ภาพยนตร์ห้ามฉายของ "สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์"

Logo Thai PBS
ภาพยนตร์ห้ามฉายของ "สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์"
ผันตัวจากการเป็นนักเขียน-นักข่าว มาทำภาพยนตร์นานถึง 25 ปี มีผลงานมาแล้ว 9 เรื่อง หากชื่อของ "สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์" กลับเป็นที่รู้จักในฐานะ "นักทำหนังที่ถูกแบน" ด้วยสไตล์การทำหนังพูดถึงประเด็นสังคม การเมือง ที่แทบไม่มีนักทำหนังคนไหนกล้าพูดถึง

ความวุ่นวายจากการปิดถนนเส้นหลักเพื่อเดินขบวนประท้วง เสียงด่าทอสองข้างทาง การตอบโต้ของบุคคลสำคัญตามหน้าสื่อ และสีสันการแต่งตัวที่จัดจ้าน หลากหลายอารมณ์ของการประท้วงทางการเมืองไทยที่เกิดขึ้นเมื่อหลายปีก่อน ถูกนำมาร้อยเรียงเป็นสารคดีเรื่อง "Bangkok Joyride" ตอน เมื่อเราเป็นยอดมนุษย์ และ Shutdown Bangkok ฝีมือผู้กำกับหญิง "สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์" หรือ อิ๋งเค ลงพื้นที่ถ่ายทำเองทั้งหมดด้วยสมาร์ทโฟนเพียง 1 เครื่อง ด้วยฟุตเทจความยาวกว่า 10 ชั่วโมงตลอดระยะเวลาการชุมนุมทางการเมือง ทำให้ สมานรัชฎ์ วางแผนผลิตสารคดีชุดนี้ไม่ต่ำกว่า 5 ตอน แม้ยังไม่ฉายในไทยหากการนำเสนอภาพเหตุการณ์จริงเพียง 2 ตอนแรกก็ได้รับความสนใจจากต่างชาติ ได้รับเชิญให้เปิดตัวรอบ World Premier ที่งาน Cinema du reel ประเทศฝรั่งเศส

สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ผู้กำกับภาพยนตร์ กล่าวว่า มันเป็นประวัติศาสตร์ที่เราไม่คิดว่ามันจะเกิดแบบนี้ มันต้องบันทึกไว้ มันถูกบิดเบือนไปเยอะเลย เราไม่รู้ว่าอะไรจริงไม่จริง แต่อย่างน้อยภาพมันก็ฟ้องได้

ด้วยสไตล์การทำงานแบบนักเขียนและจับประเด็นแบบนักข่าว ทำให้เมื่อผันตัวมาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ สมานรัชฎ์ มักเลือกนำเสนอประเด็นที่ท้าทายสังคมและการเมืองไทย เป็นสาเหตุให้ผลงานหลายเรื่องถูกแบน ด้วยข้อหาขัดต่อความความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีงามของประชาชน เช่นเรื่อง "คนกราบหมา" ซึ่งถูกกล่าวหาว่าว่าดูหมิ่นศาสนาพุทธ หรือ Shakespeare Must Die ที่ถูกระบุว่าเนื้อหาก่อให้เกิดความแตกแยก หากในต่างประเทศผลงานของเธอได้รับการจัดฉายทุกเรื่องทั้งในฝรั่งเศสและเยอรมนี เพราะโดดเด่นด้านการสะท้อนปัญหาของผู้มีอำนาจในสังคมไทย

สมานรัชฎ์ กล่าวว่า เราอาจเป็นนักทำหนังที่เรียกว่าถูกแบนเยอะที่สุดในโลกนี้เลยมั้ง (ฮ่าๆ) + เราคิดว่าเพราะคนทำหนังในไทยไม่มีสิทธิมนุษยชน ทำไมอาชีพอื่นหรือคุณจะเขียนอะไรยังไงก็ได้ แต่ทำไมคนทำหนังต้องถูกปิดกั้น มันไม่มีความเท่าเทียมเลย

แม้ผลงานกว่าร้อยละ 90 ยังไม่ได้ออกฉาย แต่ สมานรัชฎ์ เตรียมเขียนบทภาพยนตร์เรื่องใหม่ คงคอนเซปต์สะท้อนสังคมและการเมืองของประเทศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง