รำลึก จิตร ภูมิศักดิ์ เสียชีวิต 5 พฤษภาคม 2509


ประวัติศาสตร์

5 พ.ค. 67

Thai PBS Digital Media

Logo Thai PBS
รำลึก จิตร ภูมิศักดิ์ เสียชีวิต 5 พฤษภาคม 2509

"ขอเยาะเย้ย ทุกข์ยากขวากหนามลำเค็ญ คนยังคง ยืนเด่นโดยท้าทาย"

นี่คือเนื้อความท่อนหนึ่งในบทเพลง "แสงดาวแห่งศรัทธา" เพลงของ "จิตร ภูมิศักดิ์" ชายที่ตายไปแล้วกว่า 50 ปี แต่ได้รับการยกย่องว่าเป็นกวีและเป็นปราชญ์ที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนในยุคต่อมา

แสงดาวแห่งศรัทธา เป็นเพลงที่ประพันธ์โดย จิตร ภูมิศักดิ์ ในช่วงปี พ.ศ. 2503-2505 ขณะถูกขังอยู่ที่คุกลาดยาว โดยใช้นามปากกาว่า "สุธรรม บุญรุ่ง" ต่อมาเพลงนี้ถูกนำมาขับร้องโดยวงคาราวานในช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ และเป็นที่รู้จักกันทั่วไป เป็นเพลงที่ใช้ปลุกพลัง ความหวัง และศรัทธา ได้เป็นอย่างดี

เพลงนี้แสดงลักษณะการมองโลกในแง่ดีของจิตร ถึงแม้ว่าจะถูกจับกุมคุมขัง แต่ก็ยังมองเห็นความหวัง ฟ้าทั้งผืนแม้จะมืดมิด แต่ก็ยังมีดาวดวงน้อยแซมแต้ม การจับกุมคุมขัง มิใช่การสิ้นสุดบทบาทของชีวิต เมื่อมองเห็นความหวังแล้ว ก็มีพลังศรัทธาในการที่จะทำงานเพื่อผลประโยชน์ของสาธารณชนอีกต่อไปอย่างเชื่อมั่น ความเป็นจริงจะต้องปรากฏสักวันหนึ่งว่าใครทำอะไรเพื่อใคร
ผลงานและแนวคิดของเขายังคงถูกศึกษาและถูกกล่าวถึง ชื่อของเขาได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความหวังของนักต่อสู้และผู้เคลื่อนไหวทางการเมือง ในทุกยุค ทุกสมัย จนถึงปัจจุบัน

จิตร ภูมิศักดิ์ เกิดเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2473 ที่ตำบลประจันตคาม อำเภอประจันตคามจังหวัดปราจีนบุรี บิดา คือ นายศิริ ภูมิศักดิ์  ซึ่งเป็นนายตรวจสรรพสามิต มารดา คือ นางแสงเงิน (ฉายาวงศ์) มีพี่สาว 1 คน ชื่อ ภิรมย์ ซึ่งในขณะนั้น บิดารับราชการที่อำเภอประจันตคาม
   
เนื่องจากบิดาต้องย้ายไปรับราชการยังจังหวัดต่าง ๆ ทำให้จิตร ภูมิศักดิ์ ต้องย้ายสถานศึกษาชั้นประถมศึกษาไปจังหวัดต่าง ๆ คือกาญจนบุรี สมุทรปราการ และพระตะบอง (กัมพูชา) เมื่อประเทศไทยต้องคืนดินแดน 4 จังหวัดนี้ให้แก่ฝรั่งเศสจึงกลับมาศึกษาชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตรโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาและเข้าศึกษาต่อคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จิตรชอบอ่านและเขียนหนังสือตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นมัธยม จากบันทึกประจำวันในวัยเยาว์ของเขาจะเห็นได้ว่า เขานิยมชมชอบศิลปวัฒนธรรมไทยมาโดยตลอด และสนใจอ่านหนังสือ โบราณวัตถุ พงศาวดารกัมพูชา ตำนานอักษรไทย ประชุมจารึกสยาม เป็นต้น เขาเคยเขียนเรื่อง "กำเนินลายสือไทย" ลงในหนังสือพิมพ์ "เยาวศัพท์" ของคณะสมาคมนักเรียนแห่งประเทศไทย และเขาได้เขียน "วิทยานุกรม" อันเป็นงานในลักษณะสารานุกรม พจนานุกรม แต่ยังไม่แล้วเสร็จ นอกจากนั้นยังเขียนบทความทางภาษาและวรรณคดีลงในหนังสือ เช่น ปาริชาติ วงวรรณคดี วิทยาสาร เป็นต้น

เขาได้เขียนบทความทางศิลปวิจารณ์จำนวนมากเพื่อต่อสู้และพิสูจน์ว่า "ศิลปะเพื่อศิลปะ" เป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง งานในช่วงนี้ของเขานอกจากจะทำหน้าที่ดังกล่าวนั้นแล้ว ยังได้เสนอหลักการและวิธีสร้างสรรค์ "ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน" ออกมาอย่างเป็นระบบค่อนข้างรอบด้าน บทความทางศิลปะและวรรณคดีวิจารณ์ที่ต่อมารวมเป็นเล่มชื่อ ศิลปเพื่อชีวิต ศิลปเพื่อประชาชน นั้นเป็นที่ยอมรับกันในปัจจุบันว่าเป็นหนังสือที่มีอิทธิพลมากเล่มหนึ่งต่อนักศึกษาและนักวิจารณ์ศิลปวรรณคดี ตลอดทั้งนักประพันธ์และกวีร่วมสมัย

เมื่อ พ.ศ. 2496 เขาได้รับตำแหน่งเป็นสาราณียกรของสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รับผิดชอบจัดทำหนังสือของมหาวิทยาลัย ฉบับ 23 ตุลาคม วันปิยมหาราชเนื่องจากเขาเห็นว่าก่อนหน้านั้น หนังสือนี้มีรูปแบบและเนื้อหาที่ซ้ำซากเหมือนกันแทบทุกปี เขาจึงจงใจจะทำให้หนังสือเล่มนั้นแปลกแหวกแนวไปจากเดิมทั้งในด้านรูปแบบและเนื้อหาในทางเนื้อหาที่เป็นเรื่องซึ่งจิตรเขียนเอง มีบทร้อยกรอง "เธอคือหญิงรับจ้างแท้ใช่แม่คน" ใช้นามปากกา "ศูลภูวดล" บทความขนาดยาว ชื่อ "พุทธปรัชญาแก้สภาพสังคมตรงกิเลสวัตถุนิยมไดอะเล็คติค แก้สภาพสังคมที่ตัวสังคมเองและแก้ได้ด้วยการปฏิวัติมิใช่ด้วยการปฏิรูปตามแบบของสิทธารถปรัชญาวัตถุนิยมไดอะเล็คติค กับปรัชญาของสิทธารถผิดกันอย่างฉกรรจ์ที่ ตรงนี้ โดยใช้นามปากกาว่า "นาครทาส" บทความนี้ต่อมารู้จักกันในชื่อสั้น ๆ ว่า "ผีตองเหลือง" และเรื่องสั้นชื่อ "ขวัญเมือง" อันเป็นนิยายสั้นทางการเมืองที่สะท้อนภาพของผู้หญิงในอุดมคติของจิตร ภูมิศักดิ์ นอกจากนั้นก็มีข้อข้อเขียนของคนอื่น เช่น ศรีวิภา ชเอม เขียนเรื่อง แปรวิถี เกี่ยวกับความคิดของนักปฏิวัติในฝรั่งเศส บทแปลของ วรรณี นพวงศ์ฯ อันเป็นการเปิดโปงการค้าฝิ่น

และการโกงกินในวงการรัฐบาลไทย ซึ่งหนังสือพิมพ์ต่างประเทศนำไปเขียน เป็นต้น แต่ทางมหาวิทยาลัยกลับเห็นว่า "มีข้อความบางอันเป็นบทความซึ่งทำลายทั้งชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ ได้ตำหนิติเตียนแนวทางในเรื่องต่าง ๆ ซึ่งเป็นการกระทำให้แตกความสามัคคีกันในหมู่ประชาชน และว่าถึงพุทธศาสนา อันเป็นศาสนาประจำชาติของเราว่าเปรียบเสมือนศรีธนญชัย"

ทางมหาวิทยาลัยและนิสิตบางกลุ่มจึงเคลื่อนไหวให้มีการซักฟอกสอบสวนกันในหอประชุมจุฬาฯ จิตรได้ขึ้นชี้แจงถึงความเป็นจริงของบทความและเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยให้ยินยอมจัดพิมพ์หนังสือออกมาเพื่อพิสูจน์คำพูดของเขา แทนที่จะกล่าวประนามฝ่ายเดียวโดยที่นิสิตทั้งหมดไม่มีโอกาสเห็นต้นฉบับเลย แต่ทางมหาวิทยาลัยไม่เห็นด้วย ในขณะที่เหตุการณ์กำลังตึงเครียด นิสิตกลุ่มหนึ่งเข้ามาทางด้านหลังแล้วจับจิตรโยนลงจากเวที ทำให้เขาต้องเข้าโรงพยาบาลแล้วยังทำให้เขาถูกพักการเรียน และเสียเวลาไปถึง 2 ปี

ระหว่างที่เขาถูกพักการเรียน จิตรได้ไปสอนหนังสือที่โรงเรียนอินทรศึกษาอยู่ระยะหนึ่ง แล้วจึงไปทำงานหนังสือพิมพ์ไทยใหม่ ซึ่ง สุภา สิริมานนท์เป็นรองผู้อำนวยการ และเขียนให้ พิมพ์ไทย ซึ่ง ทวีป วรดิลกทำงานอยู่ ปี พ.ศ. 2498 เขากลับเข้าเรียนอีกครั้งและสำเร็จปริญญาอักษรศาสตร์บัณฑิตในปี พ.ศ. 2500 จากนั้นก็เข้าเป็นอาจารย์ที่วิทยาลัยเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์และศึกษาต่อระดับ

ปริญญาโทที่วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร จนกระทั่งถูกจับในข้อหา “สมคบกันกระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายใน และภายนอกราชอาณาจักรและกระทำการเป็นคอมมิวนิสต์“ เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2501 เขาถูกคุมขังอยู่จนถึงเดือนธันวาคม 2507 จึงได้รับการปลดปล่อยและพ้นจากข้อหาของทางการ เนื่องจากเขาถูกติดตามคุกคามจากทางการเจ้าหน้าที่บ้านเมืองอย่างหนักทำให้เขาต้องตัดสินใจ ”เข้าป่า” จิตรถูกยิงเสียชีวิตที่อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2509

แท็กที่เกี่ยวข้อง

วันนี้ในอดีตจิตร ภูมิศักดิ์
ผู้เขียน: Thai PBS Digital Media

บทความ NOW แนะนำ