"วิษณุ" ระบุพูดรับ-ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญออกสื่อได้ แต่ห้ามรณรงค์-คำถามพ่วงประชามติไม่ขัดเนื้อหาร่าง

การเมือง
11 เม.ย. 59
21:39
263
Logo Thai PBS
"วิษณุ" ระบุพูดรับ-ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญออกสื่อได้ แต่ห้ามรณรงค์-คำถามพ่วงประชามติไม่ขัดเนื้อหาร่าง
รองนายกฯ วิษณุ เครืองาม เผยผลหารือเกณฑ์ประชามติ ห้ามรณรงค์ในลักษณะผิดกฎหมาย ชี้คำถามพ่วงประชามติของ สนช.ไม่สุ่มเสี่ยงหรือขัดเนื้อหาร่างฯ เตรียมของบฯ จัดออกเสียงประชามติเกือบ 3 พันล้าน

วันนี้ (11 เม.ย.2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมการออกเสียงประชามติการร่างรัฐธรรมนูญ ได้ให้สัมภาษณ์ระบุว่า ขณะนี้ยังมีการถกเถียงถึงสิ่งที่กระทำได้หรือไม่ได้ในการเผยแพร่ทำความเข้าใจ ซึ่งกำหนดไว้ในร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติแล้ว ส่วนบางประเด็นที่ยังไม่ชัดเจน ในวันพรุ่งนี้ (12 เม.ย.2559) จะร่วมหารือกันอีกครั้งที่รัฐสภา

นายวิษณุกล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 ได้กำหนดไว้ชัดเจนแล้ว ซึ่งหากไม่ขัดต่อกฎหมายก็สามารถทำได้ พร้อมย้ำว่า การที่ใครจะบอกว่ารับหรือไม่รับ ถ้าไม่เป็นการรณรงค์บอกความเห็นส่วนตัวทางช่องทางผ่านคลิป การให้สัมภาษณ์ทางสื่อโทรทัศน์ สามารถกระทำได้ไม่ผิดหลักฎหมาย เว้นอย่าทำผิดกฎหมายตามมาตรา 61 วรรค 2 การแสดงข้อความอันเป็นเท็จบิดเบือน ใช้คำพูดหยาบคาย รุนแรงก่อให้เกิดความขัดแย้งแตกแยกนั้นทำไม่ได้

ส่วนกรณีการให้ข้อมูลร่างรัฐธรรมนูญแล้วมีการระบุว่ารับหรือไม่รับ นายวิษณุ ยืนยันชัดว่า สามารถกระทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย โดยหลีกเลี่ยงคำว่า "รณรงค์" ส่วนพรรคการเมืองหากมีการตั้งโต๊ะแถลงข่าวรับหรือไม่รับร่างให้ดูเจตนาที่สุจริตและให้เห็นบรรยากาศของประชาธิปไตย อย่าให้เกิดความขัดแย้ง โดยมอบให้ กกต.ไปพิจารณากรณีที่ทำได้หรือไม่ได้มาเป็นข้อๆ ที่น่ากังวลคือเรื่องบางประเด็นที่อาจไม่ชัดเจนและต้องมีการตีความของกฎหมาย

นายวิษณุ ยังกล่าวถึงคำถามพ่วงประชามติร่างรัฐธรรมนูญของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่อยู่ระหว่างจัดพิมพ์และไม่สามารถแก้ไขคำถามได้แล้วนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ลักษณะคำถามไม่สุ่มเสี่ยงหรือขัดต่อร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนข้อสรุปจากที่ประชุมวันนี้ มีความชัดเจนเรื่องของวันออกเสียงประชามติ คือวันที่ 7 สิงหาคม เวลา 08.00-16.00 น. ซึ่งหลังจากนี้ กกต.จะไปประชุมและประกาศวันออกเสียงอีกครั้ง

ในวันพรุ่งนี้ (12 เม.ย.2559) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเสนอที่ประชุมขออนุมัติงบประมาณเกือบ 3,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินจัดทำการลงประชามติ และได้ตกลงว่าการทำหน้าที่เผยแพร่ส่วนร่างรัฐธรรมนูญ ในส่วนของ กกต.มีหน้าที่จัดพิมพ์ร่างส่งไปยังประชาชน พร้อมกับเอกสารสรุปสาระสำคัญและเผยแพร่คำถามประกอบประชามติ ส่วนคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จะเป็นผู้ทำความเข้าใจในเนื้อหาของร่างฯ ตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ และ สนช.จะไปทำความเข้าใจประเด็นคำถามประกอบการทำประชามติ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง