ประเมินสถานการณ์น้ำท่วมรายชั่วโมงใน อ.พานทอง จ.ชลบุรี

ภูมิภาค
19 ต.ค. 56
08:59
1,203
Logo Thai PBS
ประเมินสถานการณ์น้ำท่วมรายชั่วโมงใน อ.พานทอง จ.ชลบุรี

ภายในเขตเทศบาลอำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี จุดรับน้ำต่อจากอำเภอพนัสนิคม ถูกน้ำท่วมเต็มพื้นที่และเพิ่มสูงต่อเนื่อง ขณะที่จุดเสี่ยงอย่างโรงพยาบาลพานทอง ยังคงเปิดให้บริการและรับมือได้ แต่ต้องประเมินสถานการณ์เป็นรายชั่วโมง หลังโดยรอบโรงพยาบาลมีน้ำท่วมสูง

ขณะนี้ใน อ.พานทอง มีฝนตกลงมาเล็กน้อยซึ่งก็ถือเป็นสถานการณ์ที่หลายคนรู้สึกกังวลว่าน้ำจะไปเพิ่มเติมหลังจากน้ำที่ถูกระบายมาจาก อ.พนัสนิคมก่อนหน้านี้ ได้ไหลเอ่อเข้าท่วมเทศบาล อ.พานทอง แล้ว

สภาพภายในเขตเทศบาล อ.พานทอง จ.ชลบุรี ในวันที่ 19 ตุลาคม มีน้ำท่วมสูงกว่า 30 เซ็นติเมตร ซึ่งถือว่าน้ำได้ท่วมสูงขึ้นจากเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ประมาณ 10-20 เซ็นติเมตร โดยชาวบ้านที่อาศัยใน อ.พานทองระบุว่า เป็นการท่วมรอบ 2 ใน 2 สัปดาห์ แต่ถือว่าหนักกว่าครั้งแรก ซึ่งเมื่อคืนวันที่ 18 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้มีฝนตกลงมาบางส่วน ประกอบกับน้ำที่ระบายมาจาก อ.พนัสนิคม ระดับน้ำจึงเพื่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ทาง อ.พานทอง ได้แจ้งเตือนล่วงหน้าทำให้ชาวบ้าน ได้เตรียมพร้อมรับมือ

ส่วนที่โรงพยาบาลพานทอง ซึ่งเป็นจุดเฝ้าระวังที่สำคัญอีกจุดหนึ่ง เนื่องจากขณะนี้น้ำได้ท่วมพื้นที่โดยรอบโรงพยาบาลแล้ว ซึ่ง ทพ.วสันต์ สายเสรีกุล ผู้อำนายการโรงพยาบาลพานทอง ระบุว่าน้ำได้เพิ่มขึ้นจากเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ประมาณ 15 เซ็นติเมตร โดยระดับน้ำสูงที่ระดับ 40-50 เซ็นติเมตร ซึ่งยังเป็นจุดที่ยังรับมือได้ และสามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ แต่ต้องประเมินสถานการณ์รายชั่วโมง หากถึงจุดวิกฤตจะปิดให้บริการ และย้ายไปตั้งศูนย์การแพทย์นอกพื้นที่ รวมถึงการลำเลียงผู้ป่วยจำนวน 46 คน ไปยังโรงพยาบาลศูนย์ชลบุรี

ขณะที่เส้นทางที่จะเข้ามายัง อ.พานทอง ถ.สุขประยูร จากแยกบ้านเก่า และถนนสายหลัก เข้าตัวอำเภอ ผ่านด้านหลังนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร เฟส 9 มีน้ำท่วมสูงกว่า 30 เซ็นติเมตร รถเล็กควรหลีกเลี่ยงเส้นทาง

ขณะที่พื้นที่หมู่ 5 ต.หนองกะขะ อ.พานทอง เป็นพื้นที่ที่ติดกับนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร เฟส 9 พบว่าชาวบ้าน 40 หลังคาเรือนถูกน้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตร ต้องสัญจรโดยใช้เรือ ขณะที่อีกฝั่งของนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร มีการเสริมคันดิน และกระสอบทราย เพื่อป้องกันพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอย่างเต็มที่

แม้ว่าใน อ.พานทองระดับน้ำจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่จากการเตรียมพร้อมรับมือของทางอำเภอก่อนหน้านี้ในการเร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำบางปะกง ก็เชื่อว่าจะทำให้การบริหารจัดการน้ำต่อจากนี้ทำได้ง่ายขึ้น และหากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มเติมคาดว่าภายใน 2 วันสถานการณ์น้ำจะเข้าสู่ภาวะปกติ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง