EN

แชร์

Copied!

“การเข้าถึงความจริงของนโยบายเป็นสิทธิของพลเมือง” Policy Watch ชวนจับตา ที่หาเสียงมา เท็จหรือทิพย์?

3 ก.ค. 6812:07 น.
“การเข้าถึงความจริงของนโยบายเป็นสิทธิของพลเมือง” Policy Watch ชวนจับตา ที่หาเสียงมา เท็จหรือทิพย์?
Policy Watch ชวนจับตา ความเคลื่อนไหวและความจริงของนโยบาย หัวข้อ “เราเช็กได้ ! นโยบายเท็จหรือทิพย์” เผยความจริงที่หลากหลายมุมมองของนโยบายสาธารณะ

 

“เวลาเลือกตั้ง เราตัดสินใจเลือกคนหรือพรรค จากสาเหตุอะไร?” 

นี่คือคำถามที่ชวนคิดจาก อรุชิตา อุตมะโภคิน ผู้จัดการกลุ่มงานด้านนวัตกรรมการสื่อสาร The Active – Thai PBS ได้ตั้งโจทย์ไว้ ก่อนจะพาทุกคนไปเห็นภาพการทำงานของสื่อมวลที่ติดตามนโยบายการเมืองและนโยบายสาธารณะอย่างใกล้ชิด บนเวที Thai PBS Verify Talk #ฟีดนี้ไม่มีข่าวลวง เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.68 ที่ผ่านมา

พลังของพลเมืองเกิดขึ้นตั้งแต่วินาทีแรกที่จรดปลายปากลง ณ คูหา และการรับรู้ถึงความเคลื่อนไหว และความโปร่งใสของนโยบายของพรรค ที่ได้เข้าไปทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชนนั้น จึงเป็นสิทธิของพลเมืองทุกคนที่ต้องเข้าถึงชุดข้อมูลที่เท็จจริง

กว่า 2 ปี ตั้งแต่มีการเลือกตั้งเมื่อปี 2566 Policy Watch ได้เริ่มก่อตัวตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เป็นเครื่องมือติดตามนโยบายการเมือง และนโยบายสาธารณะภายใต้ปีกของ Thai PBS เพื่อส่งต่อความจริงและติดตามต้นสายไปจนถึงปลายน้ำของนโยบายแก่สาธารณชน 

เผยความจริงที่หลากหลายมุมมองของนโยบายสาธารณะ

ตัวแทนจาก Policy Watch พูดถึงการทำงานกับนโยบายที่มี “ความจริงหลายชุด” ซึ่งหมายถึง นโยบายที่มีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา รวมถึงการมีผู้ได้รับประโยชน์และผู้เสียประโยชน์จากนโยบายเดียวกัน อรุชิตา ยกตัวอย่างให้เห็นภาพการติดตามนโยบายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นว่ามีหลากหลายมิติเสมอ เช่น

นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต เป็นอีกหนึ่งนโยบายมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการให้เงินหมื่นบาท อย่างไรก็ตาม Policy Watch พบว่า นโยบายนี้เผชิญข้อจำกัดหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นข้อจำกัดด้านการใช้จ่ายงบประมาณ การควบคุมการใช้เงินอย่างรัดกุม ตลอดจนการปรับเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายที่ไม่ตรงกับช่วงหาเสียงเดิม เนื้อหาที่ถูกเปิดเผยผ่านการตรวจสอบของ Policy Watch ช่วยให้เราเห็นความจริงจากหลากหลายแง่มุมของนโยบายนี้

นโยบายคาร์บอนเครดิต เป็นนโยบายที่ฟังดูเหมือนจะเป็นเรื่องดีในยุคที่สภาพภูมิอากาศกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง อย่างไรก็ตาม การดำเนินนโยบายนี้กลับส่งผลกระทบต่อบางกลุ่ม เช่น กลุ่มเกษตรกร ที่เริ่มมีเสียงทักท้วง และเสนอให้ปรับปรุงนโยบายให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น ซึ่ง Policy Watch ได้เปิดเผยเนื้อหานโยบายนี้เพื่อให้สังคมมองเห็นความจริงในอีกด้านหนึ่งในเว็บไซต์

นโยบายจัดการภัยพิบัติ แม้ในคำแถลงนโยบายของนายกรัฐมนตรีจะไม่ได้กล่าวถึงคำนี้อย่างชัดเจน แต่หากพิจารณาการดำเนินนโยบายของภาครัฐจะพบว่ามีหน่วยงานที่รับผิดชอบอยู่แล้ว เช่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และยังมีแผนแม่บทเพื่อรับมือกับภัยพิบัติ แต่ Policy Watch พบว่า ข้อมูลเบื้องหลังหลายนโยบายชี้ให้เห็นถึงการดำเนินงานที่ซับซ้อน และไม่อาจประเมินได้เพียงจากคำพูดของฝ่ายการเมืองเท่านั้น เพราะการพูดถึงนโยบายสาธารณะควรพิจารณาจากทุกมิติที่เกี่ยวข้อง

ตรวจสอบนโยบายแบบ Policy Watch

สำหรับขั้นตอนการตรวจสอบนโยบายของ Policy Watch จะไม่สามารถอาศัยเครื่องมือเช่นการ Fact Check ได้ แต่จะอาศัยความร่วมมือจากฝ่ายวิจัยของ Thai PBS ในการรวบรวมข้อมูลตั้งแต่ช่วงหาเสียงการเลือกตั้งเมื่อปี 2566 และติดตามต่อในช่วงการจัดตั้งรัฐบาล รวมถึงการแถลงนโยบายของนายกรัฐมนตรี โดยนโยบายถูกรวบรวมและจัดหมวดหมู่เป็น 8 หมวดหลัก อ้างอิงจากคำแถลงนโยบายของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน เป็นต้นมา

ไม่เพียงติดตามเฉพาะจากแถลงการณ์ของรัฐบาลเท่านั้น แต่ยังย้อนกลับไปดูพัฒนาการของนโยบายในอดีต เช่น นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค พร้อมอัปเดตเนื้อหาให้สะท้อนสถานะการดำเนินการล่าสุด ของแต่ละนโยบาย ของแต่ละรัฐบาล โดยจัดทำในรูปแบบไทม์ไลน์เพื่อให้ประชาชนสามารถย้อนดูข้อมูลได้อย่างครบถ้วน

นอกจากนี้ยังมีการวิเคราะห์นโยบายในแง่มุมต่าง ๆ เช่น ความคุ้มค่า ข้อดีข้อเสีย และเผยแพร่ในรูปแบบบทความหรือบทวิเคราะห์ รวมถึงจัดเวทีเปิดพื้นที่รับฟังเสียงจากผู้ได้รับผลกระทบ และระดมความคิดเห็นจากภาคประชาสังคม

ในส่วนของกระบวนการติดตามนโยบาย Policy Watch อาศัยการทำงานร่วมกันของนักข่าว นักวิจัย และทีมมอนิเตอร์ข้อมูล โดยต้องมีการตรวจสอบข้อมูลหลายรอบ เนื่องจากนโยบายอาจมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

การรับรู้ความโปร่งใสนโยบายคือสิทธิของพลเมือง

การมีส่วนร่วมและการรับรู้ความเคลื่อนไหว การดำเนินการและข้อเท็จจริงของนโยบายจากภาครัฐเป็นสิทธิของพลเมืองทุกคน Policy Watch จึงกลายมาเป็นเครื่องมือที่ออกแบบมาเพื่อให้ประชาชน มองเห็นภาพรวมนโยบายสาธารณะอย่างชัดเจน ครอบคลุมตั้งแต่ ขั้นตอนการดำเนินนโยบาย จุดเริ่มต้นของการพูดถึงนโยบายแต่ละฉบับ ไปจนถึงการตรวจสอบว่า นโยบายเหล่านั้นมาจากไหน ดำเนินการไปถึงขั้นตอนใด และประสบความสำเร็จหรือยัง 

อีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญคือ Policy Analysis Canvas ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง Thai PBS กับแพลตฟอร์มนโยบายต่างประเทศ และนักวิชาการด้านนโยบายสาธารณะ โดยวัตถุประสงค์คือการวิเคราะห์ความคาดหวังของประชาชนที่มีต่อนโยบายเหล่านั้นอย่างเป็นระบบ

นอกจากนี้ยังมี Policy Forum เป็นอีกหนึ่งกระบวนการหลักของ Policy Watch โดยจัดมาแล้วกว่า 50 ครั้ง พร้อมภาคีเครือข่ายจากหลากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน และภาคประชาสังคม โดยเนื้อหาที่เกิดขึ้นในการแลกเปลี่ยนจากเวทีเหล่านี้ ได้กลายเป็น Original Content ที่สะท้อนมุมมองตรงจากพื้นที่จริง และนำไปสู่การจัดทำ ข้อเสนอเชิงนโยบาย รวมถึงแนวทางผลักดันให้นโยบายเหล่านั้นเกิดผลในทางปฏิบัติจริง

อีกทั้งยังมี แอปพลิเคชันติดตามนโยบาย (Feature Policy) ซึ่งเป็นระบบสมาชิกที่เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปสามารถติดตามความคืบหน้านโยบายต่าง ๆ ที่ตนเองสนใจ รวมถึงสามารถแสดงความเห็น หรือเลือกติดตามนโยบายที่สนใจได้โดยตรงผ่านแพลตฟอร์ม

อรุชิตา กล่าวว่า นโยบายวาระทางสังคม คืออีกมิติหนึ่งที่เกิดจากกระบวนการ Policy Forum ซึ่งเปิดพื้นที่ให้กับนโยบายที่ไม่เคยได้รับการผลักดันหรือบรรจุอยู่ในวาระของภาครัฐมาก่อน ได้มีพื้นที่แสดงออก ทั้งในรูปแบบของเวทีสาธารณะ หรือการนำเสนอผ่านรายการต่าง ๆ ของ Thai PBS ที่ช่วยรวบรวมนโยบายที่ได้รับการพูดถึงบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง

“ในช่วงวิกฤตทางการเมืองที่ยังมีหลายนโยบายที่รอการแก้ไข Policy Watch จึงทำหน้าที่เป็นตัวกลาง ที่รวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริง และความคิดเห็น เพื่อเชื่อมโยงนโยบายกับชีวิตของผู้คน”

เราหวังว่าเครื่องมือนี้จะกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญของการตัดสินใจทางการเมือง โดยเฉพาะในการเลือกตั้งครั้งต่อไปในอีกสองปีข้างหน้า เพราะในโลกของนโยบายสาธารณะ มีทั้ง “ความจริงเชิงข้อเท็จจริง” เช่น สถิติ ความคืบหน้าตามตัวชี้วัด และ “ความจริงเชิงประสบการณ์” ที่มาจากเสียงสะท้อนของผู้ได้รับผลกระทบจริง Policy Watch จึงทำหน้าที่เป็นผู้เชื่อมต่อจิ๊กซอว์สองชิ้นนี้ เข้าด้วยกัน

“เรายึดมั่นว่าพลังของพลเมือง คือพลังขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ที่แท้จริง”

อ่านเนื้อหากิจกรรมงาน Thai PBS Verify Talk เพิ่มเติมได้ที่ : https://www.thaipbs.or.th/verify/article/content/2773

รับชมภาพบรรยากาศภายในงาน และสามารถรับชมเวทีทอล์กทั้ง 12 หัวข้ออีกครั้งได้ทาง www.thaipbs.or.th/VerifyTalk2025

“ตรวจสอบข่าวปลอม คัดกรองข่าวจริง” กับ Thai PBS Verify ได้ที่
.
• Website : www.thaipbs.or.th/Verify
• Facebook : www.facebook.com/ThaiPBSVerify
• IG : www.instagram.com/ThaiPBSVerify
• TikTok : www.tiktok.com/@ThaiPBSVerify
• LINE : www.thaipbs.or.th/LINEVerify