แอมเนสตี้ฯ ประเทศไทย ออกแถลงการณ์ เรียกร้องยุติสอบสวนทางอาญาต่อ 3 นักปกป้องสิทธิมนุษยชน

ภูมิภาค
26 ก.ค. 59
12:36
501
Logo Thai PBS
แอมเนสตี้ฯ ประเทศไทย ออกแถลงการณ์ เรียกร้องยุติสอบสวนทางอาญาต่อ 3 นักปกป้องสิทธิมนุษยชน
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เรียกร้องทางการไทยยกเลิกการสอบสวนทางอาญาต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้ง 3 คน ที่อาจถูกแจ้งข้อหาวันนี้ หลังตีพิมพ์เผยแพร่รายงานการทรมานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงไทย

วันนี้ (26 ก.ค. 2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ออกแถลงการณ์ถึงกรณี นายสมชาย หอมลออ น.ส.อัญชนา หีมมิหน๊ะ และ น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานกรรมการของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เมื่อเดือน มิ.ย. 2559 อาจต้องได้รับโทษจำคุก 5 ปี และถูกปรับเป็นเงินประมาณ 170,000 บาท หากพบว่ามีความผิดฐานหมิ่นประมาททางอาญา และความผิดทางคอมพิวเตอร์ โดยทั้ง 3 จะเข้าพบตำรวจที่ สภ.เมืองปัตตานี วันนี้

ซาลิล เชตตี เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยว่า ในช่วงเวลาที่รัฐบาลไทยสัญญาจะประกาศใช้กฎหมายต่อต้านการทรมาน แต่กลับเป็นพฤติกรรมที่ขัดแย้ง เมื่อพวกเขาพยายามคุกคามนักกิจกรรมที่พยายามเปิดโปงการกระทำอันน่ารังเกียจเช่นนี้

“ทางการไทยควรยุติการสอบสวนทางอาญาโดยทันที โดยยกเลิกข้อกล่าวหาต่อนักกิจกรรมทั้ง 3 คน และดำเนินการสอบสวนต่อกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงที่พวกเขาเปิดโปง อย่างเป็นอิสระและเป็นธรรม ทั้งนี้ เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องคุ้มครองนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่ปกป้องเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจากความรับผิด” เชตตี ระบุ

นายสมชาย หอมลออ น.ส.อัญชนา หีมมิหน๊ะ และ น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ เป็นสมาชิกของมูลนิธิผสานวัฒนธรรม (มสผ.) และกลุ่มด้วยใจ ทั้ง 3 คน ได้ร่วมกันตีพิมพ์เผยแพร่รายงานเมื่อเดือน ก.พ. 2559 เสนอการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายของเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่ทหารของกองทัพไทย ในพื้นที่ภาคใต้ที่มีความอ่อนไหว ทั้งสิ้น 54 กรณี

โดยหน่วยงานที่ถูกกล่าวถึงเป็นพิเศษในรายงานการทรมานฉบับนี้ คือกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ซึ่งหน่วยงานดังกล่าวได้แจ้งข้อหาต่อทั้ง 3 คน เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2559

เชตตีระบุด้วยว่า ข้อกล่าวหาต่อบุคคลทั้ง 3 เป็นความพยายามครั้งล่าสุดของการข่มขู่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นการละเมิดอย่างชัดเจนต่อพันธกรณีระหว่างประเทศของไทยที่จะต้องคุ้มครองสิทธิของกลุ่มคนเหล่านี้

ทั้งนี้ พบด้วยว่าภายหลังรัฐประหารปี 2557 รัฐบาลทหารไทยเพิ่มความพยายามในการปราบปรามเสียงที่เห็นต่างทุกรูปแบบ มีการจำกัดสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก การชุมนุม และการสมาคมอย่างกว้างขวาง เฉพาะในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ทางการได้ตั้งข้อหาต่อบุคคลกว่า 100 คน เนื่องจากต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีการลงประชามติในวันที่ 7 ส.ค. ที่จะถึงนี้

“กรณีที่กำลังเกิดขึ้นกับนักกิจกรรมทั้ง 3 คน ถือเป็นการส่งสัญญาณของรัฐบาลทหารว่า ไม่มีบุคคลใดที่ปลอดภัยและอยู่นอกเหนือการควบคุมของพวกเขาได้” เชตตีกล่าว

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ยังเห็นควรว่า บุคคลซึ่งถูกคุมขัง เพียงเพราะใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก และกลายเป็นนักโทษทางความคิด จึงเรียกร้องให้ปล่อยตัวคนกลุ่มนี้โดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข

นายสมชาย หอมลออ เป็นนักกิจกรรมอาวุโสและเป็นอดีตประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม (มสผ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดทำข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยปัจจุบัน น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการของมูลนิธิ

ทั้งนี้ น.ส.พรเพ็ญ ยังได้รับเลือกตั้งเป็นประธานกรรมการของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ซึ่งเป็นการทำหน้าที่อย่างเป็นอิสระ จากการทำงานให้กับมูลนิธิผสานวัฒนธรรม (มสผ.) และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ไม่มีความเกี่ยวข้องกับการจัดทำข้อมูลและการตีพิมพ์รายงานการทรมานดังกล่าว

ในวันที่ 17 ธ.ค. 2558 ประเทศไทยเป็น 1 ใน 128 รัฐภาคีสหประชาชาติ ที่แสดงความเห็นชอบสนับสนุนมติขององค์การสหประชาชาติที่เรียกร้อง ให้ทางการงดเว้นการข่มขู่และตอบโต้นักปกป้องสิทธิมนุษยชน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง