วิเคราะห์ "จุดเหมือน-จุดต่าง" ท่าทีการเมืองระหว่างรัฐบาล-กปปส.

การเมือง
3 ธ.ค. 56
13:34
329
Logo Thai PBS
วิเคราะห์ "จุดเหมือน-จุดต่าง" ท่าทีการเมืองระหว่างรัฐบาล-กปปส.

นับจากวันเริ่มต้นชุมนุมต่อต้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม จนถึงการประกาศยกระดับการชุมนุมเป็นขับไล่รัฐบาล และกำจัดระบอบทางการเมือง ที่เรียกกันว่า "ระบอบทักษิณ" วันนี้กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองในนาม "กปปส." เคลื่อนไหวมาแล้ว รวม 35 วัน หรือเดือนเศษ

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะเลขาธิการ กปปส.ประกาศเดินหน้าต่อ เพื่อให้ได้มาซึ่ง "สภาประชาชน" โดยชี้ว่า "ยุบสภาหรือลาออก" ไม่ใช่คำตอบที่ต้องการแล้ว แม้รัฐบาลพรรคเพื่อไทย หรือน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีจะออกมาแสดงความพร้อมที่จะ "ยุบสภาหรือลาออก" ก็ตาม จุดเหมือน และจุดต่างของ 2 ฝ่ายทางการเมืองอยู่ตรงไหน และทางออกที่แต่ละฝ่ายถืออยู่ต่างกันอย่างไร 

 
จนถึงวินาทีนี้ แม้จะเกิดเหตุสูญเสียขึ้นแล้ว แต่ฝ่ายการเมือง 2 ขั้ว ยังคงชิงความได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมืองกัน ซึ่งภาพที่สะท้อนชัดถึงการชิงไหวชิงพริบของภาครัฐและผู้ชุมนุม คือ ภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ทำเนียบรัฐบาล และกองบัญชาการตำรวจนครบาลวันนี้
 
  
 
หลังยื้อยุดฉุดกระชากกันเกือบจะข้ามวันข้ามคืน ส่อเค้า-เข้าข่ายรุนแรง-สูญเสีย แต่ช่วงพริบตาเดียวเหตุการณ์กลับพลิกผัน ผู้ชุมนุมนุม กปปส. เดินหน้าลุยบุกยึดทำเนียบรัฐบาลด้วยการตีโอบด้านสะพานอรทัย บริเวณแยกเทวกรรม ด้วยการพังทลายกำแพง "แบร์ริเออ" โดยหวังเพียงจะเข้าไปสร้างสัญลักษณ์ของการยึดครองศูนย์รวมด้านการบริหารที่น่าจะหมายถึงชัยชนะระดับหนึ่ง โดยภาครัฐ กำชับปิดกั้นทุกวิธี ภายใต้แผนปฏิบัติการ เบาไปสู่หนัก จนเกิดเหตุปะทะ แต่สุดท้ายเรื่องกับหักมุมกลายเป็นการยินยอมเปิดประตูให้เข้าไปได้โดยราบรื่นอำเพอใจ 
 
ไม่ต่างกันกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล ศูนย์กลางการจัดกำลังพลเพื่อดูแลและควบคุมฝูงชน ภายใต้การกำกับดูแลของพล.ต.อ.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผบช.น. เดิมทีเดียวก็แข็งกร้าว-สั่งการห้ามประชิดคิดบุกรุกสถานที่ราชการ แต่ผู้ชุมนุมวางเป้าหมายบุกยึด-ปลดล็อครัฐตำรวจ ออกจากระบอบทักษิณ แต่หลังประกาศลั่นเข้าพื้นที่เป้าหมายให้ได้ก่อน 15.00 น. เหตุก็กลับตะละบัดจัดทีมเปิดประตูต้อนรับผู้ชุมนุม 

    

 
ภาพเหตุการณ์ที่ว่านี้ น่าจะพอคาดการณ์ได้ว่า "เกมรุก" ยังเป็นของฝ่ายผู้ชุมนุม กปปส. แต่ "เกมรับ" ของภาครัฐยังถือยุทธศาสตร์เดิม คือ "นิ่งและสงบ เพื่อสยบเหตุ" 
 
แต่ภายใต้เกมการตั้งรับของรัฐบาลวันนี้ กลับมีข้อสังเกตว่า เกิดแรงกดดันต่อการตัดสินใจแก้ปัญหา ว่าต้องไม่เป็นต้นเหตุของสงครามกลางเมือง และไม่เป็นเงื่อนไขให้เกิดสงครามประชาชน แม้จะถูกมองว่า กำลังถอย แต่ก็เป็นไปได้ว่า รัฐบาลกำลังซื้อเวลาให้อีกฝ่ายแผ่วแรงลงเอง 
 
ขณะที่ กปปส. ก็มีท่าทีที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการระแวดระวังที่จะเป็นฝ่ายนิยมความรุนแรง เพราะบทเรียนเกิดขึ้นแล้วกับนักศึกษารามคำแหง และที่กดดันแกนนำมากที่สุด คือ กรณีศาลอนุมัติหมายจับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ด้วยข้อกล่าวหา "กบฎ" แม้ภาพที่ฉายต่อสาธาารณะชนจะยังคงดูเข้มแข็งไม่หวาดหวั่น 
 
สถานการณ์เดินทางมาถึงห้วงสุดท้ายแล้วหรือไม่ และทางออกของปัญหาที่เกิดขึ้นคืออะไร กำลังเป็นคำถามของทุกคนทุกฝ่ายที่ติดตามเหตุการณ์มาอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลและผู้ชุมนุมต่างก็มีเป้าหมาย แต่ในเป้าหมายของทั้ง 2 ฝ่าย มีจุดที่เหมือนกันและก็มีจุดที่ต่างกันอยู่
 
  
 
จุดที่เหมือนกัน ระหว่างรัฐบาลกับผู้ชุมนุม ชี้วัดได้จากคำปราศรัยหรือการแถลงการณ์ของเลขาธิการ กปปส. "นายสุเทพ เทือกสุบรรณ" วางเป้าหมายของบ้านเมืองที่สมบูรณ์ไว้ที่การปฏิรูปประเทศ สอดคล้องกับแนวทางของรัฐบาล ที่ไม่ได้ปฏิเสธการปฏิรูปประเทศ แต่กำลังขับเคลื่อนเดินหน้ากันอยู่ 
 
แต่จุดต่างของรัฐบาลและผู้ชุมนุม คือ "การยุบสภาและการเลือกตั้ง" โดยแนวทางที่รัฐบาลแสดงความพร้อมที่จะยุบสภาหรือลาออก หากเป็นความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ และเป็นปัจจัยทำให้ประเทศเกิดความสงบสุข ขณะที่ฝ่ายผู้ชุมนุมชี้ว่า ยุบสภาและการเลือกตั้ง ไม่ใช่คำตอบของการชุมนุม 

    

 
ด้วยจุดต่างของทั้ง 2 ฝ่าย คือที่มาของโจทย์ที่ถามถึง "รัฐบาลกลาง-นายกรัฐมนตรีคนกลาง" แม้จะไม่ใช่คำตอบที่จะได้มาซึ่ง "สภาประชาชน" ตามที่ผู้ชุมนุมต้องการ แต่นักวิชาการและอีกหลากหลายฝ่ายก็เชื่อกันค่ะว่า นี่คือทางออกที่ดีที่สุด แต่อะไรละที่จะเป็นจุดกึ่งกลางให้ 2 ฝ่ายมาสรุปลงตรงนี้ได้ นักสันติวิธี บอกว่า การเจรจาทำความเข้าใจทางการเมือง
 
ก่อนจะหารัฐบาลกลางและนายกรัฐมนตรีคนกลาง คงต้องหาคนกลางเพื่อประสานการเจรจาของทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดส่งสัญญาณแล้วค่ะว่า หลังวันที่ 5 ธันวาคม กองทัพจะได้หารือถึงทางออกของประเทศ แต่แน่นอนว่า วันนี้ ผบ.ทบ. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา บอกว่า สถานการณ์ตอนนี้เป็นเรื่องของการเมือง

    

  


ข่าวที่เกี่ยวข้อง