รมว.เกษตรฯ เผยร่องมรสุมพาดผ่านกระทบ "เหนือ-อีสานตอนบน-กลาง" ยังมีฝนตกอยู่

ภัยพิบัติ
17 ต.ค. 60
15:35
198
Logo Thai PBS
รมว.เกษตรฯ เผยร่องมรสุมพาดผ่านกระทบ "เหนือ-อีสานตอนบน-กลาง" ยังมีฝนตกอยู่
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยืนยันพายุขนุนไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทย แต่ได้รับผลกระทบฝนตกจากร่องมรสุมที่พาดผ่าน ทำให้ภาคเหนือ อีสานตอนบน และภาคกลางยังคงมีฝนตกอยู่

วันนี้ (17 ต.ค.2560) พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังจากประชุมร่วมกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กรณีติดตามสถานการณ์น้ำว่า วันนี้ได้เสนอรายงานสถานการณ์น้ำต่อนายกรัฐมนตรีและในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี โดยพายุขนุนไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทย แต่ได้รับผลกระทบฝนตกจากร่องมรสุมที่พาดผ่าน ทำให้ทางภาคเหนือ อีสานตอนบน และภาคกลางยังคงมีฝนตกอยู่

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า การระบายน้ำในพื้นที่ภาคอีสานยังมีปริมาณน้ำเดิมจากพายุเซินกาในเขื่อนอุบลรัตน์ที่มีน้ำเต็มเขื่อน จะระบายน้ำแบบขั้นบันไดตั้งแต่ 30-46 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน และสูงสุดที่ 54 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน อาจส่งผลกระทบใน จ.มหาสารคาม ยโสธร ร้อยเอ็ด ที่ตอนนี้ระดับน้ำท่วม 20-30 เซนติเมตร เชื่อมไปยังลุ่มน้ำมูล ผลักดันต่อไปแม่น้ำโขง โดยเขื่อนภูมิพลรองรับน้ำได้อีกร้อยละ 66 ส่วนเขื่อนสิริกิติ์ยังรองรับน้ำได้ร้อยละ 80 หากฝนตกเหนือเขื่อนจะไม่ได้รับผลกระทบ แต่หากฝนตกท้ายเขื่อนเจ้าพระยาจะยังมีพื้นที่ทุ่งรับน้ำ 12 แห่ง รับได้กว่า 300 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ปริมาณการระบายน้ำในพื้นที่ภาคเหนือและอีสานจะไม่ส่งผลกระทบต่อกรุงเทพฯ

ส่วนทางด้านภาคเหนือพื้นที่ต้นน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้ปิดการระบายน้ำที่เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยได้ใช้พื้นที่แก้มลิงธรรมชาติที่ อ.บางระกำ รองรับน้ำจากลุ่มน้ำยมและรับน้ำเต็มแล้ว 450 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อมวลน้ำมาถึงแม่น้ำเจ้าพระยา จ.นครสวรรค์ จะดำเนินการระบายน้ำไป 2 ฝั่งก่อนถึงเขื่อนเจ้าพระยาควบคุมการระบายน้ำที่ 2,600 ลูกบากศ์เมตรต่อวินาที และเมื่อพื้นที่เหนือ จ.นครสวรรค์ ปริมาณฝนตกลดลง จะปรับการระบายน้ำลดด้วย แต่ต้องประเมินสถานการณ์รายวัน โดยในวันพรุ่งนี้ (18 ต.ค.) จะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการเรื่องการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบครั้งนี้ให้ทุกส่วนราชการเข้าดูแล โดยกระทรวงเกษตรฯ รับผิดชอบงบประมาณเรื่องพื้นที่การเกษตร ขณะที่การพยากรณ์อากาศว่าฝนจะตกในพื้นที่กรุงเทพฯ วันนี้เป็นส่วนรับผิดชอบของ กทม.

ด้านนายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในภาพรวมว่า ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบน โดยเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ยังคงปิดเขื่อน ส่วนเขื่อนแควน้อยลดการระบายน้ำ ส่วนปริมาณน้ำทั้งปิง วัง ยม น่าน ยังมีพื้นที่แก้มลิงและพื้นที่ลุ่มต่ำที่รองรับน้ำ โดยสถานีวัดน้ำที่ จ.นครสวรรค์ ขณะนี้อยู่ที่ 2,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งน้อยกว่าปี 2554 ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ ซึ่งมีปริมาณการไหลของน้ำที่ 5,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที รวมทั้งยังมีบึงบอระเพ็ดหน่วงน้ำไว้ด้วย สำหรับเขื่อนเจ้าพระยามีปริมาณน้ำประมาณ 2,598 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที น้อยกว่าปี 2554 ที่อยู่ที่ 3,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

ส่วนจุดที่จะส่งผลกับกรุงเทพฯ คือที่ อ.บางไทร ซึ่งมีปริมาณการไหลของน้ำที่ 2,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที น้อยกว่าค่าวิกฤตที่ 3,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และยังน้อยกว่าปี 2554 ที่อยู่ที่ 3,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จึงยังอยู่ในปริมาณที่สามารถดูแลได้ ขณะที่นายกรัฐมนตรีมีความเป็นห่วงเรื่องการรับรู้ของประชาชน จึงกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสื่อสารให้เกิดความชัดเจนว่าพื้นที่ใดจะได้รับผลกระทบหรือไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม และหากท่วมต้องใช้ระยะเวลาเท่าใด ต้องแจ้งให้ประชาชนทราบ เพื่อให้เกิดการป้องกัน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง