ไจก้าเผยกรุงเทพฯ-ปริมณฑลเสี่ยงน้ำท่วมมากขึ้น

21 มิ.ย. 56
14:08
50
Logo Thai PBS
ไจก้าเผยกรุงเทพฯ-ปริมณฑลเสี่ยงน้ำท่วมมากขึ้น

ระยะเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมา องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น หรือไจก้า ได้ร่วมศึกษาแผนแม่บทเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยากับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรมชลประทาน และกรมทรัพยากรน้ำ ซึ่งเป็นความช่วยเหลือด้านวิชาการจากรัฐบาลญี่ปุ่นให้กับรัฐบาลไทย เมื่อวานนี้ (20 มิ.ย.2556) ไจก้าได้สรุปผลการศึกษาแผนแม่บทฉบับสมบูรณ์แล้ว โดยประเมินว่าการยกถนนและสร้างคันกั้นน้ำที่ไทยได้ใช้งบเร่งด่วนแก้ปัญหาน้ำท่วมไปเมื่อปื2555กลับจะส่งผลให้เสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมเพิ่มมากขึ้นกว่าปี 2554 ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ถ้ามีน้ำหลากมามากเท่าเดิม

หลังจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น หรือไจก้า ใช้เวลาศึกษามากว่า 1 ปี เพื่อจัดทำแผนแม่บทแก้ปัญหาน้ำท่วมในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา

โดยไจก้าพบว่า การแก้ปัญหาระยะเร่งด่วนของไทยที่ใช้งบประมาณไปเมื่อปีที่แล้วกว่า 1 แสน 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีการทำคันปิดล้อมกรุงเทพและปริมณฑล ด้วยการยกถนน และทำพนังกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้กรุงเทพและปริมณฑลมีความเสี่ยงน้ำท่วมมากขึ้นกว่าเดิมถ้ามีปริมาณน้ำมากเท่ากับปี 2554

การเปิดเผยผลการศึกษาครั้งสุดท้ายของไจก้านี้เป็นครั้งแรกที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งเป็นผู้จัดงานไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนฟัง โดยให้เหตุผลว่าเป็นการสัมมนาแบบปิดเฉพาะหน่วยงาน และนักวิชาการที่เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร ซึ่งเป็นหนึ่งในกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย หรือกบอ. ที่เข้าร่วมสัมมนาให้ข้อมูลกับไทยพีบีเอสว่า ไจก้าแนะนำว่าควรแก้ปัญหาน้ำท่วมทั้งมาตรการใช้สิ่งก่อสร้าง และไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง เพราะไม่สามารถป้องกันน้ำท่วมได้ทั้งหมด จึงจำเป็นต้องมีมาตรการให้ชุมชนอยู่กับน้ำท่วมได้ เกษตรกรควรควรปรับเปลี่ยนฤดูปลูกข้าวและเก็บเกี่ยว โดยเดือนที่เสี่ยงน้ำท่วม ควรปรับตัวมาทำประมงแทน

นอกจากนี้ไจก้า ให้ข้อมูลอีกว่าเมื่อประเมินโครงการก่อสร้าง 9 สัญญาของกบอ. พบว่า แม้การก่อสร้างจะแล้วเสร็จ พื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเหนือกรุงเทพก็ยังจะถูกน้ำท่วมเช่นเดิม แต่กรุงเทพและปริมณฑลจะปลอดภัย โดยใช้งบประมาณกว่า 300,000 ล้านบาท แต่ไจก้าเสนอให้ทำเพียงทางผันน้ำที่ตัดยอดน้ำจากอยุธยาลงมาร่วมกับคลองผันน้ำขนานกับถนนวงแหวนรอบที่ 3 ซึ่งจะใช้งบประมาณเพียง 100,000 ล้านบาท ก็จะได้ผลลัพธ์เท่ากัน ขณะที่นักวิชาการด้านภัยพิบัติ เตือนว่า ขณะนี้ประเทศไทยใช้วิธีรวบรัดก่อสร้างโครงการจัดการน้ำโดยไม่ศึกษาเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียว่าสิ่งไหนคุ้มค่าที่สุด จึงเสี่ยงที่จะสามารถลดน้ำไปได้เพียงเล็กน้อย แต่ต้องเสียเงินมหาศาลไป


ข่าวที่เกี่ยวข้อง