ส่งออกไทยไป"อียู"ขยายตัวเฉียด 7% ขณะที่ค้ากับเยอรมันโตกว่า 12% ชี้เศรษฐกิจแกร่ง

เศรษฐกิจ
6 มิ.ย. 56
11:41
1,124
Logo Thai PBS
ส่งออกไทยไป"อียู"ขยายตัวเฉียด 7% ขณะที่ค้ากับเยอรมันโตกว่า 12% ชี้เศรษฐกิจแกร่ง

ไทยควรเร่งขยายการค้าลงทุนร่วมพัฒนานวัตกรรม ใช้“เออีซี”ดึงดูดนักลงทุน เผยแรงงานฝีมือขาดแคลน เยอรมันเปิดช่อง นวดแผนไทย พ่อครัว/แม่ครัวอาหารไทยขอวีซ่าที่สถานทูตในกทม.แล้ว

 นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ(สค.) เปิดเผยรายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ(สคร.)ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต เยอรมันว่า การส่งออกไทยไปสหภาพยุโรป(อียู)ในช่วง 4 เดือนแรก(ม.ค.-เม.ย.)ของปี 2556 มีการขยายตัว 6.8% หรือ มีมูลค่า 6,575 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ท่ามกลางสถานการณ์และภาวะเศรษฐกิจที่ทรงตัว แต่เยอรมนียังคงเป็นประเทศที่มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและฟื้นตัวจากสภาวะเร็วและดีที่สุดของอียู เนื่องจากรัฐบาลเยอรมันดำเนินนโยบายสำคัญ คือการลดการว่างงาน และการสร้างงานในกลุ่มเยาวชนหนุ่มสาว รวมถึงการผลักดันการส่งออกสินค้าหลัก โดยเฉพาะยานยนต์และเครื่องจักรกล ซึ่งนำรายได้เข้าประเทศเป็นอันดับ 1 

“เยอรมันได้ขยายการลงทุนไปประเทศต่างๆ เพิ่มขึ้นมาก เช่น สหรัฐ จีน บราซิล อินเดียและไทย เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในตลาดสินค้ายานยนต์และตลาดสินค้าเครื่องบินและชิ้นส่วนประกอบต่างๆ โดยสินค้าส่งออกสำคัญของเยอรมนีในปัจจุบันและในอนาคต ได้แก่ สินค้ายานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกล  มอเตอร์เครื่องยนต์ และ ผลิตภัณฑ์ยา”นางศรีรัตน์ กล่าว  
การการสัมมนา Innovation: Made in Germany ให้นักธุรกิจที่สนใจขยายตลาดการค้าการลงทุนไปยังต่างประเทศ โดยเน้นการทำงานร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนานวัตกรรม(Innovation) สรุปว่า ควรใช้ Made in Germany เป็นจุดแข็งในการบุกตลาดต่างประเทศ เพราะคนทั่วโลกต่างมั่นใจในคุณภาพของสินค้า และพร้อมที่จะจ่ายเงินซื้อสินค้าในราคาที่แพงกว่าสินค้าจากประเทศอื่น ทั้งนี้เบื้องหลังความสำเร็จของเยอรมันอยู่ที่การสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพตั้งแต่ระดับช่างฝีมือไปจนถึงผู้บริหาร เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ และการผสมผสานการวิจัยในภาคการศึกษาและภาคเศรษฐกิจ ทำให้มีเม็ดเงินสูบฉีดเข้ามาในเรื่องการวิจัยมากขึ้น รวมทั้งยังให้ความสำคัญกับการวิจัยมาก โดยรัฐบาลเยอรมันใช้งบประมาณ(ไม่รวมงบประมาณที่ใช้ในเรื่องการศึกษา) ในปี 2553 ถึงประมาณ 70,000 ล้านยูโร คิดเป็น 2.8 % ของจีดีพี 
 
นางศรีรัตน์ กล่าวว่า แนวโน้มการลงทุนในอนาคตของภาคเศรษฐกิจเยอรมัน โดยเฉพาะภาคธุรกิจขนาดกลาง จะให้ความสำคัญกับการขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศ โดยเป้าหมายหลัก คือ จีน อีนเดีย และประเทศทวีปอเมริกาใต้ ภายใต้แนวคิดเน้นการผลิตเพื่อขายในภูมิภาคที่เข้าไปลงทุน ไม่ใช่เน้นการผลิตเพื่อส่งกลับมาจำหน่ายในเยอรมัน หรือในยุโรป และที่สำคัญต้องเน้นการลงทุนด้านการวิจัยในต่างประเทศควบคู่ไปกับการลงทุน ทั้งนี้โอกาสการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และไทยจะช่วยให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นที่น่าสนใจแก่นักลงทุนเยอรมันมากขึ้น เนื่องจากเยอรมันเห็นว่า ตลาดที่ยังมีการขยายตัวอยู่มาก หาก AEC สามารถสร้างจุดเด่นในการเป็นภูมิภาคการลงทุนที่มีแรงงานฝีมือ รวมถึงมีทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพที่พร้อมทำงานด้านการวิจัยก็จะเป็นที่ดึงดูดของนักลงทุนเยอรมันมากขึ้น การส่งเสริมสินค้าคุณภาพของไทย ควรเน้นเรื่องการประชาสัมพันธ์แบรนด์ประเทศ (Country Brand) เช่น การใช้ตราสัญลักษณ์ไทยแลนด์ ทรัสท์ มาร์ค(Thailand Trusted Mark) เพื่อให้ตราคุณภาพนี้เป็นที่รู้จักในหมู่ลูกค้าในวงกว้างและพัฒนาภาพลักษณ์ พร้อมคุณภาพสินค้าควบคู่กันไป 
นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการ สคร.แฟรงก์เฟิร์ต กล่าวว่า ตามที่แนวโน้มการส่งออกสินค้าของเยอรมันยังมีแววสดใสนั้น นับเป็นโอกาสอีของไทยที่จะส่งออกสินค้าเพื่อนำมาใช้อุตสาหกรรมต่างๆ ของเยอรมนี เพราะยังจำเป็นต้องนำเข้าสินค้าและชิ้นส่วนบางชนิด เพื่อนำไปประกอบและผลิตสินค้าก่อนส่งออกไปขายตามประเทศต่างๆ ทั่วโลก เช่น อุปกรณ์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์และชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องประดับแท้ พลายสีต่างๆ เป็นต้น เพื่อพัฒนารูปแบบและคุณภาพสินค้า พร้อมกันช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและปฏิบัติตามระเบียบของอียูอย่างเคร่งครัด 
“การขยายลู่ทางการค้า คงต้องมองกันให้ลึก เช่น ในปี 2565 เยอรมันจะหยุดใช้ไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งทำให้ทุกภาคส่วนต้องหันมาใช้พลังงานทางเลือกเพื่อผลิตไฟฟ้า เช่น พลังงานลม แสงอาทิตย์ แต่การผลิตพลังงานทางเลือกนี้ มีต้นทุนที่สูงกว่า ซึ่งอาจเป็นผลกระทบให้ต้องลดต้นทุนด้านอื่นๆ เช่น วิจัยและพัฒนา แต่จะเป็นโอกาสที่จะเรียนรู้การลดใช้พลังงานเพื่ออนุรักษ์โลก”นางศรีรัตน์ กล่าว 
 
นอกจากนี้ยังมีปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากเยอรมันมีอัตราการเกิดของประชากรค่อนข้างต่ำ และประชากร 1 ใน 5 เป็นประชากรที่อายุมากกว่า 65 ปี แต่กลุ่มยูโรโซนมีปัญหาการว่างงานจำนวนมาก ปัจจุบันเยอรมันออกกฎหมายอนุญาตให้นำเข้าแรงงานในสาขาที่ขาดแคลนจากประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกอียูได้ ซึ่งไทยได้ประโยชน์จากกรณีแรงงานฝีมือที่ต้องใช้ความสามารถที่ไม่สามารถเรียนรู้ในเยอรมันได้ เช่น การนวดแผนไทย พ่อครัว/แม่ครัวอาหารไทย นายจ้างในเยอรมันสามารถขอใบอนุญาตให้แก่ลูกจ้างได้ โดยต้องแสดงแบบฟอร์มการขอวีซ่าทำงาน โดยขอได้จากสถานทูตเยอรมันที่กรุงเทพฯ, สัญญาการจ้างงานครอบคลุมเรื่องอัตราเงินเดือน ชั่วโมงการทำงานเป็นภาษาเยอรมัน ใบรับรองตรวจสุขภาพที่เมืองไทย และใบรับรองและประกาศยนีบัตรต่างๆ เป็นต้น โดยขอได้จากสถานทูตเยอรมันที่กรุงเทพฯ เป็นต้น 
 
การส่งออกไทยไปเยอรมัน 4 เดือนแรก มีมูลค่า 1,279 ล้านเหรียญสหรัฐฯ(37,907 ล้านบาท) ขยายตัวกว่า 12.5% สินค้าส่งออกสำคัญ คือ อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น การนำเข้า 2,131 ล้านเหรียญสหรัฐฯ(64,121 ล้านบาท)ขยายตัว17.7% สินค้านำเข้า คือ เครื่องจักรและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์
 
 
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง