ย้อนรอยเหตุการณ์ "ผู้ชุมนุมปิดล้อมพื้นที่ราชการ" ยุทธวิธีต่อรองกับรัฐบาล

26 พ.ย. 56
14:06
201
Logo Thai PBS
ย้อนรอยเหตุการณ์ "ผู้ชุมนุมปิดล้อมพื้นที่ราชการ" ยุทธวิธีต่อรองกับรัฐบาล

การบุกยึดสถานที่ราชการ เพื่อใช้ต่อรอง และกดดันรัฐบาล ถูกใช้เป็นยุทธศาสตร์ และวิธีการมาเกือบทุกการเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุม รวมถึงการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในขณะนี้การชุมนุมกลุ่ม นปช. และการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก็ล้วนแล้วแต่ใช้วิธีการนี้ แม้ผู้นำการชุมนุมจะสุ่มเสี่ยงถูกดำเนินคดี ข้อหาก่อการร้าย

การเข้าปิดล้อมสถานที่ราชการ เข้าไปในสำนักงบประมาณฯ กระทรวงการคลัง, กรมประชาสัมพันธ์ และกระทรวงการต่างประเทศ ของกลุ่มผู้ชุมนุมที่เรียกตัวเองว่า "กลุ่มต่อต้านระบอบทักษิณ" โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้นำ เหตุการณ์ลักษณะนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย เนื่องจากการ เข้ายึดพื้นที่ที่เป็นสัญลักษณ์ทางการทำงานของรัฐบาล และมองว่าเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ ของกลุ่มผุ้ชุมนุมที่จะแสดงออกเชิงสัญลักษณ์

    
 
ย้อนไปก่อนหน้านี้ สมัยพรรคประชาธิปัตย์ เป็นรัฐบาล การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้ร่วมกันทำการปิดล้อม และบุกยึดทำเนียบรัฐบาล ช่วงระหว่างเดือนมีนาคมต่อเนื่องมาถึงเดือนเมษายน จนกระทั่งมีการสลายการชุมนุม และทำให้แกนนำถูกจับดำเนินคดี
 
นอกจากนี้ กลุ่มนปช.ยังได้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ อย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2553 ทั้งการยึดพื้นที่ถนนราชดำเนิน และราชประสงค์ ซึ่งมีเหตุรุนแรงในเดือน เมษายนจนถึงเดือนพฤษภาคมจนมีผู้เสียชีวิต จากการขอคืนพื้นที่ของทั้งเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ ภาพเหตุการณ์ที่ผู้นำการชุมนุม ถูกจับและต้องเข้ามอบตัว ทำให้ แนวร่วมผู้ชุมนุม กลุ่มนปช. หลายจังหวัด รวมตัวปิดล้อมศาลากลาง โดยเฉพาะที่ภาพตะวันออกเฉียงเหนือ จะลุกลามไปจนถึงการก่อเหตุเผาศาลากลาง 4 จังหวัด คือขอนแก่น อุบลราชธานี อุดรธานี และมุกดาหาร

    

 
ส่วนการชุมนุมที่ว่า เป็นวิกฤตการเมืองไทยในยุค เริ่มต้นปฏิเสธ ไม่ได้ว่าเป็นการชุมนุมที่ปลุกกระแสคนให้ออกมามากครั้งหนึ่ง คือการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ระหว่างปี 2548-2553 ซึ่งมีกลุ่มนายสนธิ ลิ้มทองกุล เป็นแกนนำ โดยเป็นการรวมตัวจากหลายองค์กรต่าง ๆ ทั่วประเทศ มีจุดประสงค์ ในการขับไล่นายสมัคร สนุทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสด์ ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งรัฐบาลทั้ง 2 ชุด ถูกมองว่า เอื้อประโยชน์ ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
 
โดยประมาณกลางเดือนสิงหาคม ปี 2551 แกนนำพธม.นำมวลชน ปิดล้อมกระทรวงการคลัง, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงคมนาคม ก่อนจะเข้ายึดทำเนียบรัฐบาลเป็นสถานที่ชุมนุมนานนับเดือน
 
ต่อมา 24 เดือนพฤศจิกายน 2551 ยังได้เข้ายึดท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ และดอนเมืองเป็นเวลา 10 วัน และยุติการปิดสนามบินทันที หลังนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น

    

 
ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมของกลุ่มใด และเวลาผ่านมาแล้วกี่ปี การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ในการชุมนุมขั้นสูงในการต่อรองกับรัฐบาล คือ การปิดล้อมยึดสถานที่ราชการ แม้แกนนำเหล่านั้นจะรู้ว่า การกระทำสุ่มเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดีในข้อหา กบฎ, ซ่องโจร และก่อการร้ายก็ตาม
 
จนถึงทุกวันนี้ แกนนำกลุ่มผู้ชุมนุม หลายคนก็ยังอยู่ระหว่างการต่อสู้คดี ร่วมกัน ก่อการร้ายจากเหตุการณ์เหล่านี้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาล แต่เกือบทุกเหตุการณ์ กลับมีปลายทางของการยุติการชุมนุม ที่ไม่หลีกเลี่ยง ความรุนแรงและความสูญเสีย

    


ข่าวที่เกี่ยวข้อง