ตำรวจควบคุม "โกโต้ง" สอบปากคำที่ อ.หาดใหญ่

อาชญากรรม
18 พ.ค. 58
14:56
160
Logo Thai PBS
ตำรวจควบคุม "โกโต้ง" สอบปากคำที่ อ.หาดใหญ่

ตำรวจชุดปฏิบัติการพิเศษควบคุมตัวนายปัจจุบัน อังโชติพันธ์ หรือ โกโต้ง ผู้ต้องหาคนสำคัญที่ถูกออกหมายจับในข้อหาค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา ที่เข้ามอบตัวกับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติวันนี้ (18พ.ค.2558) เดินทางถึง จ.สงขลา แล้ว พร้อมนำตัวเข้าสอบสวนที่ศูนย์ปฏิบัติตำรวจภูธรภาค 9 ส่วนหน้าทันที

ตำรวจชุดปฏิบัติการพิเศษตำรวจภูธรภาค 9 คุมตัวนายปัจจุบัน อังโชติพันธ์ หรือ โกโต้ง ผู้ต้องหาคนสำคัญคดีค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา มาสอบสวนที่ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจภูธรภาค 9 ส่วนหน้าที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา หลังนายปัจจุบัน หรือ โกโต้ง เข้ามอบตัวเมื่อช่วงบ่ายวันนี้ 
 
ตำรวจภูธรภาค 9 เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางตำรวจภูธรภาค 9 ได้เตรียมพนักงานสอบสวนไว้สอบปากคำโกโต้งทันที แม้ขณะนี้โกโต้ง จะปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาในเรื่องค้ามนุษย์ แต่ทางชุดสืวบสวนมีหลักฐานแน่นหนา สามารถเอาผิดในคดีนี้ได้ ทางตำรวจยืนยันจะคัดค้านการประตัวโกโต้ง เพราะเป็นตัวการสำคัญคดีนี้
 
ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมตรีฝ่ายความมั่นคง เดินทางไปประชุมกับผู้ว่าราชการจังหวัดแถบชายฝั่งทะเลอันดามันทั้ง 5 จังหวัด ในวันนี้ ที่ จ.ภูเก็ต เพื่อหาแนวทางป้องกันขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา
 
รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่น กล่าวว่า ประเทศไทยไม่จัดตั้งศูนย์อพยพ หรือศูนย์ชาวโรฮิงญาขึ้นแน่นอน เพราะไม่มีพื้นที่ และประชาชนในพื้นที่ไม่เห็นด้วย ส่วนการป้องกันไม่ให้ขบวนการค้ามนุษย์ ได้เน้นย้ำผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 5 จังหวัด ให้ปราบปรามขบวนการนี้ทุกรูปแบบ และให้ปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาลเรื่องปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างเข้มงวด
 
จนถึงขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังไม่ยืนยันข้อเท็จจริงกรณีเมียนมาปฏิเสธเข้าร่วมประชุม 15 ชาติ ที่ว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดียที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมที่กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 29 พฤษภาคมนี้ พร้อมยืนยันว่าไทยจะไม่กดดันเมียนมา และอาเซียนจะไม่นำประเด็นปัญหาชาวโรฮิงญามาเป็นความขัดแย้งในภูมิภาค และย้ำว่าการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง หรือการสร้างศูนย์พักพิงชั่วคราว จะมีมติร่วมกัน 15 ชาติ เพื่อกำหนดแนวทางที่ชัดเจน
 
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไทยจะแก้ปัญหาชาวโรฮิงญาด้วยหลักมนุษยธรรมควบคู่ไปกับภารกิจความมั่นคง โดยเชื่อว่าองค์กรระหว่างประเทศจะให้การสนับสนุนและช่วยเหลือเช่นกัน และจนถึงขณะนี้ยังไม่พบรายงานว่ามีกำลังพลทหารเข้าไปเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา
 
ขณะที่ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการทหารบก ยืนยันในข้อมูลว่าไม่พบนายทหารระดับ พล.ต.เข้าไปยุ่งเกี่ยว และชี้ว่าการปรับย้ายนายทหารที่เกิดขึ้น เป็นไปตามวาระปกติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในกองทัพ ส่วนการสรรหาพื้นที่จัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราวนั้น ยังไม่มีความชัดเจน แต่ระบุว่าจะเป็นเพียงที่พักชั่วคราว ไม่ใช่ศูนย์อพยพ
 
ด้านสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สตูล เปิดประชุมสภาวิสามัญครั้งที่ 1 เพื่อให้สมาชิกสภา อบจ.ได้แสดงความเห็น เพื่อดำเนินการถอดถอนสมาชิก อบจ.จำนวน 3 คนที่ถูกออกหมายจับคดีค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา โดยให้สมาชิกที่เข้าประชุม แสดงความเห็นว่าสมควรให้มีการถอดถอนสมาชิก อบจ.ที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ออกจากตำแหน่งหรือไม่ โดยจะมีการประชุมเพื่อลงมติในอีก 5 วันนับจากนี้
 
ขณะเดียวกัน อบจ.สตูล กำลังหาแนวทางสร้างภาพลักษณ์ อบจ.ขึ้นใหม่ หลังสมาชิกเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ ทำให้ อบจ.สตูล ถูกมองในเชิงลบ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง