สื่อเก่า vs สื่อใหม่ บทบาทที่เปลี่ยนไปของการรายงานข่าวนางงาม

Logo Thai PBS
 สื่อเก่า vs สื่อใหม่ บทบาทที่เปลี่ยนไปของการรายงานข่าวนางงาม
เมื่อก่อน หากอยากติดตามข่าวนางงามแบบวันต่อวัน ต้องไปหาอ่านจากหนังสือพิมพ์ หรือสำนักข่าวต่างประเทศ แต่ในยุคที่กองประกวดมิสยูนิเวิร์สขยันเล่นกับสื่อออนไลน์ของกองประกวด หรือของนางงาม ได้กลายเป็นพื้นที่ที่สื่อมวลชนกระแสหลักหยิบไปนำเสนอเป็นข่าวแทน

มุมภาพวิดีโอเฟซบุ๊กไลฟ์อย่างไม่เป็นทางการ โชว์เบื้องหลังขณะ "มารีญา พูลเลิศลาภ" ตัวแทนสาวไทย ทำกิจกรรมในกองประกวดเพียง 9 นาที แม้ไม่ได้มาจากสำนักข่าวใหญ่ใดๆ หากกลับเป็นหนึ่งในเนื้อหาข่าวที่สื่อมวลชนไทยทุกสำนักนำเสนอผ่านช่องข่าวของตัวเองอย่างทันควัน จนยอดชมวิดีโอไลฟ์ดังกล่าวมีคนดูมากที่สุดถึง 7 แสนครั้ง

น่าสังเกตว่าปีนี้ เนื้อหาการรายงานข่าวนางงามของสื่อต่างชาติ และสื่อโทรทัศน์ไทย คอนเทนต์แทบทั้งหมดไม่ได้มาจากสื่อกระแสหลัก เช่น สื่อท้องถิ่นหรือกองประกวดหลักในสหรัฐฯ แต่กลับมาจากคลิปวิดีโอไลฟ์สดของนางงาม หรือแค่ภาพนิ่งภาพเดียวมีค่าเป็นข่าวได้ และน่าเชื่อถือไม่แพ้สื่ออาชีพ เพราะเทียบได้กับข้อมูลปฐมภูมิที่มาจากนางงามโดยตรง จึงเป็นอีกปรากฏการณ์ด้านสื่อกับแวดวงนางงามที่น่าสนใจ เมื่อการรายงานข่าวเปลี่ยนมือจากสื่อกระแสหลัก มาเป็นสื่อกระแสรอง เช่น เฟซบุ๊ก อินสตาแกรมของกองประกวดและนางงาม ที่หากผู้เข้าประกวดคนไหนสมองไว ขยันเล่นกับโลกออนไลน์ ก็มีสิทธิ์ขยับเป็นดาวเด่นลุ้นมงกุฎ ขณะกองประกวดก็วิน-วิน จับนางงามกระแสดีมาทำกิจกรรมโปรโมทต่อเนื่อง

อีกสื่อใหม่ที่เข้ามามีบทบาท จนกลายเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญของการรายงานข่าวนางงามในไทยปีนี้ ยังรวมถึงพื้นที่ของแฟนนางงาม ที่เรียกว่า "เว็บบอร์ด" หรือ "กรุ๊ปเฉพาะ" ในโลกออนไลน์ จากที่เคยเป็นเพียงพื้นที่รวมตัวเชียร์ หากด้วยคุณสมบัติการเป็น "วงใน" รู้จริงเทียบเคียงแหล่งข่าว ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางเกี่ยวกับนางงาม เวทีประกวด และบริบทสังคมรอบตัว นี่จึงกลายเป็นพื้นที่ที่สื่อกระแสหลักหยิบจับข้อมูลมาวิเคราะห์ต่อยอด หนึ่งในนั้นคือโพลล์นางงามตัวเต็งจากการจัดอันดับของแฟนนางงาม จนมีการแชร์ออกไปยังสังคมนอกกลุ่ม ช่วยโหมกระแสให้สายสะพายไทย

เมื่อเวทีนางงามกับคำว่า "กระแส" แยกกันไม่ขาด การใช้สื่อของกองประกวดจึงต้องปรับตัวให้เท่าทันยุคอยู่เสมอ โดยปีนี้ MUO หรือองค์กรมิสยูนิเวิร์ส ไม่เพียงวัดแรงเชียร์แฟนนางงามแต่ละประเทศผ่านการโหวตเท่านั้น หากยังใช้สื่อออนไลน์หยั่งเชิงพลังด้านการตลาดของนางงามรายคนตั้งแต่วันแรกที่เก็บตัว ทั้งการลงมือไลฟ์สดนางงามกับผลิตภัณฑ์ตกแต่งทรงผม เครื่องสำอาง ชุดว่ายน้ำ ที่ทั้งหมดล้วนเป็นสปอนเซอร์ของเวที สอดคล้องกับผลสำรวจจากกองประกวดที่ว่าผู้ชมการประกวดนางงามถึงร้อยละ 70 เป็นผู้หญิง ในฐานะผู้ชม การรู้เท่าทันกลยุทธ์โลกออนไลน์เวทีนางงามที่มากกว่าการแชร์และเชียร์ น่าจะช่วยให้การดูนางงามสนุกขึ้นอีก และเป็นข้อยืนยันได้ว่าเวทีขาอ่อนมีมากกว่าแค่เรื่องความสวยความงามเท่านั้น

 

อ่านข่าวเพิ่มเติม
วิเคราะห์กระแสเวทีขาอ่อนโลก หลังการประกวดนางงามจักรวาลครั้งที่ 66 http://news.thaipbs.or.th/content/268059


"มารีญา" กับตำแหน่ง 5 คนสุดท้ายเวทีมิสยูนิเวิร์ส http://news.thaipbs.or.th/content/268057


"มารีญา"ขอโทษคนไทยที่ทำให้ผิดหวัง http://news.thaipbs.or.th/content/268047


"แอฟริกาใต้" คว้ามงกุฎมิสยูนิเวิร์สคนที่ 66 http://news.thaipbs.or.th/content/268039


สาวงามเอเชีย-อาเซียน ขั้วอำนาจใหม่วงการขาอ่อนโลก http://news.thaipbs.or.th/content/268033


สื่อเก่า vs สื่อใหม่ บทบาทที่เปลี่ยนไปของการรายงานข่าวนางงาม http://news.thaipbs.or.th/content/268002


ชวนคนไทยโหวต "มารีญา" เข้ารอบ Semifinal เวทีมิสยูนิเวิร์ส 2017 http://news.thaipbs.or.th/content/267842


ชุดประจำชาติไทย "เมขลาล่อแก้ว" เรียกเสียงชื่นชมบนเวทีมิสยูนิเวิร์ส http://news.thaipbs.or.th/content/267838

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง