ท่ามกลางข้อมูลมหาศาลในปัจจุบันที่หาได้ง่าย ๆ แค่ปลายนิ้ว การรับรู้ของผู้คนจึงอาจไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยข้อเท็จจริงเสมอไป หากแต่อาจกำลังถูกชักนำด้วย “ข่าวลวง” ที่แนบเนียน รวดเร็ว งาน Thai PBS Verify Talk #ฟีดนี้ไม่มีข่าวลวง จึงเกิดขึ้นโดย Thai PBS Verify ที่มีเป้าหมายสำคัญเพื่อสร้าง “พื้นที่ปลอดภัยทางข้อมูล” พร้อมรวบรวมผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐ สื่อมวลชน และนักวิชาการจำนวน 13 ท่าน มาร่วมถอดรหัสภัยข่าวปลอมรวมถึงภัยจาก AI Deepfake ที่แฝงตัวอยู่บนหน้าฟีดของเราในทุกวัน
1. ปรับตัวอย่างไรในยุค AI ถูกใช้ขับเคลื่อนโลก
รศ. ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือ ส.ส.ท. กล่าวถึงการรับมือของ Thai PBS ต่อเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในงาน Thai PBS Verify Talk #ฟีดนี้ไม่มีข่าวลวง ว่า AI มีผลต่อสิทธิเสรีภาพ, ความเท่าเทียม และการเข้าถึงข้อมูลอย่างเป็นธรรม โดยเฉพาะเมื่อแนวคิดเรื่อง “ความมั่นคงทางปัญญา” เริ่มถูกพูดถึงมากขึ้นในแวดวงการวางแผนยุทธศาสตร์ระดับประเทศ เราจึงต้องตั้งคำถามอย่างจริงจังว่า ใครกำหนดทิศทางของ AI และใครได้ประโยชน์

รศ. ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือ ส.ส.ท.
เวทีวันนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเรากำลังอยู่ในช่วงเวลาที่ทั้งเทคโนโลยีและการเมือง ต่างก็เคลื่อนไหวอย่างซับซ้อน และ AI ก็ไม่ได้รอให้เราตั้งรับ แต่ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างของสังคม และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับข้อมูล
ทั้งนี้ต้องยอมรับว่า AI กำลังกลายเป็นอิทธิพลเงียบที่แทรกซึมในชีวิตของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพ, ปากท้อง, รายได้ ไปจนถึงการเมือง ที่เรากำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ หลายคนต่างรู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนของเทคโนโลยี ที่แฝงตัวอยู่ในทุกมิติของสังคม ซึ่งอย่างที่เราทราบและสัมผัสได้คือ สังคมไทยกำลังอยู่ในช่วงของความไม่แน่นอนทางการเมือง ที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง และในสถานการณ์เช่นนี้ เทคโนโลยีอย่าง AI ก็ถูกนำมาใช้สร้างและกระจายข่าวลวงจำนวนมาก ซ้ำร้ายยังพาเราเข้าไปอยู่ใน “ห้องเสียงสะท้อน” หรือ Echo Chamber ที่จำกัดมุมมอง และทำให้เรารับรู้ข้อมูลเพียงด้านเดียว ประชาชนในเวลานี้ต่างโหยหาคำตอบที่ชัดเจนและเชื่อถือได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับเป็นความไม่ไว้วางใจต่อสถาบันการเมืองต่าง ๆ ที่เริ่มเปราะบางลงทุกขณะ ความเชื่อมั่นที่เคยมีกลายเป็นสิ่งหายากในสังคมปัจจุบัน
ทำให้ “ความเชื่อมั่น” กลายเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดในสังคม และในหลายกรณี มันกลับกลายเป็นคำถามที่ไม่มีใครกล้าตอบได้อย่างมั่นใจว่า เราจะฟื้นฟูความเชื่อมั่นนี้ได้อย่างไรในโลกที่ความจริงและเท็จแทบจะแยกไม่ออก
Thai PBS Verify คือความพยายามของเครือข่ายของ Thai PBS ในการร่วมกันปกป้องความจริงในยุค AI โครงการนี้เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา แต่ในความเป็นจริง ได้มีการทำงานร่วมกับเครือข่ายมาตั้งแต่ปี 2567
ทีมงานมีความมุ่งมั่นที่จะยกระดับบริการนี้ให้เทียบเคียงกับ มาตรฐาน IFCN (International Fact-Checking Network) ภายในปลายปี 2568 ซึ่งต้องขอชื่นชมกับความก้าวหน้าเหล่านี้อย่างยิ่ง เพราะเป็นการก้าวที่สำคัญของสื่อสาธารณะ ในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ Thai PBS ต้องเผชิญในขั้นตอนต่อไป ไม่ใช่เพียงการรับมือกับข่าวปลอมที่เกิดจากมนุษย์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงข่าวปลอมที่ถูกผลิตซ้ำด้วย AI ซึ่งมีความเร็ว, ความแนบเนียน และซับซ้อนมากขึ้น การทำงานจึงต้องเข้มข้นกว่าเดิม ทั้งในด้านการตรวจสอบข้อมูลที่บิดเบือน และการวิเคราะห์เนื้อหาที่สร้างขึ้นด้วยเทคโนโลยี AI โดยเฉพาะในรูปแบบของ Deepfake
“เราต้องทำงานหนักมากขึ้น ไม่เพียงตรวจสอบข้อมูลที่คลาดเคลื่อน และบิดเบือนเท่านั้น แต่ต้องวิเคราะห์เนื้อหา ที่สร้างด้วยเทคโนโลยี AI หรือ Deepfake เพื่อบอกประชาชน และนำผลการตรวจสอบเข้ามารายงานอย่างเที่ยงตรงแลโปร่งใส และมากกว่านั้น ร่วมกันกำหนดกรอบแนวปฏิบัติ ด้านจริยธรรมและวิชาชีพสื่อด้วย” รศ. ดร.วิลาสินี กล่าว
นอกจากนี้ Thai PBS Verify ยังมุ่งมั่นในการร่วมกำหนดกรอบแนวปฏิบัติด้านจริยธรรมและวิชาชีพสื่อ เพื่อให้การทำงานของคนทำสื่อมีมาตรฐาน และพร้อมรับมือกับบริบทใหม่ของข้อมูลข่าวสารในยุค AI อย่างมีความรับผิดชอบ
2. ข่าวลือจาก “หน้าจอ” สู่การถ่ายทอดจากความจริง “หน้างาน”
รศ. ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ย้ำถึงบทบาทของ “การสื่อสารในภาวะวิกฤต” โดยระบุว่า ในกรณีที่อยู่ในสภาวะปกติ หากสื่อสารไม่ได้ หรือไม่มีการวางระบบการสื่อสาร ย่อมไม่สามารถที่จะทำให้การสื่อสารสำเร็จลงได้ และยิ่งกรณีที่เกิดภาวะวิกฤต หากไม่สามารถทำให้สภาวะปกติดีตั้งแต่ต้น ย่อมไม่สามารถที่จะทำให้การสื่อสารดีตามได้ ดังนั้นจำเป็นที่จะต้องมีแพลตฟอร์ม ซึ่ง กทม. พยายามแนะนำให้ประชาชนเข้าสู่ข้อมูลเหล่านี้ได้ เพื่อให้ประชาชนทราบว่า ในภาวะปกติประชาชนจะสามารถรับข้อมูลเหล่านี้ได้ในช่องทางใด ส่วนกรณีหากมีการออกสื่อต่าง ๆ ต้องเข้าใจว่าประชาชนจะเลือกฟังรัฐหรือไม่ ก็เป็นเรื่องของประชาชน แต่อย่าให้ภาครัฐไม่เป็นหนึ่งในทางเลือกนั้น

รศ. ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
“ปัญหาของภาวะปกติคือ คนอ่านแล้วฟัง Message แรกเท่านั้น เพราะฉะนั้นจึงมีโอกาสครั้งเดียว สังเกตจากอะไรที่ออกไปสู่โซเชียลแล้ว คำอธิบายที่มาตามหลัง คนดูจะน้อยกว่าอันแรกเสมอ ดังนั้นต้องเตรียมข้อมูลให้พร้อม เอาข้อมูลมาย่อยให้เป็นความรู้ง่าย ๆ ส่งไปสู่สังคมในช่วงที่อยู่ในภาวะปกติ”
สำหรับการจัดการกับข่าวลือ ข่าวลวง แอปพลิเคชัน Traffy Fondue ของ กทม. ถือว่ามีประโยชน์ เพราะสามารถทำให้ กทม. สามารถดูภาพเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้แบบ Real Time รวมถึงนำภาพเหล่านั้นมาเผยแพร่ต่อสื่อหรือประชาชนได้ในทันที ซึ่งในภาวะวิกฤตที่ผ่านมา แม้จะมีข่าวลือต่าง ๆ ออกมา เช่น กรณีของแผ่นดินไหว ที่ลือกันไปว่าตึกทรุดอาคารถล่ม ก็สามารถที่จะตอบกลับไปด้วยข้อมูลแบบ Real Time ได้ในทันที เพื่อขจัดข่าวลือหรือข่าวลวงนั้น ๆ และเมื่อนำความรู้ไปต่อสู้กับข่าวลือ ก็จะทำให้การสื่อสารทำได้ดีขึ้น
3. Deepfake .. ภัยเงียบจาก AI ความท้าทายใหม่ของสื่อ
คุณกนกพร ประสิทธิ์ผล ผู้อำนวยการสำนักสื่อดิจิทัล Thai PBS ได้พูดถึงประเด็นประโยชน์และโทษของ AI Deepfake โดยระบุว่า Deepfake เป็นหนึ่งในเทคโนโลยี AI ที่เป็น Generative AI ซึ่ง Deepfake เป็นการผสมของคำสองคำระหว่าง Deep Learning คือการเรียนรู้ในเชิงลึก และคำว่า Fake หรือ ปลอม โดย Deepfake เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2017 หากแบ่งตามประเภทสามารถแบ่งรูปแบบของ Deepfake ได้เป็น 5 ประเภท ได้แก่
1. Face Swap สลับใบหน้า คือการนำใบหน้าของใครก็ได้มาใส่
2. Voice Cloning เลียนเสียง
3. Synthetic Media สื่อจำลองสร้างใหม่ทั้งหมด คือการสร้างภาพหน้าขึ้นมาใหม่ทั้งหมด
4. Re-enactments การแสดงสีหน้า ขยับปากและท่าทาง ที่ถูกควบคุมโดยบุคคลในวิดีโอต้นทาง คือการใช้แบบคนจริงและทำให้วิดีโอเคลื่อนไหวตาม
5. Text-based Deepfake สร้างข้อความเลียนแบบสไตล์การเขียน หรือวิธีการสื่อสารของบุคคลหนึ่ง โดยใช้แค่ Text ซึ่งเมื่อมีการเปลี่ยนแปลง Text ยังไงก็ตาม AI ก็จะมีการปรับปรุงแก้ไขตาม Text นั้น

กนกพร ประสิทธิ์ผล ผู้อำนวยการสำนักสื่อดิจิทัล Thai PBS
สำหรับข้อดีและข้อเสียของ Deepfake นั้น ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการใช้ โดยข้อดีของ Deepfake หากนำไปถ่ายทอดเนื้อหาในรูปแบบของเชิงบวก ก็สามารถสร้าง Awareness ได้ รวมถึงสามารถลดต้นทุนและทรัพยากรของการผลิต, สร้างแคมเปญที่ดีได้, มอบประสบการณ์เฉพาะบุคคลหรือสิ่งที่ทำได้ยาก และโอกาสในการสร้างแบรนด์หรือรายได้ ขณะที่ข้อเสียของ Deepfake สามารถสร้างข่าวปลอมและข้อมูลบิดเบือน, ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล, เป็นเครื่องมือหลอกลวงหรือแบล็คเมล์ และทำลายความน่าเชื่อถือ
ข้อมูลการเติบโตของ Deepfake Technology จาก surfshark.com พบว่า ปี 2567 จำนวน Deepfake มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปี 2566 ถึง 257% แต่เพียงไตรมาสแรกของปี 2568 มีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 179% ซึ่งเป็นจำนวนยอดแค่เพียงไตรมาสเดียวเพียงเท่านั้น สะท้อนว่าการใช้เทคโนโลยี Deepfake เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งลักษณะของเนื้อหาที่ทำส่วนใหญ่พบว่า วัตถุประสงค์ของการทำ Deepfake ในปี 2566 ถูกใช้ในลักษณะของการฉ้อโกง รองลงมาคือประเด็นการเมือง ในขณะที่ปี 2568 ไตรมาสแรกพบว่า สูงที่สุดคือประเด็นของการทำภาพอนาจาร หรือรูปภาพที่ไม่เหมาะสม

ข้อมูลการเติบโตของ Deepfake Technology จาก surfshark.com
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเราจะพบเจอกับ Deepfake ในหลายรูปแบบ แต่เรายังคงสามารถแยกแยะที่พบได้ เช่น กรณีที่เป็น Audio สามารถสังเกตได้ตั้งแต่ จังหวะการเว้นวรรคของเสียง, ชื่อเฉพาะ-คำศัพท์ ที่ยังไม่เนียน, Monotone ของเสียงที่เป็นเสียงเดียวราบเรียบ และเสียง Background ที่เรียบหรือเงียบผิดปกติ ส่วนการตรวจสอบกรณีที่เป็นคลิปวิดีโอ Deepfake สามารถแยกได้ตั้งแต่ การเคลื่อนไหวของใบหน้าและร่างกาย, การกะพริบตาที่ถี่ไม่เป็นธรรมชาติ, แสงและเงา และใบหน้าและสีผิวไม่เสมอกัน นอกจากนี้เรายังสามารถใช้เครื่องมือต่างในการตรวจสอบ
สำหรับเว็บไซต์ Thai PBS Verify ถือเป็นบริการที่ทำการตรวจสอบ ทั้งข่าวปลอมและ Deepfake ต่าง ๆ พร้อมกับให้ความรู้ในด้านการตรวจสอบข่าวปลอม ด้วยการใช้เครื่องมือต่าง ๆ ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามาใช้บริการรวมถึงศึกษาการตรวจสอบข่าวได้ที่เว็บไซต์ Thaipbs.or.th/verify
4. จับตาทิศทางกลลวงได้จาก “สถิติ”
คุณกชศร ใจแจ่ม กรรมการผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท โกโกลุก ประเทศไทย (Whoscall) แสดง “Data” ที่มีการรวบรวมและเผยแพร่ไปเมื่อต้นปี 2568 ที่ผ่านมา ซึ่งคุณกชศร ระบุว่า อัตราการหลอกลวงจากปีที่ผ่านมา มีสถิติสูงขึ้นถึง 112% โดยการเติบโตดังกล่าวมาจาก 2 ส่วน คือ การหลอกลวงผ่าน SMS และการหลอกลวงผ่านสายมิจฉาชีพ โดยในส่วนของสายโทรศัพท์ ยังคงสามารถคัดกรองได้ แต่สถิติที่น่าสนใจที่พบคือ SMS มีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 138 ล้านครั้ง ขณะที่สายโทรศัพท์จากมิจฉาชีพอยู่ที่ 30 ล้านครั้ง ตลอดทั้งปี โดยสาเหตุที่มิจฉาชีพเลือกการใช้ SMS เนื่องจาก การส่งข้อความเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องยาก รวมถึงใช้ค่าใช้จ่ายไม่สูง และส่งได้ในปริมาณมาก โดยที่ไม่ต้องคิดมุกหรือหาข้อมูลใหม่ ๆ มาหลอก โดยรวมแล้ว Whoscall สามารถช่วยป้องกันมิจฉาชีพเฉลี่ยต่อวันได้ถึง 460,000 ครั้ง ดังนั้นจะเห็นว่าการหลอกลวงด้วย SMS เติบโตขึ้นมาก ซึ่งเมื่อตรวจสอบโดยละเอียดจะพบว่า การหลอกลวงด้วย SMS เป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย และมีค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด

กชศร ใจแจ่ม กรรมการผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท โกโกลุก ประเทศไทย (Whoscall)
“ใน 1 วัน แพลตฟอร์มสามารถป้องกันคนไทยจากมิจฉาชีพได้มากกว่า 460,000 ครั้ง แต่เชื่อว่าจำนวนของผู้ที่ถูกหลอก อาจจะมีมากกว่าสถิติที่รายงานพบ ซึ่งสิ่งสำคัญคือการที่ผู้ที่ใช้แพลตฟอร์ม ได้มีการรายงานเข้ามาเพิ่มมากขึ้น”
5. ตรวจสอบ-ลงพื้นที่-หาหลักฐาน คืองานของ “ข่าวจริง”
คุณกานดา จำปาทิพย์ บรรณาธิการ รายการสถานีประชาชน สํานักข่าว Thai PBS เปิดเผยถึง ข้อมูลที่ทีม สถานีประชาชน พบ โดยระบุว่า ปัจจุบันข่าวปลอมมีอยู่ทุกที่ หลายครั้งมาในลักษณะของความหวังดีเกินจริง หรือการหวังดีประสงค์ร้าย ซึ่งจากสถิติของศูนย์ร้องทุกข์ Thai PBS ในช่วง 6 เดือน คือ มกราคม – มิถุนายน 2568 มีจำนวนเรื่องร้องเรียนทั้งหมด 1,127 เรื่อง แบ่งเป็น 5 อันดับ ได้แก่
1. ปรึกษากฎหมาย 361 เรื่อง
2. แจ้งคนหาย 229 เรื่อง
3. ปัญหาต้มตุ๋น หลอกลวง ฉ้อโกง 101 เรื่อง
4. ปัญหาภัยออนไลน์ 94 เรื่อง
5. ปัญหาผู้บริโภค 82 เรื่อง
ทั้งนี้สำหรับการตรวจสอบของสถานีประชาชน ที่ผ่านมาพบว่า ประชาชนมักโทรเข้ามาสอบถามถึงกรณีถูกข่าวลวง เช่น การถูกเอกสารตราครุฑปลอม หรือข่าวเกี่ยวกับกฎหมายปลอม เช่น ขับรถเร็วเกิน 120 กม. จะถูกปรับ 10,000 บาท โดยรายการสถานีประชาชน จะทำหน้าที่ให้บริการด้านกฎหมาย ที่นอกเหนือจากการทำข่าว โดยร่วมมือกับสภาทนายความ จัดทนายมาให้คำปรึกษาฟรีให้กับประชาชน ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้รับข้อมูลจริงกลับไป

กานดา จำปาทิพย์ บรรณาธิการ รายการสถานีประชาชน สํานักข่าว Thai PBS
“การทำข่าว เช่น กรณีการรับแจ้งคนหาย หรือปัญหาต้มตุ๋น หลอกลวง ฉ้อโกง ก็จะต้องมีการตรวจสอบก่อนการเผยแพร่ เพราะข้อมูลที่ได้รับส่วนใหญ่มักเป็นการส่งต่อกันมา”
ทางรายการจึงจำเป็นที่จะต้องมีการตรวจสอบว่า เป็นข้อมูลจริงหรือไม่, มีหลักฐานหรือไม่, มีที่มาที่ไปของข่าวอย่างไร เพื่อป้องกันการใช้ข่าวเก่า หรือแชร์ข่าวซ้ำ ซึ่งจะเป็นการก่อให้เกิดการสร้างข่าวปลอมขึ้นใหม่ โดยหากตรวจสอบแล้วพบว่า เป็นข่าวเก่าหรือเป็นข้อมูลที่ผิด ก็จะต้องมีการนำข้อมูลเหล่านั้นลงจากระบบทันที เพื่อป้องกันการนำข้อมูลดังกล่าว ออกไปเผยแพร่ใหม่อีกครั้งหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม บทบาทในการตรวจสอบข่าวปลอมในลักษณะสื่อสาธารณะ มีวิธีการทำงานและบทบาทสำคัญ ได้แก่
1. กลั่นกรองข่าวที่ได้รับจากประชาชน
2. ลงพื้นที่เพื่อหาความจริง
3. เชิญผู้เชี่ยวชาญร่วมตรวจสอบ
4. ตีแผ่กลโกงในรูปแบบข่าว
6. “สติ” สารตั้งต้นป้องกันกลลวง
พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ รองผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (CIB) ออกมาให้มุมมองของการปราบปรามมิจฉาชีพ โดยระบุว่า เชื่อว่าทุกคนคงเคยได้รับ SMS, โทรศัพท์ หรือพบโฆษณาในโซเชียลมีเดียในช่องทางต่าง ๆ ซึ่งพื้นที่เหล่านี้ ล้วนเป็นสนามของแก๊งคอลเซนเตอร์ ที่ออกล่าเหยื่อผ่านสื่อออนไลน์ ซึ่งรูปแบบของแก๊งคอลเซนเตอร์ในปัจจุบัน พบว่ามีรูปแบบลักษณะเดียวกันกับบริษัท ซึ่งบริษัทเหล่านี้ล้วนแย่งเหยื่อเช่นเดียวกัน จึงมีการวางกับดักในหลายรูปแบบ และหากไม่มีสติหลงกดคลิกไปเพียงครั้งเดียวเท่านั้น อาจจะทำให้หมดตัวได้ ดังนั้นการเล่นสื่อโซเชียล จึงจำเป็นที่จะต้องมีสติ
“การสร้างโปรไฟล์เป็นเรื่องง่ายเช่นไร แก๊งคอลเซนเตอร์ ก็สามารถสร้างได้เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นการรู้จักกันทางออนไลน์ สิ่งแรกก็คืออย่าเชื่อว่าคนที่พบ จะเป็นตามที่เห็นหรือใช้ชื่อนั้นจริง ๆ “
ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่เคยมีการจับกุมผู้ที่ก่ออาชญากรรมในรูปแบบบทความสุขภาพ โดยมีการแอบอ้างหัวหนังสือพิมพ์ที่มีชื่อเสียง พร้อมกับแอบอ้างแพทย์ผู้มีชื่อเสียง รวมถึงดาราที่มีชื่อเสียง ว่ามารักษากับแพทย์รายนี้ โดยมีการสอดแทรกเนื้อหาในการขายผลิตภัณฑ์อาหารเสริม อ้างสรรพคุณสามารถแก้ไขโรคต่าง ๆ ซึ่งเมื่อหลงดูโปรไฟล์ไปแล้ว ก็จะไปพบกับรีวิวปลอม ที่อ้างว่าสามารถรักษาให้หายได้จริงจากยาชนิดนี้ แต่เมื่อหลงซื้อไปแล้ว กลับได้ยาหรืออาหารเสริมที่ไม่มี อย. ซึ่งแก๊งคอลเซนเตอร์เหล่านี้ มีรูปแบบหลังบ้าน มีออฟฟิศ และกรณีที่เคยจับได้ พบว่า อยู่ในพื้นที่รามคำแหง ของกรุงเทพมหานครเพียงเท่านั้น

พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ รองผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี บช.ก. (CIB)
นอกจากข่าวลวงในด้านสุขภาพแล้ว ยังมีการหลอกลวงที่เริ่มต้นจากความรัก โดยแอบอ้างในเรื่องของการเทรดทอง ซึ่งกรณีของเคสนี้ถูกหลอกทั้งครอบครัวจนสูญเสียเงินไปกว่า 7 ล้านบาท ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากการที่ลูกชายไปหลงรักหญิงสาวนิรนามคนหนึ่ง ที่พบในโลกออนไลน์เพียงเท่านั้น
อย่างไรก็ตามในปัจจุบันเริ่มพบในส่วนของการโคลนเสียงจาก AI Deepfake ซึ่งต้องขอเตือนให้ทุกคนระวัง เพราะเสียงที่ได้รับนั้นเป็นเสียงของบุคคลที่เรารู้จัก มาผสมกับการล้วงข้อมูลที่ได้จากออนไลน์ของเรา ที่เราเปิดเผยอยู่ในโลกโซเชียล มาทำให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ และหลงเชื่อในที่สุด
ท้ายที่สุดไม่ว่าจะเรื่องของอารมณ์ ความกลัวหรือกลลวงต่าง ๆ ที่เข้ามาใช้กดดันเหยื่อ หากทุกคนมีภูมิป้องกันเอง เรื่องเหล่านี้ก็จะสามารถเป็นเครื่องมือในการกำจัดข่าวปลอมได้ แต่หากเป็นผู้ที่ไม่มีภูมิป้องกันตัวเองในด้านการหลอกลวง ก็จะหลงแชร์และเชื่อข่าวปลอมต่อไปโดยไม่รู้ตัว
7. “Cross Check” หัวใจสำคัญข่าวสืบสวน
คุณคณิศ บุณยพานิช บรรณาธิการบริหาร ด้านข่าวสืบสวน สำนักข่าว Thai PBS ระบุถึงการทำงานของทีมข่าว The Exit ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบข่าวปลอมว่า The Exit เป็นทีมข่าวสืบสวนของ Thai PBS เน้นการทำข่าวที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติ สิทธิมนุษยชน และในช่วงหลัง คือการนำเสนอข่าวที่เกี่ยวข้องกับแก๊งคอลเซนเตอร์
สิ่งสำคัญสำหรับการทำข่าวสืบสวนสอบสวนสำหรับคนทำข่าวสืบสวนสิ่งที่สำคัญคือการ Cross Check ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของการทำข่าว โดยเฉพาะหากป้องกันข่าวลวง หรือ Fake News จำเป็นที่จะต้องเริ่มที่การเช็กหรือ Cross Check ด้วยตัวเองเพื่อไปให้ถึงที่ต้นทาง ซึ่งเมื่อไหร่ที่ได้ข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลจริง ไม่จริง หรือได้ข้อมูลเท็จมา จำเป็นที่จะต้องย้อนกลับไปที่ต้นทาง เพื่อดูว่าต้นทางน่าเชื่อถือหรือไม่ เป็นจริงหรือเปล่า และเป็นใครมาจากไหน

คณิศ บุณยพานิช บรรณาธิการบริหาร ด้านข่าวสืบสวน สำนักข่าว Thai PBS
ที่ผ่านมาทีมข่าวสืบสวนเคยถูกลวงเช่นเดียวกัน ซึ่งช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทีมข่าวได้พิกัดจากแหล่งข้อมูลที่ชี้เป้าให้เห็นว่า อาคารต่าง ๆ ในพื้นที่ปอยเปตมีการทำอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็น พนันออนไลน์, คอลเซนเตอร์ ซึ่งหลังจากที่มีการนำเสนอข่าวออกไป หนึ่งในนั้นได้มีการติดต่อกลับมาในช่องทาง Inbox พร้อมกับเปิดเผยว่า เป็นบัญชีคนหนึ่งของอาคารที่ถูกกล่าวอ้าง แต่เมื่อสืบค้นแล้วกลับพบว่า เป็นเพียงบัญชีปลอม ซึ่งได้อ้างว่า Thai PBS กำลังกล่าวหา และบิดเบือนข้อมูล โดยอ้างว่าอาคารดังกล่าวเป็นเพียงเกมออนไลน์ ทีมข่าวจึงได้มีการตรวจสอบกับแหล่งข่าวในพื้นที่ปอยเปต จนได้ข้อมูลว่าอาคารดังกล่าว ไม่ใช่แค่เกมออนไลน์อย่างที่ได้มีการแก้ต่าง แต่เป็นกลุ่มทุนจากไต้หวัน ที่ขยายกิจการมาจากมาเก๊า ทำเกมออนไลน์บริเวณชั้นบนสุดอย่างที่มีการอ้างจริง ในขณะที่ชั้นอื่น ๆ ประกอบไปด้วย คอลเซนเตอร์ และคาสิโน
ท้ายที่สุดการทำข่าวสืบสวนนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่การเริ่มต้นความสำเร็จของทีมงาน จะต้องมาจากเป้าหมายเดียวกัน ที่ต้องการที่จะต่อต้านข่าวปลอม หรือเรื่องหลอกลวงอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น Deepfake ซึ่งล้วนเกิดจากความต้องการในการแก้ปัญหาจากกลุ่มคนเล็ก ๆ ซึ่งทีมงานจะต้องมีการประสานความร่วมมือกัน เพื่อให้ประสบความสำเร็จในการทำงาน และการเป็นทีมข่าวสืบสวนของ Thai PBS จะต้องเน้นการทำข่าวที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติ, สิทธิมนุษยชน หรือแก๊งคอลเซนเตอร์
8. เมื่อรัฐต้องสู้กับข้อมูลเท็จ ในยุคที่ไม่มีใครเชื่อใคร
ตัวแทนจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับการตอบโต้ข่าวลือและข่าวลวง เช่น คุณอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำ สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ระบุถึงการตอบโต้กับข่าวลือ, ข่าวลวง ของฝากฝั่งรัฐบาลว่า การเล่าข่าวสารในทุกวันนี้ อยากให้ทุกคนรับฟังข่าวสารจากช่องทางตรงของรัฐบาล ที่นำเสนอในช่องทาง thaigov.go.th ซึ่งเป็นเว็บไซต์หลักที่นำเสนอข้อมูลผ่านทุกกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งการที่จะนำเสนอข่าวให้มีความเร็วและความแม่นยำนั้น เป็นเรื่องที่ไม่สามารถมาคู่กันได้เสมอ

อนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำ สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
“ยืนยันว่า รัฐบาลจะทำให้รวดเร็วที่สุด แต่ย้ำและเน้นในความถูกต้องและความละเอียดอ่อน เพราะข้อมูลจากฝั่งรัฐบาล ต้องเป็นข้อมูลที่ต้องถูก 100% ต้องสื่อสารให้ถึงประชาชนได้ชัดเจน และเข้าใจง่าย”
ตลอดเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลต้องเจอกับข่าวปลอมและข่าวเท็จ ที่เข้ามาโจมตีรัฐบาลในหลาย ๆ หัวข้อ จึงต้องใช้ทรัพยากรที่รัฐบาลมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในการนำเสนอแพลตฟอร์ม หรือเครื่องมือหรือ Tool ต่าง ๆ ในการเข้ามาปกป้อง, ชี้แจง และขยายความ ก่อนที่จะให้ทีมสำนักโฆษกอธิบายให้ชัดเจน เพื่อให้เกิดความกระจ่างกับประชาชนโดยเร็วที่สุด
ขณะที่ คุณวงศ์อะเคื้อ บุญศล โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระบุถึงหน้าที่ของการต่อต้านข่าวปลอมของกระทรวงฯ ว่า ปัจจุบันกระทรวงดิจิทัลเศรษฐกิจและสังคม ใช้เทคโนโลยีในการกวาดต้อนวิเคราะห์และสกัดข้อมูลต่าง ๆ ที่เห็นได้ว่า อาจเป็นข่าวปลอม ซึ่งแนวคิดหลักของ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม คือ ประชาชนทุกคนมีสิทธิ์ที่จะรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง และรัฐมีหน้าที่นำเสนอความจริง ซึ่งกระทรวงดิจิทัลฯ ได้มีการดำเนินการร่วมกับศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม และหน่วยงานต่าง ๆ หลายหน่วยงาน มีการจัดตั้งคณะทำงานในแต่ละกระทรวงแต่ละหน่วยงาน เพื่อที่ตรวจสอบและยืนยันว่าข้อมูลเหล่านั้นจริงหรือเท็จ

วงศ์อะเคื้อ บุญศล โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
นอกจากนี้ที่ผ่านมา ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย สามารถตรวจจับข่าวปลอมได้กว่า 1,184 ล้านข้อมูล ซึ่งได้นำมาพิจารณาและส่งต่อไปยังหน่วยงานอื่น ๆ ตรวจสอบ โดยสามารถแบ่งออกเป็นหมวดหมู่ได้ ดังนี้ 1. ด้านสุขภาพ ไม่ว่าจะไปการเข้าใจผิดเรื่องการทานอาหารต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นหมวดที่มีการแชร์ข้อมูลจำนวนมาก 2. หมวดเศรษฐกิจ ซึ่งมักจะพบเรื่องของนโยบายไปปลอมที่ออกมาทางโลกโซเชียล คือเรียกยอดไลก์หรือโจมตีรัฐบาล 3. หมวดภัยพิบัติ ซึ่งที่ผ่านมาพบข่าวปลอม ทั้งในเรื่องของชื่อพายุ การกล่าวอ้างว่า พายุต่าง ๆ จะพัดเข้าสู่ประเทศไทย ซึ่งก็ได้มีการตรวจสอบจากกรมอุตุนิยมวิทยา และยืนยันข้อมูลเหล่านั้น 4. หมวดนโยบายของรัฐ ซึ่งมีข่าวออกมาตลอดด้วยเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย 10,000 บาท ที่อ้างว่าสามารถกดลิงก์ที่แนบ เพื่อกดรับเงินได้ในทันที และ 5. หมวดอาชญากรรมออนไลน์ ซึ่งข้อมูลตรวจจับได้เหล่านี้ จะถูกส่งต่อไปยังศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ที่มีหน่วยงานอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ธนาคาร หรือหน่วยงานภาครัฐ เข้ามาร่วมเชื่อมโยงข้อมูลและตรวจสอบร่วมกัน
ขณะที่ข่าวปลอมที่เกี่ยวข้องกับความอ่อนไหวระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในช่วงความขัดแย้งบริเวณชายแดนไทย – กัมพูชา พบข่าวปลอมในเดือนมิถุนายน 2568 ที่เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวมากถึง 232 ข้อมูล ซึ่งได้มีการตรวจสอบและยืนยันข้อมูลเหล่านั้นในทันที ก่อนนำเผยแพร่ไปสู่ประชาชน
ทั้งนี้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้จากช่องทางออนไลน์ ได้ที่เว็บไซต์หรือ LINE Official ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย Anti Fake News Center Thailand ซึ่งภายในเว็บไซต์ดังกล่าว สามารถแจ้งเรื่องข่าวปลอม เพื่อนำมาสู่การตรวจสอบและยืนยัน พร้อมกับเผยแพร่ว่า ข่าวใดเป็นข่าวจริง หรือข่าวปลอม
8. Fact-checking นโยบายรัฐ คือสิทธิของประชาชนทุกคน
คุณอรุชิตา อุตมะโภคิน ผู้จัดการกลุ่มงานด้านนวัตกรรมการสื่อสาร The Active จาก Thai PBS ตัวแทนจาก Policy Watch พูดถึงการทำงานกับนโยบายที่มี “ความจริงหลายชุด” ซึ่งหมายถึง นโยบายที่มีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา รวมถึงการมีผู้ได้รับประโยชน์และผู้เสียประโยชน์จากนโยบายเดียวกัน
อรุชิตา ยกตัวอย่างให้เห็นภาพการติดตามนโยบายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นว่า มีหลากหลายมิติเสมอ เช่น นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต เป็นอีกหนึ่งนโยบายมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการให้เงินหมื่นบาท อย่างไรก็ตาม Policy Watch พบว่า นโยบายนี้เผชิญข้อจำกัดหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นข้อจำกัดด้านการใช้จ่ายงบประมาณ การควบคุมการใช้เงินอย่างรัดกุม ตลอดจนการปรับเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายที่ไม่ตรงกับช่วงหาเสียงเดิม เนื้อหาที่ถูกเปิดเผยผ่านการตรวจสอบของ Policy Watch ช่วยให้เราเห็นความจริงจากหลากหลายแง่มุมของนโยบายนี้

อรุชิตา อุตมะโภคิน ผู้จัดการกลุ่มงานด้านนวัตกรรมการสื่อสาร The Active Thai PBS
นโยบายคาร์บอนเครดิต เป็นนโยบายที่ฟังดูเหมือนจะเป็นเรื่องดี ในยุคที่สภาพภูมิอากาศกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง อย่างไรก็ตามการดำเนินนโยบายนี้กลับส่งผลกระทบต่อบางกลุ่ม เช่น กลุ่มเกษตรกร ที่เริ่มมีเสียงทักท้วงและเสนอให้ปรับปรุงนโยบายให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น ซึ่ง Policy Watch ได้เปิดเผยเนื้อหานโยบายนี้ เพื่อให้สังคมมองเห็นความจริงในอีกด้านหนึ่งในเว็บไซต์
นโยบายจัดการภัยพิบัติ แม้ในคำแถลงนโยบายของนายกรัฐมนตรีจะไม่ได้กล่าวถึงคำนี้อย่างชัดเจน แต่หากพิจารณาการดำเนินนโยบายของภาครัฐจะพบว่า มีหน่วยงานที่รับผิดชอบอยู่แล้ว เช่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และยังมีแผนแม่บทเพื่อรับมือกับภัยพิบัติ แต่ Policy Watch พบว่า ข้อมูลเบื้องหลังหลายนโยบาย ชี้ให้เห็นถึงการดำเนินงานที่ซับซ้อน และไม่อาจประเมินได้เพียงจากคำพูดของฝ่ายการเมืองเท่านั้น เพราะการพูดถึงนโยบายสาธารณะควรพิจารณาจากทุกมิติที่เกี่ยวข้อง
ขณะที่การมีส่วนร่วมและการรับรู้ความเคลื่อนไหว การดำเนินการและข้อเท็จจริงของนโยบายจากภาครัฐเป็นสิทธิของพลเมืองทุกคน Policy Watch จึงกลายมาเป็นเครื่องมือที่ออกแบบมาเพื่อให้ประชาชน มองเห็นภาพรวมนโยบายสาธารณะอย่างชัดเจน ครอบคลุมตั้งแต่ ขั้นตอนการดำเนินนโยบาย, จุดเริ่มต้นของการพูดถึงนโยบายแต่ละฉบับ ไปจนถึงการตรวจสอบว่า นโยบายเหล่านั้นมาจากไหน, ดำเนินการไปถึงขั้นตอนใด และประสบความสำเร็จหรือยัง
อีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญคือ Policy Analysis Canvas ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง Thai PBS กับแพลตฟอร์มนโยบายต่างประเทศ และนักวิชาการด้านนโยบายสาธารณะ โดยวัตถุประสงค์คือการวิเคราะห์ความคาดหวังของประชาชน ที่มีต่อนโยบายเหล่านั้นอย่างเป็นระบบ
9. Fake News อาวุธลับหลังม่านการเมือง
คุณพรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า กล่าวถึงปรากฏการณ์ที่นักการเมืองจากการเลือกตั้ง ถูกทำให้สูญเสียความชอบธรรมผ่านข่าวลวง รวมถึงวาทกรรมที่สร้างความเกลียดชัง และกระแสชาตินิยม ที่บั่นทอนความไว้วางใจของประชาชน ซึ่งนำไปสู่การเกิดนิติสงครามบนเวทีการเมือง โดยระบุว่า สิ่งที่เป็นหัวใจของการทำงานคือ “Trust” หรือ ความเชื่อใจที่ประชาชนมีต่อพรรคการเมือง เพราะการได้มาซึ่งความเชื่อใจจากประชาชนนั้นเป็นเรื่องที่ยากที่สุด และในขณะเดียวกันก็สามารถสูญเสียไปได้ง่ายที่สุด โดยเฉพาะในยุคที่ Disinformation (ข่าวปลอม) และ Misinformation (ทำให้เข้าใจผิด) กลายเป็นอาวุธที่สามารถทำลายความน่าเชื่อถือของนักการเมืองได้อย่างรวดเร็ว

พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า
“ความเชื่อใจไม่ใช่สิ่งที่สร้างขึ้นได้ในชั่วข้ามคืน แต่ต้องผ่านการพิสูจน์, การลงมือทำ และความสม่ำเสมอซ้ำแล้วซ้ำเล่าตลอดเวลา ไม่รู้กี่เดือนกี่ปีกว่าประชาชนจะเชื่อใจคุณได้ แต่ว่าความไว้วางใจนั้นกลับสามารถพังทลายลงได้ภายในเวลาอันสั้น เพียงเพราะข่าวปลอม, ข่าวลวง ที่ถูกปล่อยออกมาอย่างจงใจ”
ขณะที่ประเด็นข่าวปลอมโดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับชาตินิยมนั้น กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า มองว่า สิ่งที่น่ากลัวที่สุดไม่ใช่แค่ข่าวปลอมหรือข้อมูลบิดเบือนเพียงลำพัง หากแต่คือการนำข้อมูลเหล่านั้นไปผูกโยงกับกระแสชาตินิยมอย่างจงใจ เพราะชาตินิยมมีลักษณะเฉพาะที่เร้าอารมณ์และกระตุ้นความรู้สึกได้อย่างรุนแรง จึงง่ายต่อการปลุกปั่น และง่ายสำหรับการใช้เป็นเครื่องมือในการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์
กรณีที่เราเห็นได้ชัดที่สุดคือกรณีไทย-กัมพูชา ฮุนเซนบอกว่าจะปล่อยคลิปอะไร คนไทยเชื่อหมด โดยไม่รู้ว่าคลิปมีอยู่จริงหรือไม่ เพราะเคยมีคลิปแรก ทุกคนก็คิดว่าจะมีถึงคลิปที่ 20 และความรุนแรงในเชิงปลุกปั่นไม่ได้เข้าทางฮุนเซนอย่างเดียว แต่ยังเข้าทางบุคคลที่ไม่ต้องการเห็นรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย แต่ต้องการรัฐบาลไม่เป็นประชาธิปไตย โดยการอนุญาตให้มีการรัฐประหารเข้ามาแทรกแซงทางการเมือง
อีกทั้งยังกล่าวว่า ข่าวปลอมจากการปลุกกระแสชาตินิยม ง่ายต่อการลดทอนคุณค่าการเป็นมนุษย์ของเป้าการโจมตี ความรุนแรงของการปลุกปั่นเข้าทางบุคคลที่ไม่ต้องการเห็นรัฐบาลในระบบประชาธิปไตย เพราะเมื่อไหร่ก็ตามความเป็นชาตินิยมขึ้นมาสูงในสังคม เมื่อนั้นประชาชนจะเริ่มเรียกร้องผู้นำทหารที่เข้มแข็ง
นอกจากนี้ ชาตินิยมที่เกินขอบเขตและวาทกรรมรักชาติ ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของฝ่ายตรงข้าม ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งการสร้างภูมิคุ้มกันทางปัญญาที่แท้จริง ต้องเปิดพื้นที่ให้ประชาชนและสื่อมีส่วนร่วมในการตรวจสอบข้อเท็จจริง ไม่ใช่ผูกขาดไว้กับรัฐ
10. Thai PBS World ตรวจสอบข่าวด้วย “ความน่าเชื่อถือ”
คุณแคลร์ ปัจฉิมานนท์ ผู้อํานวยการศูนย์ Thai PBS World จาก Thai PBS ตอกย้ำบทบาทของสื่อสาธารณะในการนำเสนอข่าวที่ถูกต้องและเชื่อถือได้ โดยระบุถึงการตรวจสอบข่าวของทีม Thai PBS World ซึ่งใช้การ Factcheck ด้วย 2 หลักเกณฑ์ คือ 1. การใช้ข้อมูลข่าวสารจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ และ 2. การใช้ Fact-checking Tools โดยในกรณีของการตรวจสอบข่าวนั้น ที่ผ่านมา Thai PBS World เคยได้ตรวจสอบข่าวกรณีของหมูเด้ง ซึ่งเป็นคลิปที่ “หมูเด้งหยุดเคารพธงชาติ” โดยทีมข่าวได้ติดต่อเข้าไปที่เจ้าของคลิปเพื่อขอคำยืนยันว่า คลิปดังกล่าวถูกบันทึกเมื่อไหร่ หรือหมูเด้งหยุดเคารพธงชาติจริงหรือไม่ แต่เจ้าของคลิปดังกล่าวไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจน ว่าหมูเด้งหยุดเคารพธงชาติจริงหรือไม่ เพียงแต่ยืนยันว่า สามารถนำคลิปดังกล่าวไปใช้ได้เพียงเท่านั้น จึงทำให้ทีมงานเริ่มสงสัย และนำคลิปดังกล่าวไปตรวจสอบ ด้วยการค้นหาว่าเวลาเปิด-ปิด ของสวนสัตว์นั้น ว่าเวลาของการเปิด – ปิด เป็นอย่างไร จนได้ข้อมูลว่า สวนสัตว์ดังกล่าวเปิดในเวลา 08:00 น. และปิดในเวลา 17:00 น. เพียงเท่านั้น
“เป็นไปไม่ได้ ที่หมูเด้งจะหยุดเคารพธงชาติในช่วงเวลา 18:00 น. จึงยืนยันได้ว่า คลิปดังกล่าวเป็นคลิปตัดต่อเพียงเท่านั้น ซึ่งการตรวจสอบข่าวชิ้นนี้ ทำให้เห็นว่าการทำงานจำเป็นที่จะต้องใช้ Sense หรือ ความรู้สึก รวมถึงต้อง เอ๊ะ! หรือตั้งข้อสงสัยก่อนที่จะเชื่อ ซึ่งนี่เป็นเหตุผลว่า ทำไมต้องติดตามข่าวจากสื่อที่เชื่อถือได้ เพราะหากดูเพียงหน้าฟีดโซเชียลอาจจะทำให้เราหลงกลได้ แต่หากเราติดตามกับสื่อที่เชื่อถือได้ ข้อมูลเหล่านั้นก็จะได้รับการกลั่นกรองมาแล้ว”
ขณะที่ความท้าทายของทีมข่าว Thai PBS World ที่ผ่านมา พบความท้าทายหลายเรื่องด้วยกัน ทั้งในเรื่องของโฆษณาชวนเชื่อทางการเมือง ทั้งเรื่องของ Deepfake, เรื่องของ Misinformation โดยเฉพาะในเรื่องของสุขภาพ และเรื่องของความรวดเร็วและความน่าเชื่อถือ โดยหากจะต้องมีการเลือกระหว่างความเร็วและความน่าเชื่อถือ หรือความถูกต้อง ทีมข่าวก็จะเลือกในเรื่องของความน่าเชื่อถือของข้อมูล ความถูกต้องของข่าวนั้นมาเป็นอันดับแรก

แคลร์ ปัจฉิมานนท์ ผู้อํานวยการศูนย์ Thai PBS World Thai PBS
สำหรับความร่วมมือระหว่าง Thai PBS World และ Thai PBS Verify ปัจจุบันได้มีการร่วมมือในการประสานข้อมูล โดยเฉพาะการเช็กข่าว ซึ่งที่ผ่านมา ได้มีการร่วมกันตรวจสอบคลิปที่อ้างว่าเจดีย์ชเวดากองถล่ม ซึ่ง Thai PBS World ได้ประสานเครือข่ายในการตรวจสอบ โดยได้ประสานกับสถานทูตไทยในเมียนมา และได้รับการยืนยันว่า ไม่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นกับเจดีย์ชเวดากอง แต่อย่างใด
สำหรับเครือข่ายถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญ ในการตรวจสอบข้อมูลเพื่อให้ได้ข้อมูลจากแหล่งต้นทาง ซึ่งปัจจุบัน Thai PBS เป็นหนึ่งในสมาชิก Asia Pacific Broadcasting Union หรือ ABU ซึ่งมีสมาชิกกว่า 280 องค์กรอยู่ใน 57 ประเทศ รวมถึงสมาชิก Asia Vision ซึ่งมีสมาชิก 27 องค์กร และ Asia Pacific Intitude For Broadcasting Development หรือ AIBD ที่มีสมาชิก 26 ประเทศ ซึ่งเครือข่ายเหล่านี้จะสามารถใช้ในการตรวจสอบ โดยเฉพาะข่าวที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและรวดเร็ว
11. รู้ก่อนแชร์ แยกแยะก่อนเชื่อ ปิดกั้นป้องกันส่งต่อ
คุณสิริประภา วีระไชยสิงห์ Outreach & Partnerships Manager จาก TikTok ยืนยันว่า แม้ข้อมูลต่าง ๆ บน TikTok มีเยอะมากมายหลากหลายข้อมูล ทั้งข้อมูลจริงหรือลวง หรือ Misinformation แต่ปัจจุบันแพลตฟอร์มมีการจัดการกับข้อมูลเท็จอย่างจริงจัง ซึ่งสิ่งที่สามารถทำให้ TikTok สามารถรู้ทัน คือการปิดกั้นด้วยการลบวิดีโอที่ผิดกฎ Community Guideline มากกว่า 3,400,000 Video ซึ่งเป็นตัวเลขจากช่วงต้นปีที่ผ่านมา คือ ตั้งแต่ มกราคม – มีนาคม 2568 ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มาจาก Community Guideline Enforcement Report ที่เพิ่งเผยแพร่ไปเมื่อ 3 วันที่ผ่านมา
ทั้งนี้ในมุมของแพลตฟอร์มจะต้องมีกฎมีหลักเกณฑ์ของชุมชนหรือ Community Guideline ที่เข้มแข็ง ที่จะต้องมีเทคโนโลยีและทีมงาน Trust And Safety ทีม ที่มาจากทั่วโลกมากกว่า 4 หมื่นคน ซึ่งคอยดูแลและคัดกรอง Content 24 ชั่วโมง 7 วัน เพื่อให้มั่นใจได้ว่า Content ต่าง ๆ ที่ปรากฏบนฟีดของ TikTok ปลอดภัยสำหรับการรับชม

สิริประภา วีระไชยสิงห์ Outreach & Partnerships Manager TikTok
สำหรับเทคโนโลยีในการช่วยตรวจจับของ TikTok นั้น ผลการตรวจสอบพบว่า Content จำนวน 99.5% ถูกลบก่อนมีผู้ใช้แจ้งรายงาน และหลาย ๆ กรณีที่เกี่ยวข้องกับข้อมูล เช่น Misinformation, ข่าวปลอม หรือข้อมูลที่ใช้ภาษาในประเทศนั้น ๆ ก็จะต้องมีการ Factcheck และมีผู้คัดกรอง หรือ Human Moderator คอยตรวจสอบบริบทของวีดีโอนั้น ๆ ซึ่งตัวเลขข้างต้นบ่งบอกได้ชัดเจนว่า แพลตฟอร์มมีความซีเรียสที่จะทำให้เกิดพื้นที่ปลอดภัย
ส่วนข้อมูลบิดเบือน หรือ Disinformation พบได้จำนวนมาก โดยเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ และโดยเฉพาะข้อมูลที่สร้างโดย AI จนทำให้เกิดความเข้าใจผิด หรือการหลอกลวงเกิดขึ้น ซึ่ง TikTok ได้คัดกรองและเสริมความแม่นยำ โดยการมีให้ Information เพิ่มเติมกับผู้ใช้
นอกจากนี้สำหรับผู้ใช้ TikTok ที่ใช้ TikTok สำหรับการ Search หาข้อมูล TikTok ได้เพิ่มข้อมูลที่ถูกต้อง และส่งต่อลิงก์จากหน่วยงานที่เชื่อถือได้ ให้สามารถเข้าไปดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ และหากข้อมูลใดที่ยังไม่ได้รับการ Verify หรือไม่ได้รับการยืนยัน เช่น ในช่วงการเลือกตั้งที่มีการแชร์ผลคะแนนต่าง ๆ ที่ยังไม่ได้รับการยืนยัน ก็จะมีการขึ้น Information Tag หรือป้ายกำกับ Content ไว้บริเวณด้านบน พร้อมกับระบุว่า ข้อมูลนี้ยังไม่ได้รับการ Verify เพื่อให้คนดูได้รู้ในเบื้องต้น
เช่นเดียวกับ Content ที่เกี่ยวข้องกับ AI ก็จะมี Information Tag กรณีมีวิดีโอที่ถูกสร้างขึ้นโดย AI ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของ Creator ที่ระบุขึ้นมาเอง หรือโพสต์ที่ถูกตรวจสอบพบ ก็จะมีการขึ้นสัญลักษณ์ ว่า AI-generated ขึ้นมา เพื่อให้ผู้ใช้ได้ทราบและรู้ว่า Content ต่าง ๆ เหล่านี้ถูกสร้างหรือมีที่มาอย่างไร
อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ใช้ TikTok และไปพบข้อมูลที่เป็นข่าวปลอม, บิดเบือน หรือไม่ถูกต้อง สามารถที่จะเข้าไปที่วิดีโอและกดรายงานกลับมา ว่าวิดีโอดังกล่าวเป็นวิดีโอที่ดูแล้วเหมือนจะเป็น Misinformation หรือน่าจะเป็นข่าวลวง เพื่อให้ทีมงานทราบ ซึ่งการรายงานลักษณะนี้จะเป็นส่วนช่วยเสริมให้ชุมชนเข้มแข็ง
12. กลัว-โลภ-รัก สามอารมณ์กระตุ้น “เหยื่อ”
ดร.ตฤณห์ โพธิ์รักษา นักอาชญาวิทยาเชิงจิตวิทยาและพฤติกรรมอาชญากร มหาวิทยาลัยมหิดล ให้คำอธิบายจากมุมจิตวิทยาว่า “เหยื่อของข่าวลวงไม่ได้โง่หรือไม่รู้เท่าทัน แต่ถูกกระตุ้นด้วยความกลัว ความโลภ หรือแม้แต่ความรัก” โดยอธิบายอย่างละเอียดว่า การที่มิจฉาชีพจะหลอกลวงเหยื่อได้ จะต้องประกอบไปด้วย 3 สิ่ง ได้แก่
1. โอกาส
2. มูลเหตุจูงใจส่วนตัว
3. เหยื่อที่เหมาะสม
ทั้งหมดนี้เรียกว่า สามเหลี่ยมอาชญากรรม หากไม่ครบองค์ประกอบอย่างใดอย่างหนึ่ง จะไม่เกิดอาชญากรรมขึ้น
ส่วนสาเหตุที่เหยื่อตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ จากประสบการณ์ที่ทำคดีเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมพบว่า เหยื่อมี 3 ลักษณะเช่นเดียวกัน ประกอบไปด้วย
1. เหยื่อปฐมภูมิ คือเหยื่อที่เกิดเหตุกับเขาโดยตรง
2. เหยื่อทุติยภูมิ คือเหยื่อที่เป็นบุคคลรอบข้างของผู้ที่ถูกหลอกลวง เช่น คนในครอบครัวเป็นต้น
3. เหยื่อตติยภูมิ คือเหยื่อที่เป็นบุคคลที่อยู่ในชุมชน, สังคม หรือคนภายนอก
สำหรับคำพูดที่ตนเองเคยกล่าวจนเป็นมีมในโลกออนไลน์ว่า “ตอนเด็ก ๆ แม่เขย่าแรงไปหรือเปล่านั้น” คำดังกล่าวเป็นการพูดถึงความเกี่ยวข้องกับสมอง และการใช้ความคิดเชิงตรรกะและเหตุผล เพราะเมื่อทุกคนยังเป็นเด็กนั้น สมองจะมีขนาดเล็กกว่าหัวกะโหลก ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างสมองและกระโหลกศีรษะ ดังนั้นเมื่อเราเขย่าเด็กที่สมองยังไม่เต็มใบ จะทำให้สมองส่วนหน้ากระแทกกะโหลกซ้ำ ๆ ทำให้สมองเลือดออก, สมองบวม หรือเลือดออกตามชั้นเยื่อหุ้มสมอง หรือเกิดการอักเสบเกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้การทำงานลดลง หรือร้ายแรงที่สุด คืออาจทำให้เสียชีวิต ดังนั้นกระบวนการคิดที่ถูกลดทอนความสามารถ จะทำให้การคิดเชิงตรรกะ, การคิดเชิงเหตุผล หรือการยับยั้งอารมณ์ทำไม่ได้

ดร.ตฤณห์ โพธิ์รักษา นักอาชญาวิทยาเชิงจิตวิทยาและพฤติกรรมอาชญากร มหาวิทยาลัยมหิดล
ส่วนสิ่งที่ทำให้เหยื่อเป็นเหยื่อ ประกอบไปด้วย 3 ลักษณะที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์อย่างชัดเจนคือ 1. ความโลภ 2. ความกลัว และ 3. ความรัก ทั้งนี้พบว่า ข้อมูลจากตำรวจสอบสวนกลาง หรือ CIB พบเหยื่อที่เป็นผู้หญิงถึงร้อยละ 60 ขณะที่ผู้ชายอยู่ที่ร้อยละ 36 แต่เชื่อว่า ตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลขที่ไม่จริง เพราะโดยแท้จริงของมนุษย์นั้นชอบโกหก ซึ่ง 70% ของผู้ชายจึงมักไม่ยอมรายงานความจริง เพราะความอาย ดังนั้นสถิติการแจ้งความจึงเป็นผู้หญิงที่มีจำนวนมากกว่า ซึ่งหากจะได้จำนวนที่แท้จริง จะต้องบวกไปอีก 70% จึงจะได้ตัวเลขที่แท้จริงนั้น
สำหรับ “ความโลภ” ด้วยความที่ประชากรส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ดังนั้นการได้รับข้อความหลอกลวงด้วยความโลภ จึงเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ที่มีสถานะทางการเงินต่ำตกเป็นเหยื่อมากที่สุด เพราะด้วยการที่ความโลภเป็นสิ่งที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคนอยู่แล้ว ซึ่งหากไม่มีความโลภ ก็จะไม่มีทางตกเป็นเหยื่อ
ส่วน “ความกลัว” มักจะถูกใช้กับคนที่มีฐานะ เพราะกลุ่มคนเหล่านี้แม้จะเป็นผู้ที่มีฐานะ และมีการศึกษา แต่มักจะเป็นกลุ่มที่มีความกลัว โดยตัวกระตุ้นอารมณ์เกลียด, โกรธ, และกลัว จะอยู่ระหว่างแกนกลางของสมองส่วนหน้าและส่วนหลัง ซึ่งมีชื่อว่า “อะมิกดาลา” ซึ่งความกลัว โกรธ และเกลียด มักจะเป็นอารมณ์ที่ถูกกระตุ้นได้ง่าย และเป็นอารมณ์ที่อยู่คงทนถาวร ดังนั้นเมื่ออารมณ์ถูกกระตุ้น ความกลัวจะปิดกั้นความคิดของสมองส่วนหน้า และเมื่อสมองส่วนหน้าที่มีหน้าที่ชั่งน้ำหนักของเหตุและผลถูกปิดกั้น จะทำให้เกิดช่องว่างให้มิจฉาชีพ เข้ามาควบคุมได้ ซึ่งเรียกลักษณะนี้ว่า Hypnosis หรือการสะกดจิต โดยใช้กลลวงด้านจิตวิทยา ด้วยการเร่งรัด, สร้างความเครียด และสร้างความกลัวให้รีบตัดสินใจ ซึ่งจากสถิติเกิน 80% พบว่า คนเสียเงินตั้งแต่รับสายภายใน 1 ชั่วโมง และมีเพียง 1% เท่านั้นที่ได้เงินคืน
ท้ายที่สุดคือ “ความรัก” ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของความรัก จะถูกเรียกว่าเหยื่อจาก Romance Scam ซึ่งเหยื่อที่ถูกหลอกลวงที่ชัดเจนที่สุด คือเหยื่อที่เกิดจากการแสวงหาคู่ครองต่างชาติ โดย Scammer มักจะใช้การหลอกลวงด้วยความหล่อ, มีฐานะทางการเงิน หรือรักจริงหวังแต่ง แต่ทั้งหมดนั้นไม่มีอยู่จริง ซึ่งก่อนที่จะตกเป็นเหยื่อ จำเป็นที่จะต้องตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมคนที่มีลักษณะเหล่านี้ จึงต้องการที่จะเข้าหาคุณ “คิดไว้เสมอว่า “อะไรที่ดีเกินจริง มักไม่ใช่เรื่องจริง”
“รู้หรือไม่โปรไฟล์ใน Dating Apps นั้น พบว่า 1 ใน 7 เป็นโปรไฟล์ปลอม และกลุ่มมิจฉาชีพเหล่านี้ จะไม่มีวัน Video Call หาเหยื่อ ซึ่งเหยื่อมักถูกหลอกจากความหวัง ที่คิดว่าเมื่อลงทุนแล้วจะได้รับอะไรกลับมา”
มิจฉาชีพเหล่านี้มักจะสร้างความเชื่อใจ ด้วยการสร้างเรื่องว่า มีการส่งของขวัญ หรือทรัพย์สินมาให้จากต่างประเทศ ก่อนที่จะหลอกให้โอนเงินค่าธรรมเนียม หรือสร้างหน่วยงานปลอมต่าง ๆ เข้ามาหลอกลวงอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นตัวกระตุ้นอารมณ์ “ดังนั้นเมื่อไหร่ที่เราเสพข่าว หรือดูอะไรก็แล้วแต่ แล้วมีอารมณ์ร่วม เมื่อนั้นคุณต้องหยุด” หากมีอารมณ์เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างแรง นั่นแปลว่า “อะมิกดาลา” กำลังทำงาน ไม่ใช่สมองส่วนหน้า โดยหากไม่ต้องการตกเป็นเหยื่อ ทุกคนจำเป็นที่จะต้องใช้สมองส่วนหน้าในการตัดสินใจ มากกว่าการใช้อารมณ์ ซึ่งมันยาก และจะต้องมีสติรู้ตัวตลอดเวลา
“ท้ายที่สุดทุกคนจำเป็นที่จะต้องมีสติ เว้นวรรคหยุดคิด 45 น. – 60 น. แล้วค่อยตัดสินใจว่า จริงหรือไม่จริง”
รับชมภาพบรรยากาศภายในงาน และสามารถรับชมเวทีทอล์กทั้ง 12 หัวข้ออีกครั้งได้ทาง www.thaipbs.or.th/VerifyTalk2025
“ตรวจสอบข่าวปลอม คัดกรองข่าวจริง” กับ Thai PBS Verify ได้ที่
.
• Website : www.thaipbs.or.th/Verify
• Facebook : www.facebook.com/ThaiPBSVerify
• IG : www.instagram.com/ThaiPBSVerify
• TikTok : www.tiktok.com/@ThaiPBSVerify
• LINE : www.thaipbs.or.th/LINEVerify