พืชชนิดใหม่ของโลก ! “เปราะอาจารย์สุมนต์” พืชถิ่นเดียวในไทย จาก จ.สกลนคร


วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

5 พ.ค. 67

จิราภพ ทวีสูงส่ง

Logo Thai PBS
พืชชนิดใหม่ของโลก ! “เปราะอาจารย์สุมนต์” พืชถิ่นเดียวในไทย จาก จ.สกลนคร

พืชชนิดใหม่ของโลก ! “เปราะอาจารย์สุมนต์” สกุลเปราะ วงศ์ขิง จากจังหวัดสกลนคร ประเทศไทย โดยมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Kaempferia sakolchaii P.Saensouk, Saensouk & Boonma จัดเป็นพืชหายากและมีสถานะพืชถิ่นเดียวของไทย

งานวิจัยโดยรองศาสตราจารย์ ดร.สุรพล แสนสุข จากหลักสูตรความหลากหลายทางชีวภาพ สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, รองศาสตราจารย์ ดร.ปิยะพร แสนสุข จากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, นายธวัชพงศ์ บุญมา จากหลักสูตรความหลากหลายทางชีวภาพ สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยนักวิจัยทั้งสามเป็นสมาชิกของหน่วยวิจัยความหลากหลายพืชวงศ์ขิง และพืชที่มีท่อลำเลียงเพื่อการประยุกต์ (Diversity of Family Zingiberaceae and Vascular Plant for Its Applications Research Unit) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

เปราะอาจารย์สุมนต์ ภาพจาก รศ. ดร.สุรพล แสนสุข

ร่วมกับ ดร.ศรายุทธ รักอาชา จากสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปฐมทรรศน์ ศรีสุข จากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ Dr. Vincent O. Imieje จากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเบนิน (University of Benin) ประเทศไนจีเรีย ผลงานพืชชนิดใหม่นี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดยได้รับการตีพิมพ์และเผยแพร่ในวารสารระดับนานาชาติ

ทีมวิจัย "เปราะอาจารย์สุมนต์"

ที่มาของการตั้งชื่อ “เปราะอาจารย์สุมนต์”

สำหรับการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์และชื่อสามัญเพื่อเป็นเกียรติแก่ รองศาสตราจารย์ ดร.ภก.สุมนต์ สกลไชย ผู้เชี่ยวชาญด้านเภสัชศาสตร์ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก มีคุณรูปการณ์ในการสนับสนุนนักวิจัย และงานวิจัยทั้งในด้านพฤกษศาสตร์และเภสัชพฤกษศาสตร์ ท่านเคยดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น นายกสภาเภสัชกรรมแห่งประเทศไทย และคณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปัจจุบันท่านดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยบูรพา จึงได้ขออนุญาตท่านตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ตามนามสกุลของท่าน และชื่อสามัญตามชื่อของท่าน

“เปราะอาจารย์สุมนต์” มีลักษณะเด่นที่สวยงาม คือ มีใบเพียงใบเดียว ใบรูปไข่แคบจนถึงรูปไข่กว้าง ใบด้านบนมีลวดลายใบเป็นแถบสีเขียวเข้มสลับสีเงินหรือสีขาวตามแนวยาวของเส้นใบ มีจุดสีดำกระจายทั่วบริเวณขอบใบ ด้านหลังใบมีสีเขียวอ่อนกว่าด้านหน้าใบ รยางค์อับเรณูขนาดประมาณ 6 × 3 มิลลิเมตร ปลายแยกเป็นสองพู แต่ละพูแยกเป็นพูย่อย 4 พู รังไข่ขนาดประมาณ 3 × 2 มิลลิเมตร และมีต่อมน้ำหวานยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร ผลิตช่อดอกหลังจากใบโตเต็มที่

ภาพลายเส้น เปราะอาจารย์สุมนต์ ภาพจากนายธวัชพงศ์ บุญมา

ในพืชสกุลเปราะ (Kaempferia genus) แบ่งออกเป็นสองสกุลย่อย ประกอบด้วยสกุลย่อยดอกดิน (subgenus Protanthium) ซึ่งจะมีช่อดอกเกิดจากเหง้าก่อนที่จะมีใบ  และสกุลย่อยเปราะหอม (subgenus Kaempferia) จะมีช่อดอกหลังจากที่มีใบแล้ว ช่อดอกเกิดระหว่างกาบใบ “เปราะอาจารย์สุมนต์” จึงถูกจัดอยู่ในสกุลย่อยเปราะหอมเนื่องจากมีช่อดอกหลังจากที่มีใบ

ในปัจจุบันสกุลย่อยเปราะหอม (subgenus Kaempferia) ทั่วโลกมีมากกว่า 30 ชนิด แต่ที่มีใบเพียงใบเดียวมี 7 ชนิด ประกอบด้วย

 1. เปราะใบยักษ์ (K. gigantiphylla Picheans. & Koonterm) 
 2. ตูบหมูบอีสาน (K. isanensis Saensouk & P.Saensouk)
 3. ว่านเปราะใบเดียว (K. picheansoonthonii Wongsuwan & Phokham)
 4. กระชายดำเทียม (K. pseudoparviflora Saensouk & P.Saensouk)
 5. เปราะอาจารย์สุมนต์ (K. sakolchaii P.Saensouk, Saensouk & Boonma)
 6. เปราะสยาม (K. siamensis Sirirugsa)
 7. ตูบหมูบใบเดียว (K. unifolia Saensouk & P.Saensouk)

ในขณะที่บางชนิดในสกุลย่อยเปราะหอมที่มีหลายใบแต่สามารถผลิตช่อดอกได้ขณะที่มีใบเพียงใบเดียวมี 2 ชนิด ได้แก่ ว่านนกคุ้ม (K. elegans Wall.) และกระชายดำ (K. parviflora Wall. ex Baker).

ภาพถ่ายเปราะอาจารย์สุมนต์ ภาพจาก รศ. ดร.สุรพล แสนสุข

การมีลวดลายใบเป็นแถบสีเขียวเข้มสลับสีเงินหรือสีขาวตามแนวยาวของเส้นใบทำให้ “เปราะอาจารย์สุมนต์” (K. sakolchaii) มีความคล้ายกับเปราะอัตตะปือ (K. attapeuensis Picheans. & Koonterm) และเปราะน้อย (K. minuta Jenjitt. & K.Larsen) แต่ทั้งสองชนิดดังกล่าวมีดอกสีชมพู  มีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน (lateral staminodes) อยู่ในระนาบเดียวกันกับกลีบปาก (labellum) ในขณะที่ “เปราะอาจารย์สุมนต์” มีดอกสีขาวม่วงและเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันตั้งขึ้นไม่ได้อยู่ในระนาบเดียวกันกับกลีบปาก จึงทำให้เปราะอาจารย์สุมนต์แตกต่างอย่างชัดเจนจากทั้งสองชนิดดังกล่าวทั้งการมีใบเดียว และลักษณะของดอก

“เปราะอาจารย์สุมนต์” พบในป่าเต็งรัง และป่าผลัดใบ ที่ระดับความสูงประมาณ 300-400 เมตร จากระดับน้ำทะเล ในดินร่วนปนทรายและหิน โดยจะออกดอกในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนกรกฎาคม ปัจจุบันพบแค่ในพื้นที่จังหวัดสกลนครเท่านั้น จึงทำให้นอกจากเป็นพืชหายากแล้ว ยังมีสถานะเป็นพืชถิ่นเดียว (Endemic species) ของไทยอีกด้วย


🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 
 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เปราะอาจารย์สุมนต์พืชชนิดใหม่ของโลกพฤกษศาสตร์วิทยาศาสตร์นักวิทยาศาสตร์นักวิจัยไทยThai PBS Sci & Tech Thai PBS Sci And Tech Science
จิราภพ ทวีสูงส่ง
ผู้เขียน: จิราภพ ทวีสูงส่ง

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส / Specialist Contents / Journalist / Writer / Creative Copywriter / Proofreader Lover : (FB : เซบา บาสตี้)

บทความ NOW แนะนำ