"สุกำพล"ชี้แนวทางเจรจา กุญแจสำคัญแก้ปัญหาภาคใต้

การเมือง
4 มี.ค. 56
06:14
40
Logo Thai PBS
"สุกำพล"ชี้แนวทางเจรจา กุญแจสำคัญแก้ปัญหาภาคใต้

สภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช.เรียกประชุมหน่วยงานด้านความมั่นคง เพื่อพิจารณาพื้นที่ประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ แทนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก่อนนำเสนอ ครม.พิจารณาอนุมัติ ขณะที่ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต ปฏิเสธข้อสังเกตว่า นายฮาซัน ตอยิบ คือ นายมะรีเป็ง คาน ที่เคยแถลงยุติก่อเหตุในภาคใต้ร่วม พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร เมื่อปี 2551 พร้อมชี้"การเจรจา" คือช่องทางแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ดีที่สุด

นอกจากคำยืนยันว่า การเปิดพื้นที่เพื่อพูดคุยทำความเข้าใจกับกลุ่มผู้ก่อเหตุความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือวิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดแล้ว พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต เปิดเผยด้วยว่า กรอบการเจรจาระหว่างตัวแทนรัฐบาล และกลุ่มผู้ก่อเหตุในภาคใต้ ต้องกำหนดในรายละเอียดให้ชัดเจน รวมถึงสถานที่จะเปิดการเจรจาพูดคุยกัน พร้อมปฏิเสธกลุ่มบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต ที่ลงนามร่วมกับ สมช. ไม่ใช่กลุ่มเดียว กับที่ พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ร่วมแถลงข่าวยุติความขัดแย้งในภาคใต้ เมื่อปี 2551

ขณะที่ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช. กล่าวถึงการประชุมร่วมกันของหน่วยงานด้านความมั่นคง ที่มี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ว่าจะพิจารณาการบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจาก พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จะสิ้นสุดกรอบการอนุมัติใช้จาก ครม.ในวันที่ 19 มีนาคมนี้ พร้อมยอมรับมีแนวโน้มการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินในบางพื้นที่ แต่นอกจาก สมช.ที่จะพิจารณาแล้ว ต้องรอข้อมูลจาก กอ.รมน. เพื่อพิจารณาสถานการณ์และความพร้อมของตำรวจ ทหารและพลเรือนในพื้นที่ก่อน

ส่วนการเปิดพื้นที่พูดคุยกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบนั้น เลขาธิการ สมช. ระบุว่า ในอนาคตอาจจะมีการพูดคุยกับ นายมะแซ อุเซง และนายสะแปอิง บาซอ แกนนำผู้ก่อความไม่สงบทั้ง 2 คนนี้ด้วย ส่วนข้อเสนอของนายนิมุ มะกาเจ ผู้ทรงคุณวุฒิจังหวัดยะลา ที่ระบุว่าหากการดำเนินการไม่ประสบผลสำเร็จ จะทำให้สถานการณ์บานปลาย เลขาธิการ สมช. กลับแสดงความมั่นใจในกระบวนการที่จะนำมาซึ่งการคลี่คลายปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ได้

สำหรรับพื้นที่ที่ สมช.จะได้ประชุมพิจารณาการยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินและมีแนวโน้มที่จะใช้พ.ร.บ.ความมั่นคงแทน น่าจะเป็น 5 อำเภอ คือ อำเภอเบตง และ อำเภอกาบัง จังหวัดยะลา อำเภอแว้ง และ อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส รวมทั้ง อำเภอไม้แก่น จังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นไปตามความเห็นพ้องต้องกันของ ร.ต.อ.เฉลิมและที่ปรึกษาในกลุ่มวาดะห์


ข่าวที่เกี่ยวข้อง