รมว.ท่องเที่ยวฯ เตรียมหาแนวทางเล่นน้ำสงกรานต์แบบประหยัดน้ำ

ภัยพิบัติ
11 มี.ค. 59
09:58
320
Logo Thai PBS
รมว.ท่องเที่ยวฯ เตรียมหาแนวทางเล่นน้ำสงกรานต์แบบประหยัดน้ำ
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเตรียมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทางรับมือภัยแล้งและการเล่นน้ำอย่างประหยัดช่วงสงกรานต์ ขณะที่นักวิชาการระบุว่าการแก้ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นอาจใช้เวลาอีกกว่า 2 ปี โดยในระยะสั้นที่ทำได้ขณะนี้คือลดการใช้น้ำอย่างน้อยร้อยละ 20

นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า จะหารือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงวัฒนธรรม ถึงความเป็นไปได้ในการรณรงค์ให้ประชาชนใช้น้ำเล่นสงกรานต์ในลักษณะประพรม ไม่เน้นการสาดน้ำ ก่อนนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณา

ขณะที่นายอมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ในกรุงเทพฯมีพื้นที่ 2 จุดที่นิยมเล่นน้ำสงกรานต์คือถนนข้าวสารและถนนสีลม แต่เนื่องจากสถานการณ์น้ำในปีนี้ค่อนข้างวิกฤต กทม.จึงมีแนวคิดปรับลักษณะการจัดกิจกรรมให้เกิดการใช้น้ำน้อยลง เช่น อาจจัดกิจกรรมเพียง 3 วันคือวันที่ 13-15 เมษายน จากเดิมเริ่มจัดกิจกรรมตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน โดยคาดว่าจะมีข้อสรุปภายในสัปดาห์หน้า

ส่วนสถานการณ์การผลิตน้ำประปา นายธนศักดิ์ วัฒนะฐานะ ผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.) กล่าวว่า สถานการณ์น้ำแล้งขณะนี้ กปน.ยังยืนว่ามีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการบริโภคและอุปโภคจนถึงเดือนกรกฎาคม 2559 ซึ่งที่ผ่านมาได้ลดแรงดันจ่ายน้ำในช่วงเวลากลางคืนตั้งแต่ 23.00-05.00 น. สามารถช่วยลดปริมาณการดึงน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยามาใช้ได้กว่าร้อยละ 10

แต่ปัจจุบันสถานการณ์ภัยแล้งรุนแรงมากยิ่งขึ้น กปน.จึงเพิ่มเวลาลดแรงดันในช่วงกลางวันตั้งแต่เวลา 13.00-17.00 น. โดยอาจจะเริ่มลดแรงดันน้ำประมาณช่วงกลางเดือนมีนาคม 2559 ซึ่งจะสามารถช่วยลดประมาณการใช้น้ำได้มากถึงร้อยละ 15 สำหรับช่วงเวลาที่ลดแรงดันน้ำจะไม่กระทบต่อการใช้น้ำ เพราะจากการสำรวจพบว่าช่วงที่มีประชาชนใช้น้ำมากที่สุดคือเช้าและเย็น

ส่วนสถานการณ์น้ำเค็ม ปัจจุบันค่าความเค็มยังอยู่ในปริมาณที่สามารถควบคุมได้ ซึ่งทางกรมชลประทานมีการจัดสรรน้ำลงมาไล่น้ำเค็มอย่างต่อเนื่องวันละกว่า 90 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อการสูบน้ำดิบเพื่อมาผลิตน้ำประปา

สำหรับสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้น รศ.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ หน่วยปฏิบัติการวิจัยระบบการจัดการแหล่งน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า วิกฤตการณ์ภัยแล้งปี 2559 เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องถึงเดือนพฤษภาคม และอาจต่อเนื่องไปถึงเดือนมิถุนายน มีสาเหตุมาจากการเก็บสะสมน้ำจากปีก่อนๆเหลือปริมาณน้อยและปี 2558 มีน้ำเหลือใช้เพียงร้อยละ 10 รวมถึงปรากฏการณ์เอลนิโญและลมก็เป็นส่วนหนึ่งทำให้ภัยแล้งทวีความรุนแรงขึ้น

สำหรับเดือนมีนาคมและเดือนพฤษภาคมจะเป็นเดือนที่เสี่ยงปัญหาวิกฤตภัยแล้งที่สุด คาดว่าอาจใช้เวลาถึง 2 ปีกว่าจะแก้ปัญหาภัยแล้งให้กลับมาเป็นปกติได้ สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาเบื้องต้นคือ การประหยัดน้ำในครัวเรือนร้อยละ 20 จะสามารถยืดอายุขาดน้ำออกไปได้อีก 1 เดือน จัดทำระบบกระจายน้ำด้วยบัญชีน้ำ กักเก็บน้ำในพื้นที่ชุมชน ใช้แปลงการเกษตรแบบแบ่งปันกัน การปลูกข้าวเปียกสลับแห้งและมาตรการในการใช้น้ำร่วมกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง