นวัตกรรมใหม่ “ยางแห้ง” ผสมยางมะตอยราดถนน โชว์ลอนดอน เร็วๆนี้

Logo Thai PBS
นวัตกรรมใหม่ “ยางแห้ง” ผสมยางมะตอยราดถนน โชว์ลอนดอน เร็วๆนี้

กรมวิชาการเกษตรพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ใช้ “ยางแห้ง” ผสมยางมะตอยราดถนน ชี้ข้อดีไม่ต้องใช้สารเคมีราคาแพง ง่ายสำหรับผู้ประกอบการ-กลุ่มเกษตรกร ขยายผลต่อยอดสู่อุตสาหกรรมได้ เตรียมเสนอต่อที่ประชุม IRRDB หวังจีนปิ๊งไอเดียนำไปใช้ หนุนส่งออกยางพาราไทย ช่วยรักษาเสถียรภาพราคา

 นางณพรัตน์ วิชิตชลชัย ผู้อำนวยการกลุ่มอุตสาหกรรมยาง สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า สถาบันวิจัยยางได้พัฒนาเทคโนโลยีการใช้ยางธรรมชาติผสมยางมะตอยราดถนนใหม่ โดยใช้ยางแห้งแทนการใช้น้ำยางข้น อัตรา 5 % ผสมยางมะตอยในงานราดถนน ซึ่งเทคโนโลยีใหม่นี้ไม่ต้องใช้สารเคมีที่มีราคาแพง สามารถนำยางพารามาใช้ได้หลายรูปแบบ เช่น ยางเครพ ยางแผ่นผึ่งแห้ง ยางแผ่นรมควัน ยาง Cutting จากยางแผ่นรมควัน และฯลฯ ทั้งยังไม่เกิดฟองและแรงดันในขณะผสมยางกับยางมะตอย ทำให้ไม่มีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายระหว่างผสม

 
ทั้งยังเป็นเทคโนโลยีที่ง่ายและไม่ซับซ้อน ผู้ประกอบการสามารถดำเนินการได้โดยมีข้อจำกัดน้อย ช่วยลดการผูกขาด ซึ่งสามารถขยายผลต่อยอดทั้งด้านเครื่องมือและอุปกรณ์ รวมถึงเทคโนโลยีการผสมไปสู่กลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการให้ผลิตในเชิงพาณิชย์ได้  เป็นการเพิ่มทางเลือกและสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ในภาคอุตสาหกรรมยางพาราไทย ที่สำคัญยังเป็นแนวทางช่วยสร้างเสถียรภาพราคายางได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะยางแห้งที่อยู่ในโครงการรักษาเสถียรภาพราคายาง ถึงแม้ยางนั้นจะเสียรูปทรงไปก็สามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบผสมกับยางมะตอยเพื่องานราดถนนได้  ดีกว่าเก็บยางไว้นานไปยางจะเสื่อมสภาพลง
 
นางณพรัตน์กล่าวว่า การใช้ยางแห้งผสมยางมะตอยราดถนน เบื้องต้นต้องเตรียมหัวเชื้อหรือยางผสม(Master batch) โดยใช้ยางแห้งกับยางมะตอย AC60/70 สัดส่วน 1:1 ผสมโดยใช้เครื่องผสมแบบปิด(Internal Mixer)ในโรงงานผลิตผลิตยางทั่วไปได้ ใช้เวลาในการบดผสม ประมาณ 1 ชั่วโมง จากนั้นนำหัวเชื้อไปละลายในยางมะตอย AC60/70 ที่จะใช้ราดถนนได้โดยตรง หากไม่มีเครื่องกวนผสม โรงงานผสมยางมะตอยทั่วไปสามารถนำหัวเชื้อใส่ในถังต้มยางมะตอย แต่ต้องคำนวณให้มีสัดส่วนของยางพารา 5 %   คือ ใช้ยางมะตอยปกติ จำนวน  9 ตัน ใส่หัวเชื้อ 1 ตัน ต้มที่อุณหภูมิ 160-170 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 2 ชั่วโมง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผสม  และควรเปิดระบบเวียนยางมะตอยในการผสม ประมาณ 30 นาที ก็นำไปราดถนนและผลิตในเชิงการค้าได้  
 
นางณพรัตน์ กล่าวอีกว่า หากต้องการผลิตเป็นยางมะตอย พรีเบลนด์ ที่มียางพาราผสม 5 % ควรมีถังผสมและมีการติดใบกวนด้วย โดยสามารถดูแบบแปลนเครื่องผสมได้ที่สถาบันวิจัยยาง อย่างไรก็ตาม อนาคตหากภาครัฐมีการสนับสนุนให้ใช้ยางพาราผสมยางมะตอยราดถนนอย่างเป็นรูปธรรม คาดว่า จะมีการนำยางแห้งมาใช้ปริมาณมาก เนื่องจากถนนกว้าง 11 เมตร ระยะทาง 1 กิโลเมตร จะใช้ยางแห้ง ประมาณ 3.3 ตัน และต้องผลิตหัวเชื้อที่จะใช้ผสมกับยางมะตอยถึง 6.6 ตัน ซึ่งทำให้มีปริมาณมากพอที่จะดำเนินการทางอุตสาหกรรมได้
 
“สถาบันวิจัยยางได้มีแผนนำเสนอเทคโนโลยีการใช้ยางแห้งผสมยางมะตอยในงานราดถนน ต่อที่ประชุมประเทศสมาชิกสภาวิจัยและพัฒนายางระหว่างประเทศหรือไออาร์อาร์ดีบี(IRRDB) ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2556 นี้ เพื่อกระตุ้นให้ประเทศสมาชิก IRRDB นำเทคโนโลยีดังกล่าวนี้ไปใช้เพิ่มมากขึ้น อนาคตหากประเทศจีนซึ่งเป็นผู้ใช้ยางรายใหญ่นำเทคโนโลยีการใช้ยางแห้งผสมยางมะตอยราดถนนไปใช้อย่างจริงจัง คาดว่า จะเอื้อประโยชน์ต่อการส่งออกยางพาราของไทยสูงมาก ซึ่งจะเป็นแหล่งรองรับผลผลิต ช่วยเพิ่มปริมาณการใช้ยางธรรมชาติ พร้อมยกระดับราคาและช่วยรักษาเสถียรภาพราคายางได้” นางณพรัตน์กล่าว
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง