"แห่เทียนพรรษาทางน้ำลาดชะโด" สะท้อนวิถีสายน้ำของชาวอยุธยา

Logo Thai PBS
"แห่เทียนพรรษาทางน้ำลาดชะโด" สะท้อนวิถีสายน้ำของชาวอยุธยา

สายน้ำสำคัญกับชีวิตคนคลองลาดชะโด จ.พระนครศรีอยุธยา เทศกาลเข้าพรรษาทุกปี เป็นโอกาสที่ชาวบ้านจะได้สืบสานงานบุญผ่านการแห่เทียนพรรษาทางน้ำ นำเรือลงคลองล่องสะท้อนวิถีพื้นบ้าน ที่อาศัยน้ำทำมาหากิน

สะท้อนวิถีคนอยุธยาที่ต้องพึ่งพาสายน้ำอยู่ในบทเพลงเรือ การละเล่นพื้นบ้านที่พ่อเพลงแม่เพลง ร้องนำขบวนเรือเทียนพรรษาชาวบ้านกว่า 100 ลำ ล่องตามคลองลาดชะโด อ.ผักไห่ ถวายวัดริมคลองในเทศกาลเข้าพรรษานี้  เป็นปีที่ 5 ติดต่อกัน ที่ชาวบ้านร่วมกันจัดงานใหญ่ นำเอกลักษณ์ท้องถิ่น อย่าง การพายเรือทำบุญ ล่องเรือแห่เทียนเข้าวัด มาจัดประเพณีใหญ่ให้ชื่นชมวิถีคนริมคลอง

การคืนเรือให้คลอง เป็นหนึ่งแนวคิดในการร่วมอนุรักษ์เรือกับคนลาดชะโด ถึงปีมีประเพณีแห่เทียนพรรษาทางน้ำ ซึ่งชาวบ้านจะนำเรือมาอวดโฉมกัน เรือเข็มเข้าประกวดในประเภทสวยงาม แต่ที่แท้จริงเหมาะสำหรับหาปลา ซึ่งชาวบ้านใช้ประโยชน์กันในทุกวัน

กลีบดาวเรืองในกระบุงข้าว ถือเป็นสัญลักษณ์แทนเมล็ดพันธุ์ของชาวนาบ้านลาดชะโด ที่นำมาร่วมขบวนเรือ หวังมงคลต่อการทำกิน มีน้ำบริบูรณ์ในฤดูกาลเพาะปลูกข้าว แม้การใช้เรือมาดขนข้าวล่องตามคลองจะห่างหายจากวิถีพื้นบ้านไปบ้าง แต่เฉลิม หมอยาดี จำได้ดีถึงวิถีชาวนาดั้งเดิม จึงนำเครื่องมือยังชีพเก่าที่มีในบ้านตกแต่งเรือ พายแสดงวิถีชีวิต เติมสีสันให้กับลำน้ำลาดชะโด ที่ทุกวันนี้ยังสมบูรณ์ เป็นแหล่งประมงพื้นบ้าน สมชื่อลาดชะโด  สายน้ำยังเคยเป็นเส้นทางสัญจรสำคัญ ขนส่งสินค้าระหว่างกรุงเทพฯ- สุพรรณบุรี เมื่อ 100 กว่าปีมาแล้ว จึงเป็นย่านการค้าเก่าที่ยังมีชีวิต  

ชื่อลาดชะโด มีที่มาจากย่านนี้เป็นที่ลาดริมน้ำ มีปลาชุกชุม โดยเฉพาะปลาชะโด ปลาช่อน และตะเพียน คลองสำคัญยังเป็นที่หาอยู่หากินของชาวบ้านอยุธยา จึงมีความพยายามรักษา ด้วยความร่วมมือของคนพื้นที่ ทำโครงการคืนเรือให้คลอง เพื่ออนุรักษ์เรือพื้นบ้าน และจัดงานแห่เทียนพรรษาทางน้ำ หวังสืบสานประเพณี สะท้อนคุณค่าแห่งวิถีคลองลาดชะโด 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง