Lady Blunt ไวโอลิน สร้างสถิติประมูลสูงสุด

Logo Thai PBS
Lady Blunt ไวโอลิน สร้างสถิติประมูลสูงสุด

ในยุคที่ผู้ผลิตต่างแข่งขันในการผลิตเทคโนโลยีใหม่ ๆ ออกมาแข่งขันกันแล้วมีเพียงงานศิลปะเท่านั้นที่ยิ่งนานวัน คุณค่าของตัวงานก็ยิ่งได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ

ความสมบูรณ์แบบที่ดูเหมือนใหม่เกิดมาจากการแทบจะไม่เคยถูกหยิบมาเล่นเลยตลอด 290 ปี ทำให้ Lady Blunt หนึ่งใน 600 ผลงานที่ยังหลงเหลืออยู่ ของ อันโตนิโอ สตราดิวารี ยอดนักประดิษฐ์เครื่องดนตรีผู้ยิ่งใหญ่ สามารถทำลายสถิติการประมูลได้ถึง 15.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือกว่า 480 ล้านบาท มากกว่าสถิติเดิมที่สร้างเอาไว้เมื่อปีที่แล้วถึง 4 เท่า การเพิ่มราคาอย่างไม่หยุดยั้งบ่งบอกถึงคุณค่าที่วัดไม่ได้ของเพชรน้ำเอกของวงการดนตรีโลกเหล่านี้

การออกแบบที่ไร้ที่ติทั้งรูปร่างของช่องเสียงและความสูงของหย่อง ความพิถีพิถันในการเลือกไม้และเคล็ดลับในการเคลือบเงาที่เป็นปริศนา ทำให้หลายปีมาแล้วที่นักวิทยาศาสตร์พยายามเปิดเผยความลับที่ซ่อนอยู่ในน้ำเสียงมาตลอด หนึ่งในทฤษฎีที่ถกเถียงอย่างกว้างขวางก็คือการใช้ไม้ที่เกิดขึ้นในช่วงปรากฏการณ์ Maunder Minimum หรือ ช่วงที่จุดมืดดวงอาทิตย์มีปริมาณน้อยที่สุดระหว่างปี 1645-1715 ยุโรปในช่วงนั้นจึงมีฤดูหนาวที่รุนแรง ต้นไม่ซึ่งเติบโตช้าส่งผลให้เนื้อไม้มีความหนาแน่นกว่าปกติ จนเป็นที่มาของเนื้อเสียงที่ยากจะเลียนแบบได้

ความไร้ที่ติของ สตราดิวาริอัส ถูกท้าทายบ่อยครั้ง ทั้งการนำไปเทียบเสียงกับไวโอลินรุ่นใหม่ ซึ่งผลปรากฏว่าหลายคนแยกไม่ออกถึงความแตกต่าง หรือครั้งที่ นักไวโอลินระดับโลกอย่าง โจชัว เบล นำสตราดิวาริอัสไปเล่นหน้าสถานีรถไฟในวอชิงตัน ดี.ซี. แต่แทบไม่มีใครรู้ว่ากำลังฟังไวโอลินมูลค่ากว่าร้อยล้านเหรียญอยู่

มูลค่าที่มหาศาลยังเป็นภาระที่หนักหนาสำหรับนักไวโอลินที่ได้รับมอบหมายให้เล่น ทั้งกรณีของ มินจินคิม นักไวโอลินชาวเกาหลีที่ลืม สตราดิวาริอัส เอาไว้ระหว่างไปซื้อกาแฟ จนไวโอลินมูลค่ากว่าล้านปอนด์ถูกมิจฉาชีพขโมยไป หรือ ตอนที่ เดวิด การ์เร็ตต์ นักไวโอลินชาวเยอรมันหกล้มตกบันไดจนสตราดิวาริอัสในมือราคากว่า 2 ล้านปอนด์แตกละเอียด ซึ่งเขาต้องใช้จ่ายกับการซ่อมแซมไปกว่า 4 ล้านบาท

แม้จะไม่ได้ถูกประดิษฐ์ขึ้นในยุคทองระหว่างปี 1700-1720 แต่ Lady Blunt ซึ่งสร้างขึ้นในปี 1721 ได้รับความสนใจจากนักประมูลทั่วโลกที่แย่งกันเป็นเจ้าของเพื่อนำรายได้ไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุแผ่นดินไหว และ สึนามิของประเทศญี่ปุ่น เหตุการณ์ซึ่งไม่แตกต่างจากฉากในภาพยนตร์เรื่อง The Red Violin ซึ่ง Red Mendelssohn ไวโอลินซึ่งเป็นแรงบันดาลใจในหนังก็สร้างในปี 1721 เช่นเดียวกัน

การทำลายสถิติการประมูลของไวโอลินอันเกิดมาจากการไล่ล่าที่ไม่ลดละของผู้หลงใหลในรูปลักษณ์เครื่องดนตรีหายาก หากแต่คุณค่าที่แท้จริงของไวโอลินนอกจากเป็นเพียงของสะสมชั้นเลิศ คือการได้ถ่ายทอดจิตวิญญาณผ่านเสียงดนตรี ที่แฟนเพลงทั่วโลกได้มีโอกาสได้ชื่นชมเท่าเทียมกัน

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง