“อุ๋งอุ๋ง” สุดน่ารัก สัตว์คุ้มครองชี้วัดความอุดมสมบูรณ์

สิ่งแวดล้อม
23 พ.ค. 61
11:21
3,566
Logo Thai PBS
“อุ๋งอุ๋ง” สุดน่ารัก สัตว์คุ้มครองชี้วัดความอุดมสมบูรณ์
ไทยพีบีเอสออนไลน์ พามารู้จักกับ “ตัวนาก” สัตว์ที่ทำให้ผู้คนตกหลุมรักด้วยรูปลักษณ์ที่น่าเอ็นดูและแสนรู้จนทำให้ใครหลายคนสนใจอยากจะเลี้ยง แต่แท้จริงแล้วตัวนาก คือ สัตว์ป่าคุ้มครองที่ไม่สามารถซื้อ–ขายได้ อีกทั้งยังเป็นสัตว์ที่ชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่

วันนี้ (23 พ.ค.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตัวนากจัดเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่อยู่ในวงศ์เพียงพอน ด้วยรูปร่างหน้าตาที่น่ารัก หลายคนอาจตกใจหากรู้ว่านาก เป็นสัตว์ผู้ล่าที่กินเหยื่อ โดยเฉพาะ “ปลา” เป็นอาหาร นอกจากนี้สัตว์ขนาดเล็กอย่างนก แมลง หอย กุ้ง ปู รวมไปถึงคางคกก็ยังเป็นอาหารหลักของนากเช่นกัน


นากจึงถือได้ว่าเป็นสัตว์ผู้ล่าที่อยู่ตำแหน่งสูงสุดในระบบนิเวศลำน้ำ ทั้งยังเป็นตัวชี้วัดถึงความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำบ่งบอกคุณภาพและความสะอาดของแหล่งน้ำได้อย่างดี โดยปกติจะสามารถว่ายน้ำและหากินในน้ำได้อย่างคล่องแคล่วมาก เนื่องจากมีรูปร่างสั้นและกว้างแบน หูมีขนาดเล็กซ่อนอยู่ใต้ขน นิ้วเท้าทั้ง 4 ข้างมีพังผืดคล้ายตีนเป็ด ขนลำตัวสีน้ำตาลอมเทา 2 ชั้น ฟันคมแหลมและแข็งแรงเป็นอาวุธชั้นดีในการล่าเหยื่อ


ขณะที่หนวดยาวที่ยื่นออกมาคล้ายแมวน้ำ ใช้เป็นอวัยวะจับการเคลื่อนไหวของสิ่งที่อยู่ใต้น้ำและใช้เป็นประสาทสัมผัสเมื่ออยู่ในน้ำในการ ไล่จับปลาและสัตว์น้ำเล็ก ๆ เป็นอาหาร โดยจะออกหากินทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน มีพฤติกรรมอยู่รวมกันเป็นฝูงเล็ก ๆ ขุดรูอยู่ริมตลิ่ง ตัวนากจึงเป็นสัตว์ที่มีที่อยู่ในธรรมชาติใกล้กับแหล่งน้ำหรือพื้นที่ชุ่มน้ำต่าง ๆ ทั้งบึง ทะเลสาบ ลำธาร ป่าชายเลน แม้แต่พื้นที่เกษตรกรรมของมนุษย์ เช่น ท้องร่องในสวนผลไม้ นาข้าว นากุ้ง หรือบ่อปลาก็เป็นที่อยู่อาศัยของนากเช่นกัน

สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า เปิดเผยข้อมูลว่าในประเทศไทยพบตัวนากทั้งหมด 4 ชนิด คือ 1.นากเล็กเล็บสั้น มักอาศัยอยู่ในบริเวณแหล่งน้ำตื้น หรือบริเวณลำห้วยสายเล็กๆ ซึ่งมีปูชุกชุม และยังสามารถพบในแม่น้ำ ลำธาร ปากแม่น้ำ และป่าชายเลนทั่วประเทศ ยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยนากชนิดนี้ จะกินปลาน้อยกว่านากชนิดอื่นๆ แต่ชอบกินปูเป็นอาหารหลัก และชอบหากินในเวลากลางวัน อาศัยอยู่เป็นฝูง 4-12 ตัว เป็นนากที่มีการแพร่กระจายดีที่สุด สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปได้ดีกว่านากชนิดอื่นๆ

นากเล็กเล็บสั้นนี้จะผสมพันธุ์ในน้ำแต่ทำโพรงดินริมตริ่งคลอดลูก ซึ่งโพรงนี้จะต้องอยู่เหนือน้ำ เพราะลูกนากเล็กๆ ถูกน้ำไม่ได้ ตัวเมียจะเป็นสัดทุก 28 วัน เป็นสัดอยู่ 3 วัน ตกลูกครั้งละ 2-5 ตัว ลูกคลอดออกมาใหม่ยังไม่ลืมตาจนอายุได้ 40 วันไปแล้ว และเริ่มว่ายน้ำเมื่ออายุพ้น 60 วันไปแล้วจะเริ่มกินอาหาร

2.นากใหญ่ขนเรียบ มีแม่น้ำ ลำห้วย ทะเลสาบ รวมทั้งคลองและอ่างเก็บน้ำและป่าชายเลนเป็นถิ่นที่อยู่อาศัย อาหารหลัก คือ ปูและปลา อุปนิสัย ปกติพบใกล้แหล่งน้ำ อยู่เป็นคู่หรือเป็นครอบครัว ส่วนใหญ่จะผสมพันธุ์ตอนต้นปี ตั้งท้อง 63 วัน ลูกนากจะลืมตาได้เมื่ออายุ 10 วัน หย่านมเมื่ออายุ 3 เดือน โตเต็มที่เมื่อมีอายุได้ประมาณ 3 ปี ส่วน ใหญ่จะมีลูกครั้งแรกเมื่ออายุ 4 ปี


สำหรับประเทศไทยพบได้ทั่วทุกภาค โดยพบได้แม้กระทั่งเมืองใหญ่ๆ เช่น เมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร ในแถบป่าชายเลน ในเขตบางขุนเทียน ฝั่งธนบุรี รวมถึงบริเวณพื้นที่พุทธมณฑล จ.นครปฐม

3.นากใหญ่จมูกขนหรือนากใหญ่หัวปลาดุก พบมากในเขตพื้นที่ป่าพรุ รวมทั้งป่าเสม็ดทางภาคใต้ตอนใต้สุด มีรายงานการพบที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเฉลิมพระเกียรติ จ. นราธิวาส มีอาหารโปรดคือ ปลา อุปนิสัย ปกติพบใกล้แหล่งน้ำในพื้นที่ความสูงระดับต่ำ ยังไม่ทราบพฤติกรรมมากนัก


ชีววิทยาของนากชนิดนี้ยังรู้กันน้อยมาก โดยนากใหญ่จมูกขนนอกจากที่ประเทศไทยแล้วยังพบในเวียดนาม เขมร ลงไปจนตลอดแหลมมลายู สุมาตราเกาะบอร์เนียว และ ชวา

4.นากใหญ่ พบมากในลำธาร แม่น้ำ และทะเลสาบตามภูเขาทางภาคเหนือและภาคตะวันตก ขุดโพรงอาศัยอยู่ระหว่างซอกหินหรือใต้รากไม้ขนาดใหญ่ริมน้ำ มีลักษณะคล้ายถ้ำขนาดเล็ก มีทางเข้าและทางออกหลายทาง และมีทางหนึ่งอยู่ใต้น้ำ นากชนิดนี้กินปลา ปู และสัตว์ที่มีเปลือกแข็งอื่นๆ รวมทั้งกบ


นากใหญ่ธรรมดามีเขตแพร่กระจายกว้างมาก พบในทวีปยุโรป และทวีปเอเซียตั้งแต่ตอนเหนือลงมาถึงสุมาตราและชวา ในประเทศไทยพบในบริเวณภูเขาสูงทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ โดยทั่วไปจะออกลูกครั้งละ 2-4 ตัว มีอายุยืนประมาณ 15 ปี

แม้งานวิจัยจากวารสารสัตว์ป่าเมืองไทย จะระบุสถานการณ์ปัจจุบันของนากว่า ถูกจัดให้อยู่ในสถานภาพมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์และเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 โดยเฉพาะ นากใหญ่ขนเรียบ แต่นากยังคงถูกคุกคามจากปัจจัยภายนอกอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากการล่าเพื่อนำไปขาย หรือการทำร้ายนากโดยตรงจากคนหาปลาที่มักจะฆ่านาก เมื่อพบว่านากจับปลาจากข่าย หรือลอบดักปลา รวมไปถึงการทำลายและเปลี่ยนแปลงสภาพถิ่นที่อยู่อาศัย ทั้งคุณภาพน้ำ และแหล่งหาอาหารของนาก ไม่ว่าจะเป็นการใช้สารเคมี การใช้เครื่องมือจับปลาที่มีอำนาจทำลายล้างสูง การจับปลาด้วยวิธีการที่ขาดจิตสำนึก หรือในปริมาณที่เกินกำลังการฟื้นฟูได้ตามธรรมชาติ ล้วนส่งผลต่อประชากรนากอย่างรุนแรงทั้งสิ้น

 

อ่านข่าวเพิ่มเติม

สัตว์ผู้ล่า สู่สัตว์เลี้ยง "ยอดฮิต" ขวัญใจวัยรุ่น

"นาก"ทูตแห่งพื้นที่ชุ่มน้ำ เสี่ยงสูญพันธุ์ของโลก

เส้นแบ่งความขัดแย้งคน-นาก เขตทุ่งครุ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง