นักวิชาการกังวล"บทบาทสื่อ" ต่อการเสนอประเด็น"พูดคุยสันติภาพใต้"

18 มิ.ย. 56
14:36
98
Logo Thai PBS
นักวิชาการกังวล"บทบาทสื่อ" ต่อการเสนอประเด็น"พูดคุยสันติภาพใต้"

นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนกังวลว่าการขาดองค์ความรู้ของสื่อต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพ และธรรมชาติของสื่อที่ต้องการเสนอข่าวแบบรวดเร็ว และเร้าใจ อาจกลายเป็นระเบิดเวลาที่ขัดขวางกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ขณะที่หนึ่งในแผนโรดแมปของการพูดคุยสันติภาพ ที่สภาประชาสังคมชายแดนใต้เสนอ คืออยากให้สื่อเปิดพื้นที่ให้คนหลายกลุ่มได้ถกเถียง เพื่อร่วมสร้างสันติภาพในพื้นที่

ความย้อนแย้งของธรรมชาติการทำข่าวของสื่อมวลชนที่ต้องการข่าวสารที่รวดเร็ว เปิดเผย และเร้าใจ ซึ่งแตกต่างจากการพูดคุยสันติภาพที่ต้องใช้เวลานาน ปิดลับ และต้องช่วยคลี่คลายความขัดแย้ง ส่งผลให้การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนที่รายงานข่าวการพูดคุยสันติภาพในปัจจุบันยังมีความบกพร่องอยู่มาก จึงถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยผ่านเวที “การรายงานข่าวกระบวนการพูดคุยสันติภาพ” ที่กลุ่มเอฟที มีเดีย และเพื่อน จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

โดยนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน เห็นว่าปัญหาการรายงานข่าวของสื่อมวลชน เกิดจากมีองค์ความรู้น้อย และในระดับนโยบายหรือองค์กร ยังไม่ขับเคลื่อนแนวความคิดเพื่อหนุนเสริมการพูดคุยสันติภาพ เช่น การตั้งโต๊ะเฉพาะกิจเพื่อรายงานข่าวนี้ ทำให้ข่าวสารที่สื่อออกไปกลับแยกย่อยจนมองไม่เห็นจุดหมายปลายทางของการสร้างสันติภาพ

แม้จะมีสื่อวิทยุท้องถิ่นบางแห่งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เริ่มเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพ แต่ยังมีน้อยมากเมื่อเทียบประเทศอื่นๆ ที่เกิดความขัดแย้ง อีกทั้งสื่อบางสำนักมีอคติต่อการพูดคุยสันติภาพ ทำให้เกิดความขัดแย้งเพิ่มขึ้น

ความสำคัญของสื่อมวลชนต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ทำให้หนึ่งในข้อเรียกร้องตามแผนโรดแมป ที่สภาประชาสังคมชายแดนใต้เสนอ คือ เห็นว่าสื่อต้องเรียนรู้ในกระบวนการสันติภาพ โดยเฉพาะเรื่องประวัติศาสตร์ และสังคมวัฒนธรรมในพื้นที่ ต้องรายงานข่าวสารที่สอดรับกับการสร้างสันติภาพ และสื่อควรใช้แหล่งข่าวหลากหลายกลุ่ม เพื่อให้เกิดการถกเถียง นำมาซึ่งการร่วมสร้างสันติภาพร่วมกัน และสำคัญ คือ สื่อจะต้องก้าวข้ามความกลัว เพื่อให้กระบวนการนี้ไม่ล่มกลางคัน 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง