว่า เวียนเทียน รอบพระธาตุเจดีย์ หรือพระพุทธปฏิมาในพระอุโบสถ ด้วยการเดินเวียนขวาสามรอบ

  • รอบแรก สวดบทสรรเสริญพระพุทธคุณ
  • รอบที่สอง สวดบทสรรเสริญพระธรรมคุณ
  • รอบที่สาม สวดบทสรรเสริญพระสังฆคุณ

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่พุทธศาสนิกชนพึงปฏิบัติ

  • ทำบุญใส่บาตร กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้ญาติที่ล่วงลับ และเจ้ากรรมนายเวร
  • ทำบุญตักบาตร ปฏิบัติธรรม และฟังพระธรรมเทศนา
  • ปล่อยนกปล่อยปลา เพื่อสร้างบุญสร้างกุศล

อ่านข่าว : ความพ่ายแพ้ของโวลเดอมอร์ต 2 พ.ค. "วันเฉลิมฉลองแฮร์รี พอตเตอร์สากล"

10 พ.ค. "วันพืชมงคล" วันหยุดราชการที่มีแต่ราชการเท่านั้นที่หยุด

วันหยุดราชการ 6 พ.ค. "ชดเชยวันฉัตรมงคล" หยุดแล้วได้เงินหรือไม่?

ข่าวที่เกี่ยวข้อง