สะท้อนเอกลักษณ์ของชาติ ผ่านภูมิปัญญาผ้าทอพื้นเมืองไทย-ลาว

Logo Thai PBS
สะท้อนเอกลักษณ์ของชาติ ผ่านภูมิปัญญาผ้าทอพื้นเมืองไทย-ลาว

เอกลักษณ์ผ้าทอในชีวิตประจำวัน บ่งบอกภูมิปัญญาสร้างสรรค์ของผู้รังสรรค์ผลงาน นำมาถ่ายทอดผ่านกิจกรรมความร่วมมือทางวัฒนธรรมของคนสองฝั่งโขงไทย-ลาว เวทีเสวนาบ้านเราอุษาคเนย์ จัดที่จังหวัดหนองคาย

เอกลักษณ์แต่งกายของชนพื้นเมืองกว่า 10 เผ่าในลาว ที่แม้ต่างแบบ หากปราณีตในการตกแต่ง ถักทอ เป็นซิ่นตามแบบแผนเครื่องแต่งกายในวัฒนธรรมลาว ถ่ายทอดผ่านการแสดงรวมเผ่า โดยเยาวชนวิทยาลัยนาฏศิลป์ลาว ที่ตั้งใจข้ามมาเผยแพร่วัฒนธรรมกับเพื่อนบ้านไทย สะท้อนรูปแบบการนุ่งซิ่นที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของชาติ 

ผ้าซิ่นอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้หญิงลาวแทบทุกคน เป็นเครื่องแบบนักเรียน นักศึกษา เหมือนการตำซิ่น ซึ่งยังมีมากในหมู่บ้านวัฒนธรรมลาว ที่อาโนลิน พะไกสอน นักวิชาการวัฒนธรรมลาวเห็นว่า การแบบและลายที่ประดิษฐ์พัฒนาขึ้นใหม่ บ่งบอกความสร้างสรรค์ไม่หยุดนิ่งของผู้ทอ เป็นความภูมิใจเมื่อยามสวมใส่ ครั้งนี้ยังได้แลกเปลี่ยนความรู้กับผู้สนใจวัฒนธรรมสองฝั่งโขง     

โคมพาแลง ซึ่งทำจากพานสานด้วยไม้ไผ่ เย็บต่อกับผ้อทอลายดอกแก้ว หมายถึงคุณงามความดี และดอกกระถิ่นทำจากฝ้ายเส้นเล็กๆ มัดรวมกัน แสดงถึงความสามัคคี เป็นของมงคลที่ชาวบ้านวังน้ำมอก ใช้เมื่อมีงานบายศรีสู่ขวัญ ซึ่งทุกวันนี้คนในชุมชนยังได้รักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมกันอยู่

ผลิตภัณฑ์พื้นเมืองจากผ้าฝ้ายบ้านวังน้ำมอก จังหวัดหนองคาย มาจากฝีมือชาวบ้านเกือบทุกขั้นตอน เป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดกันอยู่ในหมู่บ้าน เช่น การทอผ้าลายดอกแก้ว ถือเป็นพื้นฐานการขึ้นลายเพื่อพัฒนาไปสู่ลวดลายอื่นที่ยากขึ้น ทุกวันนี้ยังถ่ายทอดให้เยาวชนและผู้สนใจ เรียนรู้ผ่านกิจกรรมท่องเที่ยววัฒนธรรมชุมชนที่ทำมากว่า 10 ปี สอดแทรกวิธีคิดของคนรุ่นก่อน รวมถึงการใช้ผ้าทอมือในวิถีชีวิต

ผ้าทอสองฝั่งโขงเกิดจากภูมิปัญญาในการปรับประยุกต์วัตถุดิบประจำถิ่น เช่น ฝ้าย ไหม มาทำเส้นด้าย ตลอดจนคราม สีจากธรรมชาติย้อมลายมัดหมี่  ความเป็นหนึ่งเดียว ยังสะท้อนผ่านลวดลายที่มีเหมือนกัน อย่างพญานาค ความเชื่อของคนลุ่มน้ำโขงไทย - ลาว บอกถึงความใกล้ชิดแนบแน่นฉันท์เครือญาติวัฒนธรรม


ข่าวที่เกี่ยวข้อง