แรงงานร้อยละ 61.4 นิยมดื่มแอลกอฮอล์ กระทบปัญหาสุขภาพ-อุบัติเหตุ-หนี้สิน-การทำงาน

สังคม
28 ก.ค. 59
16:10
202
Logo Thai PBS
แรงงานร้อยละ 61.4 นิยมดื่มแอลกอฮอล์ กระทบปัญหาสุขภาพ-อุบัติเหตุ-หนี้สิน-การทำงาน
ฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่าย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พบแรงงานกว่าร้อยละ 60 นิยมดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่งผลต่อปัญหาสุขภาพ อุบัติเหตุ หนี้สิน และการทำงาน ขณะที่ผู้ใช้แรงงานร้อยละ 73.9 เรียกร้องโรงงานและชุมชนสนับสนุนกิจกรรมงดเหล้าเข้าพรรษา

วันนี้ (28 ก.ค.2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตัวแทนสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อผ้า และผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย สมาคมส่งเสริมสิทธิชุมชนเพื่อการพัฒนา กลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อยอ้อมใหญ่ และมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลร่วมกันเดินรณรงค์เชิญชวนประชาชนรอบเกาะพญาไทร่วมกิจกรรม "แรงงานงดเหล้าครบพรรษา ได้เวลาพักตับ" เพื่อหวังกระตุ้นแรงงานไทยหันมารักสุขภาพ งดเหล้าในช่วงเข้าพรรษา สู่คุณภาพชีวิตที่ดี

 

 

นายสิทธิศักดิ์ พนไธสงค์ ฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่าย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เปิดเผยว่า ผลการสำรวจ "การดื่มสุราและผลกระทบจากการดื่มของแรงงานปี 2559" จากการสอบถามความคิดเห็นกลุ่มแรงงานจำนวน 1,914 คน พบว่าผู้ใช้แรงงานร้อยละ 54.7 รู้ว่าสุรามีพิษภัย แต่เกินครึ่งหรือร้อยละ 61.4 ยังนิยมดื่มสุรา และมีเพียง 1 ใน 4 เท่านั้นที่ไม่เคยดื่มสุรา ที่น่าห่วงคือร้อยละ12.7 ดื่มทุกวัน, ร้อยละ 22.5 ดื่มสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง และร้อยละ 43 ดื่มตามโอกาสสำคัญ

 

 

สำหรับพฤติกรรมการดื่ม พบว่าร้อยละ 11.6 ดื่มจนเมาครองสติไม่ได้ และต้องหมดเงินไปกับค่าเหล้าเฉลี่ย 1,000-2,000 บาท ต่อเดือน มากที่สุด 4,000 บาทต่อเดือน เมื่อถามถึงผลกระทบที่เกิดจากการดื่มสุรา ร้อยละ 17.3 ยอมรับว่ามีพฤติกรรมการลวนลามขณะเมา นอกจากนี้ กลุ่มผู้ใช้แรงงานกว่าร้อยละ 73.9 ยังเรียกร้องให้โรงงานและชุมชนมีนโยบายสนับสนุนกิจกรรมงดเหล้าเข้าพรรษา โดยกลุ่มตัวอย่างกว่า 58.4 สนใจเข้าร่วมงดเหล้าเข้าพรรษา 3 เดือน และจะเชิญชวนให้เพื่อนในโรงงานหรือในชุมชนงดเหล้าเข้าพรรษา

 

 

นายภาคภูมิ สุกใส ประธานสหภาพแรงงานธนบุรีประกอบรถยนต์ กล่าวว่า ในช่วงเคยติดสุราหมดเงินไปเดือนละ 5,000-6,000 บาท เคยประสบอุบัติเหตุ เพราะเมาหลายครั้ง ขาดงานเป็นประจำ ทำให้ถูกตัดเงินตอบแทนพิเศษและสุขภาพที่ย่ำแย่ลง เป็นจุดเปลี่ยนทำให้อยากเลิกสุรา โดยใช้วิธีนำเงินที่จะซื้อสุรา ไปหยอดกระปุกออมสินให้ลูกแทน หลังจากทำได้เพียง 3 เดือน มีเงินเก็บกว่า 10,000 บาท ทำให้คุณภาพชีวิตดี จึงขอเป็นส่วนหนึ่งรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา หากนายจ้าง และสถานประกอบกิจการช่วยส่งเสริมจัดกิจกรรมงดเหล้าเข้าพรรษา เช่น ให้รางวัลตอบแทน เชิดชูความดีคนเลิกสุรา จะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยกระตุ้นให้แรงงานเลิกสุรามากขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง