มองมุม “ชาติ กอบจิตติ” หาก “นักเขียน” จะเติบใหญ่ในยุคดิจิทัล


วันสำคัญ

4 พ.ค. 67

จิราภพ ทวีสูงส่ง

Logo Thai PBS
มองมุม “ชาติ กอบจิตติ” หาก “นักเขียน” จะเติบใหญ่ในยุคดิจิทัล

ยุคสมัยเปลี่ยน วิถีการทำงานเปลี่ยน “นักเขียน” รวมถึงคนทำงานสาย “คอนเทนต์” ต่างต้องปรับตัวตามยุคดิจิทัล ที่หลายคนมองว่างานสายขีดเขียนจะไปทางไหนดี เนื่องใน “วันนักเขียนไทย” (5 พ.ค. ของทุกปี) Thai PBS และ Thai PBS Sci And Tech ขอพาไปส่อง..มองมุม “ชาติ กอบจิตติ” ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี พ.ศ. 2547, นักเขียน 2 รางวัลซีไรต์ และรางวัลช่อการะเกด ได้มองถนนสายนักเขียนปัจจุบันและอนาคตไว้อย่างน่าสนใจ โดยมีแนวคิดที่สายคอนเทนต์รุ่นใหม่สามารถนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ในงานเขียนของตนเองได้ไม่น้อย บอกเลยว่าสายเขียนและ FC “น้าชาติ” ไม่ควรพลาด

 

อยากให้ทุกคนตามหา “ตัวเอง” ให้เจอ

บนเส้นทางชีวิตของแต่ละคน “อยากให้ทุกคนตามหาตัวเองให้เจอ” วลีแรกที่ “ชาติ กอบจิตติ” เอื้อนเอ่ย ก่อนกล่าวเสริมว่า อย่างตนเองรู้ตัวอายุประมาณ 14-15 ปี ว่าชอบ “เขียนหนังสือ” พอรู้ว่าตัวเองอยากเป็น “นักเขียน” ก็เริ่มอ่านหนังสือต่าง ๆ เขียนบันทึก ก่อนเริ่มหัดเขียนจริงจัง หลังจากจบวิทยาลัยเพาะช่าง โดยมีแนวคิดว่า หากเขียนหนังสือตามใจตลาด หรือเขียนเรื่องที่เราไม่ชอบ อาจจะขายได้ แต่เขียนอย่างที่เราชอบเขียนคงขายลำบาก แล้วจะทำอย่างไรดี จึงเริ่มทำอาชีพอื่น (ทำกระเป๋า) หารายได้ ส่วนตอนกลางคืนก็หัดเขียนหนังสือเรื่อยมา จากนั้นส่งให้เพื่อน-บุคคลที่มีความรู้ในเรื่องการเขียนอ่าน ฝึกฝนจนรู้สึกว่า “โอเค” จึงส่งไปยังสำนักพิมพ์-หัวหนังสือต่าง ๆ ก่อนถูกนำไปตีพิมพ์ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของอาชีพ “เขียนหนังสือ” มาจนถึงทุกวันนี้

เมื่อเราตามหา “ตัวเอง” เจอแล้ว สิ่งที่ต้องทำคือเปลี่ยนความฝันที่อยากจะเป็นให้กลายเป็นจริง

“ชาติ กอบจิตติ” ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี พ.ศ. 2547, นักเขียน 2 รางวัลซีไรต์ และรางวัลช่อการะเกด 3.JPG

3 เคล็ดไม่ (ลับ) การเขียนฉบับ “ชาติ กอบจิตติ”

เพราะการเขียนคือการเล่าเรื่อง บันทึกสังคม มีมาทุกยุคสมัย “น้าชาติ” อธิบายให้เห็นภาพต่อว่า อย่างเช่น สมัย “สุนทรภู่” ก็จะบันทึกสังคมสมัยนั้นผ่านงานเขียน ดังนั้นไม่ว่าจะไปข้างหน้ามุ่งสู่อนาคตอย่างไร คนในยุคนั้น ๆ ก็จะบันทึกช่วงเวลาที่ตัวเองได้พบเจอ ซึ่งหน้าที่ของเราก็คือบันทึกในยุคสมัยของเรา

กลายเป็นแรงบันดาลใจในการนำมาเขียน ซึ่งเรื่องนี้ก็แล้วแต่จังหวะ-เหตุการณ์ที่พบเจอของแต่ละคน หรืออาจจะคิดขึ้นมาเองตามจินตนาการแล้วนำมาขยาย ขมวดปมเอามาเขียนเล่าต่อให้เป็นเรื่องก็ได้ อย่างเช่นเรื่อง  “คำพิพากษา” น้าชาติเล่าต่ออย่างออกรสว่า เริ่มจากที่ตนเองคิดคำสั้น ๆ ให้กับเรื่องนี้ว่า “เราอย่าตัดสินกันง่าย ๆ” จากนั้นจึงนำไปขยายเหมือนกับวิทยานิพนธ์ มีหัวข้อ แล้วไปหาข้อมูลอ้างอิงมาสนับสนุน เพื่อให้วิทยานิพนธ์เรื่องนี้สมบูรณ์ (นิยายหรือเรื่องสั้นจะมีลักษณะการวางโครงเรื่องคล้าย ๆ กัน) จากนั้นคิดบทตัวละครว่าจะเป็นอย่างไร ฉากเกิดที่ไหน เหตุการณ์จะเกิดอะไรขึ้น พยายามเขียนออกมาให้เรื่องเกี่ยวโยงกัน โดยทำให้บทสรุป-แก่นของเรื่องก็คือ “อย่าตัดสินกันง่าย ๆ” ให้คนอ่านเห็นภาพเมื่อได้อ่าน

โดยสิ่งสำคัญที่คนเขียนจะต้องคำนึงก็คือ “การเขียน” ต้องมีการดัดแปลง เหมือนกับการปรุงยาสูตรใหม่ ๆ ขึ้นมาตามช่วงเวลานั้น ๆ เพื่อตอบโจทย์ของโรคที่อุบัติขึ้น ซึ่งเปรียบได้กับความต้องการให้คนอ่าน เมื่ออ่านแล้วโดนใจ-ประทับใจ เป็นต้น

ไอเดียงานเขียน

ทั้งนี้งานเขียนของ “น้าชาติ” จะประกอบไปด้วย 3 อย่างคือ

1. ให้ความคิด 
2. ให้ความรู้-ข้อเท็จจริง เช่น โรคที่เกิดขึ้นในตัวละคร เกิดขึ้นอย่างไรมีผลกระทบอย่างไร เพื่อให้ผู้อ่านได้ตระหนักรู้ 
3. ให้ความบันเทิง ซึ่งในที่นี้อาจไม่ได้หมายถึงต้องหัวเราะร่วนทั้งเรื่อง สนุกสนานรื่นเริง หรืออาจจะเป็นเรื่องเศร้าก็ได้ 

แต่ประเด็นสำคัญก็คือต้องการให้ความบันเทิงแบบ “อ่านแล้ววางไม่ได้” นี่ถือเป็นความบันเทิงอีกแง่มุมหนึ่ง ซึ่งไม่จำเป็นต้องหัวเราะอย่างเดียวเท่านั้น อ่านไปร้องไห้ไปก็เป็นความบันเทิงในการเสพได้เช่นกัน

ให้ความคิด, ให้ความรู้-ข้อเท็จจริง, ให้ความบันเทิง คือ 3 องค์ประกอบสำคัญในการเขียน จากนั้นจะเป็นเรื่องของกลเม็ด-วิธีการแล้วว่าจะทำอย่างไรให้ผู้อ่านสนใจงานเขียนของเรา อ่านแล้วชอบ ซึ่งตนเองใช้หลัก 3 อย่างนี้ เป็นแนวทางในการเขียนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

สัมภาษณ์ “ชาติ กอบจิตติ” ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี พ.ศ. 2547, นักเขียน 2 รางวัลซีไรต์ และรางวัลช่อการะเกด

นอกจากนี้ “ชาติ กอบจิตติ” ยังฝากถึงสายคอนเทนต์หรือนักเขียนที่มองว่าตนเองยังมี “คลังคำ” น้อยอยู่ว่า คลังคำจะเกิดขึ้นกับตัวเราเอง หากเขียน-อ่านบ่อย ๆ หมั่นฝึกฝนเติมวิชา-ความรู้ใหม่ ๆ ให้กับตัวเอง สังเกตได้จาก ทำไมคนเราพูดไม่เหมือนกัน เหมือนกับคนเราตอนเกิดยังพูดไม่ได้ พอเริ่มหัดพูด โตขึ้น จะมีแนวทาง-การใช้คำพูดเป็นของเราเอง “คำ” ก็เช่นเดียวกัน หัดใช้คำในแนวทางที่เราชอบ จากนั้นพัฒนาไปจนทำให้ผู้เสพซึมซับหลงใหลในแนวทางการเขียนของเรา

ผมเขียนโดยใช้ธรรมชาติของตัวเอง แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องเคารพก็คือ คนอ่านของเรา ข้อมูลที่ให้เป็นความรู้ต้องเป็นเรื่องจริง ไม่หลอกคนอ่าน เราต้องทำงานให้เต็มที่เพื่อเสนอคนอ่านให้หันมาสนใจงานเขียนของเรา ความจริงใจที่ให้จะได้รับการตอบกลับจากผู้อ่าน

“การเขียน”

“การเขียน” ก็เหมือนทุก “หน้าที่” คือต้องทำให้ดีที่สุด

เปิดหัวประเด็นนี้ “น้าชาติ” เล่าว่า อยากให้ทุกคนที่ทำหน้าที่ของตัวเองพยายามทำออกมาให้ดีที่สุด อย่างตนเองตอนเขียนหนังสือสักเล่มไม่ได้คิดว่าจะได้รางวัล คิดแต่เพียงว่าจะทำงานอย่างไรให้ดีที่สุด พองานเสร็จแล้วเราค่อยมาคิดว่าจะทำอย่างไรต่อไป เหมือนกับทำสินค้าชนิดหนึ่งไปจำหน่าย เริ่มต้นเราต้องทำสินค้าให้ดีเสียก่อน อย่างทำก๋วยเตี๋ยวก็ต้องทำให้อร่อยคนจึงจะมากิน งานเขียนก็เหมือนกัน ต้องทำออกมาให้ดีมีคุณภาพ พิถีพิถันในรายละเอียด แล้วใช้แนวทางตัวเองสร้างอัตลักษณ์ที่ชัดแจ้งออกมาสะกดใจผู้อ่าน

นอกจากนี้เรื่องที่เขียนแต่ละเรื่องจะไม่เหมือนกัน มีความแตกต่างกันไป ของชิ้นใหญ่จะไปใส่กล่องเล็ก ๆ ก็ไม่ได้ อย่างเช่น “นวนิยาย” ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ จะมาเขียนเป็นเรื่องเล็กอย่างเช่น “เรื่องสั้น” ก็ไม่ได้ ดังนั้นเราต้องขยายกล่องใหญ่ ทำให้ภาชนะที่จะมารองรับเรื่องนั้น ๆ ให้รองรับได้ จึงทำให้เกิดเป็นความแตกต่างกันของการเขียนในแต่ละประเภท บางเรื่องเป็นได้แค่เรื่องสั้น เป็นนิยายไม่ได้ ขยายใหญ่แล้วเหลว ไม่น่าสนใจมีแต่น้ำ ดังนั้นเราต้องทำเรื่องให้พอดี กับกล่องนั้น ๆ ซึ่งงานแต่ละงานบอกไม่ได้ว่าเล็กหรือใหญ่แค่ไหน เราต้องรู้จักประเมินและประมาณเนื้องานให้เหมาะสมกับงานเขียนและเนื้อหา

ยุคดิจิทัล

การปรับตัว-สไตล์การเขียนในยุคดิจิทัล

สำหรับตนเองยังเขียนเหมือนเดิม “น้าชาติ” กล่าว แต่ยุคนี้อาจไม่ใช่ยุคของตนเองแล้ว เป็นยุคของคนรุ่นใหม่ จึงมุ่งไปที่การทำงานที่เราอยากทำมากกว่า สำหรับหลาย ๆ คนที่พะวงว่าแพลตฟอร์มใหม่ ๆ ให้คนเข้าไปเสพแทนที่หนังสือที่เกิดขึ้นในยุคดิจิทัล ตนมองว่าเป็นเพียงภาชนะเท่านั้น เปรียบได้กับแก้วใส่น้ำ ยุคตนเองอาจใช้แก้ว แต่ยุคนี้อาจจะเป็นพลาสติกหรือกระดาษเคลือบ แต่ “น้ำ” (แนวคิด, วิธีเขียน, เอกลักษณ์การเขียน) ก็ยังคือน้ำ มีเพียงภาชนะรองรับน้ำที่เปลี่ยน คนก็ยังคงต้องดื่มน้ำ (เสพงานเขียน) อยู่ เพียงแต่เปลี่ยนแหล่งที่อ่าน ดังนั้น คนเขียนสิ่งที่ควรใส่ใจให้มากไม่ใช่เรื่องแพลตฟอร์มเผยแพร่ที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่เป็น “เรื่องที่เราจะเขียน”

นำ “เทคโนโลยี” มาใช้ในงานเขียน

การนำ “เทคโนโลยี” มาใช้ประโยชน์ในงานเขียน

“รถมีอยู่แล้วจะเดินทำไม” น้าชาติพูดพร้อมหัวเราะร่วน ก่อนให้เหตุผลว่า “เทคโนโลยี” คือสิ่งที่มาช่วยอำนวยความสะดวกทำให้ทำงานง่ายขึ้น จึงควรเรียนรู้แล้วนำมาให้เป็นประโยชน์ ตัวอย่างเช่น ตนเองกำลังเขียนหนังสือเรื่องใหม่ จะมีฉากคล้าย ๆ ในสามก๊ก ในอดีตอาจต้องอ่านสามก๊กจนจบ แต่เดี๋ยวนี้เปิดยูทูบดูสามก๊ก หรือเสิร์ชหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต ดูแหล่งอ้างอิงที่เชื่อถือได้ แล้วนำมาเป็นข้อมูลประกอบ-อ้างอิง ไม่ต้องเสียเวลาอ่านทุกเล่มก็ได้ เพราะเราใช้บรรยากาศ ฉาก เครื่องแต่งกายตัวละคร ไม่ได้ใช้เหตุการณ์ที่อยู่ในสามก๊ก เทคโนโลยีช่วยให้ทำงานง่ายขึ้นเยอะ ดูซ้ำ หาข้อมูลใหม่ ๆ ได้ง่าย

คนวัยเก๋าอย่างตนไม่ต้องไปกลัวเทคโนโลยีมองให้เป็นเครื่องมือ มองเป็นรถเราไม่ต้องเดินให้เมื่อย

“แปลภาษา” เทคโนโลยียุคนี้ช่วยได้ไหม.jpg

“แปลภาษา” เทคโนโลยียุคนี้ช่วยได้ไหม ?

“การแปล” ด้วยการใช้เทคโนโลยีคงไม่ง่ายขนาดนั้น “ชาติ กอบจิตติ” แสดงทัศนะ เนื่องจากเป็นเรื่องของ “ศิลปะ” การกดเสิร์ชแปลง่าย ๆ ในมือถือ แปลเป็นคำพูด อาจจะได้ความหมาย แต่ไม่ได้ “สุนทรียภาพ-อรรถรสของภาษา”

จะสังเกตได้ว่านักแปล เวลาแปลเป็นภาษาอังกฤษดี ๆ สละสลวย จะไม่ได้ใช้สำนวนไทย เพราะบางทีภาษา-คำพังเพยไทยใช้ไม่ได้กับของฝรั่ง ต้องมีการยักย้าย ใช้คำพังเพยฝรั่งแต่ความหมายเหมือนไทย ซึ่งไม่ง่ายแค่กดปุ๊บแล้วออกมาปั๊บแบบที่เรากำลังใช้เสิร์ชเอนจินในมือถือ ในอนาคตไม่แน่แต่ทุกวันนี้ยัง

“วรรณกรรมไทย” ยกระดับไปสู่ “วรรณกรรมสากล”.jp

สิ่งที่จะทำให้ “วรรณกรรมไทย” ยกระดับไปสู่ “วรรณกรรมสากล”

“น้าชาติ” กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า งานเขียนในบ้านเราค่อนข้างดี เพียงแต่ว่าการเผยแพร่ไปต่างประเทศยังน้อย ซึ่งต้องมีคน-หน่วยงานมาช่วย เช่น สมมุติว่าต้องการนำหนังสือไปจำหน่ายในต่างแดน ก็ต้องมีการแปลเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นเรื่องยากของทั้งตัวนักเขียนเองรวมถึงสำนักพิมพ์ เนื่องจากการแปลเป็นการลงทุน มีความเสี่ยง ดังนั้นในความคิดเห็นของตนเองจึงคิดว่าควรจะมีหน่วยงานมาช่วยดูแลในจุดนี้ รวมถึงนักเขียนก็ต้องร่วมด้วยช่วยกัน เช่น สร้างคอนเน็กชันกับชาวต่างประเทศ เพื่อช่วยผลักดันวรรณกรรมเมืองไทยให้เป็นที่รู้จักในต่างแดนมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีทำให้งานเขียนมีคุณภาพ-มาตรฐานในระดับสากล

สำหรับการทำให้หนังสือได้รับการยอมรับในต่างประเทศ “น้าชาติ” เล่าว่า ตนเองเริ่มทำตั้งแต่ตอนหนังสือเริ่มขายได้ มีชื่อเสียง จึงได้มีการจ้างแปลแล้วพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ เมื่อพิมพ์หนังสือเป็นภาษาอังกฤษโอกาสก็เพิ่มมากขึ้น-ไปได้กว้างกว่า อย่างน้อยก็มีโรงเรียนนานาชาตินำมาเป็นหนังสือเรียน มีการนำเวอร์ชันอังกฤษมาเทียบกับไทย หรือนักท่องเที่ยวที่มาบ้านเรา บางทีก็ไม่ได้มาเที่ยวอย่างเดียว บางครั้งก็มาเรียนรู้วัฒนธรรม บางคนก็ชอบอ่าน พูดให้เห็นภาพก็คือเหมือนกับที่เราไปต่างประเทศบางทีก็ซื้อหนังสือบ้านเขาติดไม้ติดมือไว้อ่าน ซึ่งหลังจากหนังสือของ “น้าชาติ” เป็นที่รู้จักมากขึ้น ได้มีชาวต่างชาติที่สนใจติดต่อมา ว่าสนใจหนังสืออยากแปลเป็นภาษาต่าง ๆ จำหน่ายในต่างประเทศ

นอกจากนี้ “น้าชาติ” ได้กล่าวเสริมว่า “วรรณกรรมไทย” จะยกระดับไปสู่ “วรรณกรรมสากล” ได้นั้น อันดับแรกเลยก็คือ การแปลหนังสือเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งหน่วยงานหรือสำนักพิมพ์อาจจะคัดเลือกงานเขียนของนักเขียนทั้งรุ่นเก่า-รุ่นใหม่ที่น่าสนใจมาแปล เพื่อให้งานเขียนไทยเป็นที่รู้จักในวงวรรณกรรมต่างประเทศมากขึ้น โดยการแปลอาจจะยังไม่ต้องพิมพ์ก่อนก็ได้ ส่งไฟล์ต้นฉบับให้สำนักพิมพ์ต่างประเทศอ่านก่อน หากเป็นที่สนใจค่อยร่วมมือกันพิมพ์ก็ได้ เป็นต้น

ส่งเสริม “การอ่าน”

นอกจากส่งเสริมการเขียน-การแปล ต้องส่งเสริม “การอ่าน” ด้วย

เพราะคนเขียนกับคนอ่านต้องเอื้อกัน มีคนเขียนต้องมีคนอ่าน “น้าชาติ” ให้เหตุผล โดยในที่นี้ไม่ได้หมายถึงคนไทยไม่อ่าน แต่หันไปอ่านในมือถือแทนหนังสือ เป็นต้น

“การอ่านดีทั้งนั้น” น้าชาติเปลื้องใจ ตนเองจบวิทยาลัยเพาะช่าง ไม่ได้จบในระดับปริญญาตรี ถ้าไม่ได้อ่านหนังสือคงมาไม่ถึงจุดนี้ “การอ่านหนังสือ” เป็นอีกหนึ่งโลกที่เปลี่ยนจากความไม่รู้ให้เป็นความรู้ อยากรู้คำตอบเรื่องอะไรก็ไปหามาอ่าน โดยการอ่านหนังสือ-นิยาย จะไม่เหมือนกับข้อมูลข่าวสารที่รู้-อ่าน เพราะสามารถกล่อมเราได้ด้วยความประณีต ละเอียดลออ อารมณ์ ศิลปะของภาษา รวมถึงได้ความรู้ ซึ่งข้อมูลอย่างเดียวไม่ได้บอกอะไรเราแบบเดียวหนังสือหรือนิยาย

ผมโตมาจากการอ่าน ไม่เคยเรียนการเขียน แต่ผมอ่านจนเขียนได้นี่คือประโยชน์ วิธีที่ดีที่สุดของนักเขียนที่ดีคือต้องอ่าน นักเขียนต้องอ่านทุกคน

การเขียนยุคดิจิทัล

สายคอนเทนต์รุ่นเก่า-รุ่นใหม่ จะไปทางไหน ? ในการเขียนยุคดิจิทัล

ยุคนี้คนหันมาอ่านออนไลน์มากขึ้น อย่างที่ประเทศจีนสามารถสร้างรายได้มหาศาล-ตลาดใหญ่ขึ้น ดังนั้น “น้าชาติ” มองว่า นักเขียนหรือสายคอนเทนต์ไม่ว่ารุ่นเก่าหรือใหม่ ควรสร้างให้เป็นโอกาสลุย “ตลาดออนไลน์” เช่นเดียวกัน อาจเขียนเป็นตอน ๆ ให้คนสมัครสมาชิกเข้ามาอ่าน นี่คือการปรับตัวของ “นักเขียนยุคดิจิทัล” สังเกตได้ว่าร้านหนังสือจะเล็กลงเรื่อย ๆ คนเดินน้อยลงเรื่อย ๆ แล้วทยอยจากไป ซึ่งคนในวงการนี้ก็พยายามปรับตัวตามยุคสมัย ซึ่งต้องบอกว่าง่ายกว่าเมื่อก่อนเพราะคนอ่านเข้าถึงงานเขียนได้ง่ายสะดวกกว่า เช่น โพสต์ลงเฟซบุ๊กคนก็เข้ามาอ่านแล้ว หรือเอาไปไว้ในอีบุ๊กให้คนเข้าไปอ่าน ซึ่งประเด็นสำคัญที่ต้องใส่ใจก็คือ สาระแนวคิด สิ่งที่คนอ่านจะได้จากงานเขียนของเรา คุณต้องยืนหยัดทำงานให้ออกมาดี แล้วส่งงานเขียนของเราเผยแพร่ตามช่องทางต่าง ๆ ตอนนี้รายได้งานเขียนในออนไลน์อาจยังไม่มาก แต่เราก็ต้องอินเทรนด์ไปตามกระแสโลก ซึ่งไม่แน่ว่าอาจจะได้เป็น “คนนำขบวน” ในอนาคตอันใกล้ก็ได้

“ชาติ กอบจิตติ” ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี พ.ศ. 2547, นักเขียน 2 รางวัลซีไรต์ และรางวัลช่อการะเกด

ส่วนการที่ยุคดิจิทัลมี AI เข้ามามีส่วนสำคัญในการดำเนินชีวิตของพวกเรานั้น ในเมื่อหลีกเลี่ยงไม่ได้ “น้าชาติ” จึงอยากฝากไว้ว่า เราก็ต้องศึกษา AI ต้องยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น แล้วปรับตัวอยู่ร่วมกับมัน ซึ่งอีก 20 ปี AI อาจเป็นสิ่งล้าสมัยไปแล้วก็ได้ เหมือนกับโควิด-19 ตอนระบาดใหม่ ๆ เราก็ตื่นตระหนกตกใจกลัว พอเวลาผ่านไปเราก็ปรับตัวได้

กรณีของ AI ก็เหมือนกันเชื่อว่าอีกสัก 20 ปี จะต้องมีอะไรล้ำสมัยกว่านี้ ซึ่งสำคัญที่จำเป็นสำหรับคนยุคดิจิทัลคือ “การปรับตัว” แล้วพร้อมที่จะ “เรียนรู้” จากนั้นหลอกใช้มันเท่าที่หลอกใช้ได้ สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วเราต้องนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ มีแล้วไม่ใช้ไม่เกิดประโยชน์ เพียงแต่อย่าตกเป็นทาสของมัน ที่ต้องพึ่งพิงเทคโนโลยีทุกอย่าง

“ชาติ กอบจิตติ” รางวัลที่ได้รับ :
• เรื่องสั้น “ผู้แพ้” รางวัลช่อการะเกด ปี 2522
• นวนิยายเรื่อง “คำพิพากษา” รางวัลซีไรต์ ปี 2525
• นิยายเรื่อง “เวลา” รางวัลซีไรต์ ปี 2537

ช่างภาพวิดีโอและภาพนิ่ง
- ภคบดี มีพร้อมพันธ์
- กฤติน รัตนเสนีย์

🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

🌏 “รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

วันนักเขียนไทยนักเขียนนักเขียนยุคดิจิทัลคอนเทนต์ยุคดิจิทัลThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Thai PBS On This Dayวันสำคัญ
จิราภพ ทวีสูงส่ง
ผู้เขียน: จิราภพ ทวีสูงส่ง

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส / Specialist Contents / Journalist / Writer / Creative Copywriter / Proofreader Lover : (FB : เซบา บาสตี้)

บทความ NOW แนะนำ