วิเคราะห์การคลี่คลายคดี "เอกยุทธ"

อาชญากรรม
14 มิ.ย. 56
14:14
74
Logo Thai PBS
วิเคราะห์การคลี่คลายคดี "เอกยุทธ"

คดีการฆาตกรรมนายเอกยุทธ อัญชันบุตร ตำรวจใช้เวลาไม่ถึงสัปดาห์สามารถคลี่คลายคดี และติดตามตัวผู้เกี่ยวข้องมาดำเนินคดีได้ด้วยความรวดเร็ว ทำให้สังคมตั้งข้อสังเกต ถึงความผิดปกติหลายอย่าง ขณะที่ตำรวจให้น้ำหนักเรื่องฆ่าเพื่อชิงทรัพย์ แต่พบว่าทรัพย์สินบางอย่างของนายเอกยุทธ ผู้ต้องหากลับนำไปทิ้ง

วันนี้ (14 มิ.ย.2556) ผู้ต้องหา 6 คนถูกดำเนินคดี แต่การให้การของนายสุทธิพงษ์ พิมพ์พิสาร ผู้ต้องหาคนสุดท้ายกลับ ขัดแย้งกับนายสันติภาพ เพ็งด้วง คนขับรถ แม้จะมีหลายประเด็นที่ไม่ชัดเจน แต่มีทางญาติของนายเอกยุทธ ออกมาบอกว่าไม่ติดใจสาเหตุการตายว่ามาจากเรื่องอื่น นอกจากประสงค์ต่อทรัพย์

ผู้ต้องหาคนสุดท้าย คือ นายสุทธิพงษ์ พิมพ์พิสาร หรือ "เบิ้ม"  ที่เข้ามอบตัวกับตำรวจ พร้อมยอมรับว่า เป็นผู้รู้เห็นทุกขั้นตอนตั้งแต่เริ่มต้นในวันที่ 6 มิ.ย.2556

โดยนาย "เบิ้ม" อ้างว่า 1 สัปดาห์ก่อนเกิดเหตุ สันติภาพ เพ็งด้วง คนขับรถ กล่าวว่ามีปัญหากับคนคนหนึ่งและต้องการให้ช่วย จึงนัดพบกันที่ท้ายซอยประดิพัทธ์12 เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.2556  จากนั้น สันติภาพ นำรถตู้สีดำไปรับและบอกให้ซ่อนตัวอยู่ในรถ จุดนี้จึงถูกอ้างตามคำให้การว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการลงมือตามแผนร่วมกันปล้นทรัพย์นายเอกยุทธ

ขณะออกจากร้านอาหารครัวกระแต  นาย"เบิ้ม" อ้างคำให้การว่าซ่อนตัวตรงจุดพักเท้าเบาะหน้ารถจนกระทั่งถึงถนนลาดพร้าว นายสันติภาพ ได้จอดรถข้างทางพร้อมทั้งข่มขู่นายเอกยุทธ จากนั้นบอกให้แสดงตัว แล้วใช้ปืนของนายเอกยุทธ ที่อยู่ในช่องเก็บของหน้ารถบังคับข่มขู่

แต่คำให้การของนายเบิ้ม กลับเป็นคำให้การตรงกันข้ามกับนายสันติภาพ ที่เคยอ้างถึงว่านายเบิ้ม คือ คนลงมือฆ่ารัดคอ  คำให้การของผู้ต้องหา ทั้ง 2 คนนี้ จึงไม่ตรงกัน

คำให้การของนายสุทธิพงษ์ หรือ "เบิ้ม" โยนความผิดทุกขั้นตอน ตั้งแต่การวางแผน ใช้ปืนบังคับข่มขู่ ทำหน้าที่ขับรถ  ทำหน้าที่พูดคุยหรือบังคับนายเอกยุทธ  รวมถึงขณะลงมือบีบคอนายเอกยุทธ จนขาดอากาศ ระหว่างพยายามหนีตายเอาชีวิตรอด  เตรียมการเรื่องสถานที่พักทั้งหมด ติดต่อกับผู้เกี่ยวข้องเพื่อฝากเงิน 5 ล้านบาท จนกระทั่งขั้นตอนสุดท้าย คือการติดต่อเพื่อนที่จังหวัดพัทลุงเพื่อให้ช่วยฝังศพ ไปจนถึงการทำลายหลักฐานทั้งเสื้อผ้า และทรัพย์สินของนายเอกยุทธ ทั้งหมด

แม้คดีนี้ผู้ต้องหาตามความผิดร่วมกันปล้นทรัพย์ถูกควบคุมตัวแล้วทั้งหมด 6 คน  แต่คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพฯ วุฒิสภา ยืนยันว่าจะพิจารณาคดีอุ้มฆ่านายเอกยุทธ และเตรียมเชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไปสอบถามในการประชุม วันที่ 27 มิ.ย.2556  เพราะเห็นว่าคดีนี้มีเงื่อนงำ และอาจมีความลึกซึ้งมากกว่าคดีฆาตรกรรมปล้นทรัพย์  พร้อมทั้งเรียกร้องให้ หน่วยงานอื่นมาตรวจสอบร่วม เช่น สภาทนายความ สมาคมนักข่าว

และวันนี้ (14 มิ.ย.2556) ผู้ต้องหาคดีฆาตรกรรมนายเอกยุทธ ถูกนำตัวไปฝากขัง หลังจากถูกแจ้งข้อกล่าวหาร่วมกันวางแผนปล้นทรัพย์  เจตนาร่วมกันฆ่านายเอกยุทธ  กักขังหน่วยเหนี่ยว บังคับข่มขู่ และปิดบังทำลายศพ

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง