กนอ. ผุดนิคมฯไฮเทคแห่งที่สอง ตั้งฐานที่ "กบินทร์บุรี" รองรับนักลงทุนไทย-ต่างชาติ

เศรษฐกิจ
6 มิ.ย. 56
13:34
306
Logo Thai PBS
กนอ. ผุดนิคมฯไฮเทคแห่งที่สอง ตั้งฐานที่ "กบินทร์บุรี" รองรับนักลงทุนไทย-ต่างชาติ

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ผุดนิคมฯไฮเทคแห่งที่สองของไทย เพื่อรองรับการขยายตัวของการลงทุนด้านอุตสาหกรรม โดยเฉพาะลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย อาทิ ญี่ปุ่น จีน

 นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ประธานกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า  กนอ. เตรียมจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมไฮเทคกบินทร์ จังหวัดปราจีนบุรี  เพื่อสร้างความพร้อมและโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการลงทุนประกอบอุตสาหกรรมและรองรับการขยายการลงทุน ตลอดจนรองรับการขยายการลงทุนด้านอุตสาหกรรมจากลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย ทั้งนักลงทุนประเทศญี่ปุ่น จีน เกาหลี โดยจะนำแนวคิดการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศมาเป็นกรอบในการออกแบบพัฒนาโครงการฯ โดยเมื่อวันที่ 6 มิถุนายนมีการลงนามในสัญญาร่วมดำเนินงานจัดตั้งนิคมไฮเทคแห่งใหม่ นิคมอุตสาหกรรมไฮเทคกบินทร์  เป็นความร่วมมือระหว่าง กนอ. และบริษัท ไฮเทค กบินทร์ โลจิสติกส์ จำกัด ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลหาดนางแก้วและตำบลลาดตะเคียน อำเภอกบินทร์บุรี  จังหวัดปราจีนบุรี  มีพื้นที่โครงการประมาณ 1,066 ไร่  พัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่งบประมาณลงทุนกว่า 972 ล้านบาท 

 
นายวิฑูรย์ กล่าวว่า กนอ. เชื่อว่า บริษัทไฮเทค กบินทร์ โลจิสติกส์ จำกัด จะสามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากเป็นบริษัทฯในเครือของผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ดำเนินการมากว่า 22 ปี มีประสบการณ์ด้านการบริหารอสังหาริมทรัพย์ พิจารณาเห็นถึงความพร้อมและความเป็นไปได้ในการจัดตั้งนิคมฯ ทั้งด้านการตลาด ด้านเทคนิค ด้านกฎหมาย และด้านการเงิน ทั้ง ด้านการตลาด มีกลุ่มเป้าหมายอุตสาหกรรมที่ชัดเจนและมีโอกาสขยายตัวต่อเนื่อง ด้านเทคนิค มีการออกแบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการขั้นพื้นฐานที่สอดคล้องกับแนวคิดเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และด้านกฎหมาย ที่ตั้งโครงการ ตั้งอยู่ในเขตสีม่วง (ที่ดินประเภทอุตสาหกรรมและคลังสินค้า) ของจังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่สามารถจัดตั้งนิคมฯ ได้  ส่วนด้านการเงิน มีทุนจดทะเบียน 400 ล้านบาท และชำระเต็มจำนวนแล้ว มีสภาพคล่องทางการเงินที่ดี
 
นายวิฑูรย์ กล่าวว่า การดำเนินงานโครงการ ได้นำแนวความคิดการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศมาประยุกต์ใช้ อาทิ การนำน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ การกำจัดขยะที่เป็นระบบ และมีการกำหนดพื้นที่สีเขียวแนวกันชนโดยรอบพื้นที่กว้างกว่า 5 เมตร เป็นต้น เพื่อให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ กนอ. และการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โครงการดังกล่าว ยังสอดรับกับนโยบายรัฐบาล ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศไทย การเพิ่มพื้นที่เพื่อการอุตสาหกรรมรองรับการขยายตัวของกลุ่มอุตสาหกรรมคลัสเตอร์  อีกทั้ง จังหวัดปราจีนบุรี ยังเป็นพื้นที่เป้าหมายที่จะพัฒนาสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) อีกด้วย โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลาการพัฒนาโครงการฯ ภายใน 2 ปี 
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง