ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

20 พ.ค. คุ้มครองผู้โดยสารบินนอก "ดีเลย์-ยกเลิก" จ่ายสูงสุด 4,500

สังคม
13 พ.ค. 68
07:08
210
Logo Thai PBS
20 พ.ค. คุ้มครองผู้โดยสารบินนอก "ดีเลย์-ยกเลิก" จ่ายสูงสุด 4,500
อ่านให้ฟัง
05:11อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
20 พ.ค.นี้ เป็นต้นไป หากเดินทางด้วยเครื่องบินไปต่างประเทศ และเกิดความล่าช้า หรือ ถูกยกเลิกเที่ยวบิน สายการบินจะต้องรับผิดชอบตามข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือน หลังจากที่ก่อนหน้านี้ จะคุ้มครองเฉพาะเที่ยวบินในประเทศเท่านั้น

วันนี้ (13 พ.ค.2568) ข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือน ฉบับที่ 101 "มาตรการคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารเที่ยวบินแบบประจำในประเทศและระหว่างประเทศ" จะมีผลตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค.นี้ เป็นต้นไป ซึ่งจะเพิ่มความคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารกรณีเที่ยวบินระหว่างประเทศล่าช้าหรือยกเลิก โดยไม่ได้แจ้งผู้โดยสารล่วงหน้าและผู้โดยสารเดินทางถึงสนามบินแล้ว

โดยกรณีเที่ยวบินระหว่างประเทศล่าช้าเกิน 2 ชั่วโมง สายการบินจะต้องจัดอาหารและเครื่องดื่มหรือคูปองสำหรับแลกซื้ออาหารและเครื่องดื่มให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย พร้อมจัดอุปกรณ์ให้ผู้โดยสารใช้ในการติดต่อสื่อสาร

ส่วนกรณีล่าช้าเกิน 5 ชั่วโมง นอกจากชดเชยเหมือนกรณีเกิน 2 ชั่วโมงแล้ว ยังต้อง จ่ายค่าชดเชยเป็นเงินสดจำนวน 1,500 บาท หรือวงเงินเพื่อใช้ในการเดินทางครั้งต่อไป หรือบัตรกำนัลการเดินทาง เป็นต้น พร้อมจัดที่พัก พร้อมการรับ-ส่ง และหากผู้โดยสารไม่ประสงค์เดินทางต่อ จะต้องเสนอทางเลือก ระหว่างรับเงินค่าโดยสารคืน หรือรับวงเงินเพื่อใช้ในการเดินทางครั้งต่อไป

กรณีล่าช้าเกิน 10 ชั่วโมง นอกจากเงื่อนไขด้านบนแล้ว สายการบินยังต้องเสนอทางเลือก ระหว่าง รับค่าชดเชยเป็นเงินสดภายในระยะเวลาไม่เกิน 14 วัน โดยต้องจ่ายตามระยะทางของเที่ยวบินที่เกิดเหตุ เริ่มต้นที่ 2,000 บาท สูงสุด 4,500 บาท หรืออีกกรณี คือ รับค่าชดเชยเป็นวงเงินเพื่อใช้ในการเดินทางครั้งต่อไป หรือบัตรกำนัลการเดินทาง ไมล์สะสม โดยมีมูลค่าไม่ต่ำกว่าการชำระค่าชดเชยเป็นเงินสด

ส่วนกรณีเที่ยวบินถูกยกเลิก จะต้องชดเชยผู้โดยสารเช่นเดียวกับกรณีล่าช้าเกิน 10 ชั่วโมง ยกเว้นกรณีสายการบินแจ้งยกเลิกเที่ยวบินก่อนวันเวลาเดินทางไม่น้อยกว่า 7 วัน หรือกรณีที่สายการบินแจ้งน้อยกว่า 7 วัน แต่สามารถเปลี่ยนเที่ยวบินให้ผู้โดยสารเดินทางไปยังจุดหมายที่ระบุในบัตรโดยสารได้เร็วหรือช้ากว่าไม่เกิน 3 ชั่วโมง และในกรณีที่การยกเลิกเที่ยวบินเกิดจากเหตุการณ์ภายนอกที่ไม่อาจคาดหมายและไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดขึ้น เช่น ถ้าหากคุณผู้ชมจะเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เวลา 18.00 น. แต่เที่ยวบินล่าช้า กำหนดออกอีกที 05.00 น. ของอีกวันหนึ่ง เท่ากับว่าล่าช้าเกิน 10 ชั่วโมง เส้นทางนี้ระยะทางประมาณ 2,800 ไมล์ หรือกว่า 4,500 กิโลเมตร เท่ากับว่า สายการบินจะต้องหาอาหารและเครื่องดื่ม หรือคูปองสำหรับแลกซื้ออาหารและเครื่องดื่มให้ พร้อมอุปกรณ์เพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสาร

นอกจากนี้ ต้องเสนอให้ผู้โดยสารเลือกรับค่าชดเชยเป็นเงินสด 4,500 บาท หรืออาจเป็นวงเงิน หรือบัตรกำนัลเพื่อใช้ในการเดินทางครั้งต่อไป เป็นต้น แต่มูลค่าต้องไม่ต่ำกว่า 4,500 บาท และยังต้องจัดที่พักพร้อม รับ-ส่งให้ด้วย เมื่อผู้โดยสารไม่อยากเดินทางแล้ว สายการบินต้องเสนอทางเลือก คืนเงินเต็มจำนวน หรือรับเป็นวงเงินเพื่อใช้ในการเดินทางครั้งต่อไป หรือบัตรกำนัลการเดินทาง หรือไมล์สะสม เป็นต้น

หรืออีกตัวเลือก คือ เปลี่ยนเที่ยวบิน ไปยังจุดหมายปลายทางที่ระบุไว้ในตั๋วหรือไปยังจุดหมายปลายทางอื่น ๆ ที่ใกล้เคียง

ข้อบังคับฉบับใหม่นี้ ยังครอบคลุมไปถึงกรณีเที่ยวบินล่าช้าขณะที่เครื่องบินยังอยู่บนพื้นและผู้โดยสารอยู่บนเครื่องบิน กรณีล่าช้าเกิน 3 ชั่วโมง และยังไม่มีกำหนดเวลาทำการบินขึ้น ต้องอนุญาตให้ผู้โดยสารลงจากเครื่องบินได้ เว้นแต่กรณีที่อาจกระทบต่อความปลอดภัย หรือการรักษาความปลอดภัยหรือเหตุผลด้านการจัดการจราจรทางอากาศ

อ่านข่าวอื่น :

13 พ.ค. เช็กพื้นที่ทดสอบระบบ แจ้งเตือนภัยพิบัติ Cell Broadcast

นิมนต์พระ 109 รูป ทำบุญให้ผู้ประสบภัยตึก สตง.ก่อนส่งคืนพื้นที่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง