"นาก" ทูตแห่งพื้นที่ชุ่มน้ำ เสี่ยงสูญพันธุ์ของโลก

สิ่งแวดล้อม
23 พ.ค. 61
11:52
7,469
Logo Thai PBS
"นาก" ทูตแห่งพื้นที่ชุ่มน้ำ เสี่ยงสูญพันธุ์ของโลก
รู้จัก “นาก” ผ่านมุมมองของ “เพชร มโนปวิตร” รองหัวหน้ากลุ่มงานอนุรักษ์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ไอยูซีเอ็น) วิเคราะห์วิกฤตสัตว์ผู้ล่าที่ได้รับฉายา “ทูตแห่งพื้นที่ชุ่มน้ำ”ท่ามกลางความเสี่ยงการสูญพันธ์ุ

ประชากร “นาก” ไทยและของโลก

น่าเสียดายว่าเราไม่มีไม่มีข้อมูลประชากรตัวนากในธรรมชาติ รวมทั้งการกระจายพันธุ์ที่ชัดเจน เนื่องจากยังไม่มีการสำรวจอย่างจริงจัง ทั้งที่นาก เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองภายใต้ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ในไทยมี 4 ชนิดคือ นากเล็กเล็บสั้น นากใหญ่ขนเรียบ นากจมูกขน และนากธรรมดา แต่ตัวที่อาจพบได้ในเขตเมืองมี 2 ชนิดคือ นากใหญ่ขนเรียบ นากเล็กเล็บสั้น

เบื้องต้นกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี เริ่มการศึกษาเก็บข้อมูลของสัตว์ผู้ล่าขนาดเล็ก รวมทั้งเสือปลา สัตว์กลุ่มนาก แต่การสำรวจประชากรยังจำเป็นต้องเก็บข้อมูลเชิงลึก เพื่อประเมินว่าจะมีประชากรเท่าไหร่ในพื้นที่นั้นๆ

ขณะที่ในระดับโลก “นาก” 3 ใน 4 ชนิดถูกขึ้นบัญชีแดงของไอยูซีเอ็น เป็นสัตว์ที่มีความเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ในระดับโลก หมายความว่าสัตว์กลุ่มนี้มีแนวโน้มประชากรลดลง โดยเฉพาะนากจมูกขน หายากที่สุดของโลก ทั้งนี้ในภาพรวมนาก มีภัยคุกคามหลายอย่าง ทั้งถิ่นที่อยู่อาศัยน้อยลง ภัยคุกคามจากมนุษย์ เรื่องความขัดแย้งที่เข้ามา เช่นการใช้พื้นที่ซ้อนทับกัน และระยะหลัง ภัยคุกคามจากการค้าสัตว์ป่าที่พบว่า ลูกนากเป็นสัตว์เลี้ยงยอดนิยมขึ้นมาในบ้านเรา

เจอนากในเขตเมือง ทุ่งครุ-บางขุนเทียน บอกอะไร

ข่าวการเจอตัวนากในเขตทุ่งครุ เขตบางขุนเทียน จำนวนเยอะจนถึงขั้นไปขโมยปลาในบ่อเลี้ยงของชาวบ้านกิน เป็นข่าวดี หากจำกันได้ในประเทศสิงคโปร์ การกลับมาของฝูงนาก ถือเป็นความสำเร็จของการฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำ บริเวณมารีน่า ตรงกลางเมืองสิงคโปร์ กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่คนจะไปเรียนรู้นากอย่างใกล้ชิด เพราะฉะนั้นในเชิงระบบนิเวศ เรารู้กันอยู่แล้วว่านากเป็นสัตว์ผู้ล่าสูงสุดในระบบนิเวศน์พื้นที่ชุ่มน้ำ การที่เรายังมีนาก เป็นเรื่องน่าดีใจอย่างยิ่ง

อยากให้คนทั่วไปเข้าใจว่าการเจอนาก เป็นสัญญาณที่ดีที่บอกว่าอย่างน้อยเรายังมีสัตว์ชนิดนี้อยู่ ซึ่งความจริงในอดีต นากเป็นสัตว์ประจำที่สามารถพบได้ในกรุงเทพมหานคร ในสมัยที่เรายังมีพื้นที่ชุ่มน้ำอยู่รอบทั่วกรุงเทพที่เป็นพื้นที่ราบลุ่ม และมีพื้นที่ชุ่มน้ำ มีนกน้ำขนาดใหญ่ มีสัตว์แม้แต่จระเข้ การหลงเหลืออยู่ของนากเรียกว่าสัตว์ผู้ล่าสูงสุดในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องเร่งอนุรักษ์ และทำให้เขาสามารถอยู่อาศัยได้ตามธรรมชาติ

นาก “ทูตแห่งพื้นที่ชุ่มน้ำ” ของเด็กๆ

การที่เรามาเจอนากในหลายพื้นที่ อาจจะดูเหมือนวิกฤติ ความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับสัตว์ป่า แต่อยากให้ใช้ตรงนี้เป็นโอกาสในการให้ความรู้กับชาวบ้าน ชุมชน และให้การศึกษา เพราะพื้นที่ชุ่มน้ำรอบกรุงเทพมหานคร ต้องยอมรับว่าหมดไปอย่างรวดเร็ว หมดไปเรื่อยๆ และพื้นที่ชุ่มน้ำเหล่านี้ เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติ รองรับน้ำยามน้ำท่วม แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง พื้นที่ธรรมชาติเหล่านี้ ถ้าเราเก็บเอาไว้ได้ หมายถึงว่านากจะยังอยู่ได้ และเรายังสามารถใช้ประโยชน์ในพื้นที่ชุ่มน้ำด้านอื่นๆ โดยเฉพาะป้องกันลดภัยพิบัติ

นาก จะเป็นตัวแทน และเป็นทูตที่ดีมากในเรื่องพื้นที่ชุ่มน้ำ เวลาเราพาเด็กไปศึกษา ระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ เราอาจจะพูดถึงนกน้ำ และสัตว์อื่นๆ แต่ถ้าเขาเจอกับนาก ซึ่งเป็นสัตว์ผู้ล่าตัวท็อปของระบบนิเวศชุ่มน้ำ จะกระตุ้นความสนใจ เราเห็นตัวอย่างในหลายพื้นที่ นากเป็นดารา เป็นเสือแห่งพื้นที่ชุ่มน้ำ และผู้ล่าสูงสุดของระบบนิเวศ ซึ่งเขามีพฤติกรรมที่น่าสนใจหลายอย่างจะเป็นตัวดูดให้คนเข้าใจความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำได้

นากหัวขโมย กินปลาในบ่อชาวบ้าน

ประเด็นที่ขัดแย้งขี้นมา จะเป็นโอกาสที่เจ้าหน้าที่ควรเร่งลงไปสำรวจประชากร สำรวจถิ่นที่อยู่อาศัย เพราะการเจอนากได้ หมายความว่ามันยังต้องมีพื้นที่ชุ่มน้ำที่คุณภาพดีพอสมควร และกรณีที่มีนากเข้ามากินบ่อเลี้ยงปลาของชาวบ้านเป็นประจำ เจ้าหน้าที่อาจต้องแนะนำว่าจะมีวิธีป้องกันอย่างไร และถ้าพบว่ายังพอมีระบบพื้นที่ชุ่มน้ำตามธรรมชาติบริเวณนั้น สถานภาพเป็นอย่างไร มีการจัดการหรือไม่ ตรงนี้น่าจะเป็นจุดเริ่มต้น

เป็นไปได้ด้วยว่านากเป็นสัตว์ที่ฉลาด ถ้าพบว่าการเข้ามาหากินในบ่อเลี้ยงปลามีโอกาสจับปลา หากินปลาได้เยอะกว่า การหากินตามธรรมชาติ สัตว์จะมีการเรียนรู้และอาจจะติดใจ เข้ามาหากินในบ่อเลี้ยงปลาดีกว่า คล้ายกับที่ช้าง บุกเข้าไปกินไร่สับปะรด ถามว่าเขาหากินในธรรมชาติได้มั้ย จริงๆได้แต่เขาเข้ามาแล้วคุ้ม ประหยัดเวลา ก็เป็นการเรียนรู้ของสัตว์ที่จะหากินในบ่อปลาแทนไปไล่จับปลา

ควรจัดการความขัดแย้งวิธีไหน

คงต้องไปสำรวจพื้นที่ก่อนว่า ยังมีพื้นที่เพียงพอจะให้นากอาศัยได้ตามธรรมชาติหรือไม่ ถ้าเป็นไปได้ การจับนากออกจากระบบ ต้องเป็นทางเลือกสุดท้าย เพราะนั่นหมายถึงการสูญพันธุ์ของนากจากระบบนิเวศ พื้นที่ตรงนั้นไปเลย นาก 3ใน 4 ชนิดที่พบในบ้านเราถือเป็นสัตว์ที่ถูกคุกคามในระดับโลก นากใหญ่ขนเรียบ และนากเล็บสั้น มีสถานภาพแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ และนากจมูกขน ใกล้สูญพันธุ์ ดังนั้นต้องตระหนักตรงนี้ด้วยว่านากมีภัยคุกคามเยอะ และมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์

ผมว่านากเป็นสัตว์ผู้ล่าขนาดเล็กที่เราน่าจะมีโอกาสจัดการได้ไม่ยาก ไม่เหมือนสัตว์ขนาดใหญ่ที่มีความซับซ้อนใช้พื้นที่หากินไกล น่าจะเป็นไปได้ในการจัดการพื้นที่ที่ยังพอมีสภาพเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำดั้งเดิม จัดให้เป็นเขตให้นากอาศัยอยู่อย่างปลอดภัย แต่ อาจจะมีมาตรการตามมาป้องกันไม่ให้นากออกรบกวนชาวบ้าน

เพชร มโนปวิตร รองหัวหน้ากลุ่มงานอนุรักษ์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไอยูซีเอ็น

เพชร มโนปวิตร รองหัวหน้ากลุ่มงานอนุรักษ์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไอยูซีเอ็น

เพชร มโนปวิตร รองหัวหน้ากลุ่มงานอนุรักษ์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไอยูซีเอ็น

เพิ่มพื้นที่ชุ่มน้ำเพื่อให้นากกลับมา

ประเด็นที่ทำควบคู่กันไปได้เลยคือการให้ความรู้ความเข้าใจกับชาวบ้านว่านาก เป็นสัตว์ป่า และมีความสำคัญเชิงระบบนิเวศอย่างไร แน่นอนว่าถ้ายังมีกระทบต่ออาชีพของชาวบ้าน ทางการก็อาจจะให้คำแนะนำเรื่องการป้องกันอย่างไร ซึ่งเชื่อว่าเรื่องการป้องกันนาก ไม่เข้ามาสร้างความเสียหายทางการเกษตรเป็นไปได้เพียงแต่ว่าต้องไปดูว่ามีถิ่นที่อยู่อาศัยที่นากจะพออาศัยอยู่ได้ตามธรรมชาติหริอไม่

ถ้าพบว่าไม่มี หมายถึงพื้นที่ชุ่มน้ำดั้งเดิมหมดไป และกลายเป็นว่านากต้องเข้ามาอาศัยหากินในบ่อเลี้ยงปลาของชาวบ้านเป็นประจำเพื่อความอยู่รอด จะต้องเป็นประเด็นที่ต้องคิดกันหนักว่า แสดงว่าพื้นที่ชุ่มน้ำของนากเหลือน้อยจนกระทั่งนากไม่อยู่ตามธรรมชาติได้

โดยในระยะกลางอาจต้องมองถึงการฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำ และในสิงคโปร์เองก็ไม่ต่างกัน ประชากรฝูงนากกลับมาเพราะมีโครงการฟื้นฟูระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำตรงนั้น ทำให้ผู้คนที่อาศัยบริเวณนั้น นักท่องเที่ยว และประชาชนที่เข้ามาใช้พื้นที่ ชื่นชมด้วยซ้ำ และตระหนักว่าการกลับมาของนากเป็นความสำเร็จในการฟื้นฟูระบบนิเวศ ทำให้คนเข้าไปท่องเที่ยว


“นาก” น่ารักจนกลายเป็นสัตว์ยอดฮิต

จากข้อมูลการสำรวจของหน่วยงานอนุรักษ์ ทั้งสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย องค์กรทราฟฟิก ที่ร่วมกันมอนิเตอร์การค้าขายสัตว์ป่าออนไลน์ พบว่า นากเป็นหนึ่งในชนิดสัตว์ป่าที่ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้ซื้อขายสัตว์ป่าออนไลน์ และน่าเป็นห่วงว่าคนไม่รับรู้ว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ที่สำคัญเราไม่รู้ว่านากถูกจับมาจากที่ไหนบ้าง ซึ่งการจับนากมาจากระบบนิเวศ เหมือนกับการจับเสือออกจากป่า มันจะกลายเป็นว่าไม่มีสัตว์ผู้ล่าที่จะคอยทำหน้าที่ควบคุมสมดุล หรือจัดการประชากรในระดับรองลงมาของระบบนิเวศ


ไม่ใครรู้นากถูกจับมามากน้อยแค่ไหน อัตรารอดตาย ไม่มีข้อมูลตรงนี้ เรามีข้อมูลคนเป็นพ่อค้าโปรโมทว่า นากน่ารัก แสนรู้ ลักษณะคล้ายสุนัข แต่มีความแปลกชอบเล่นน้ำอยู่กับน้ำ แต่เราไม่รู้เลยว่าลูกค้าที่หลงซื้อไปอัตราการรอดอยู่ที่เท่าไหร่ และพอเขาโตขึ้นแล้วมีปัญหาอะไรบ้างแน่นอนว่านากเป็นสัตว์ป่า การปรับตัวอยู่ในบ้านคน ซึ่งไม่ใช้พื้นที่เหมาะสมน่าจะมีผลกระทบต่อสุขภาพสัตว์ในระยะยาว

ดังนั้นความนิยมที่จะเลี้ยงนากเป็นสัตว์เลี้ยง ถือเป็นปัญหาใหญ่เหมือนกันมีการซื้อขายกันอย่างแพร่หลาย มีการทำให้นากดูเป็นสัตว์น่ารักที่น่าจะเลี้ยง เพราะเป็นนิสัยตามธรรมชาติที่นากจะมีความอยากรู้อยากเห็น ว่องไว ตื่นตัวตลอดเวลาและเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วด้วย เป็นสัตว์ที่ฉลาด เลยกลายเป็นสร้างความเข้าใจที่ผิดว่ามันน่ารัก และนำมาเป็นสัตว์เลี้ยงได้ ความจริงต้องเร่งประชาสัมพันธุ์ว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมาย และยังมีสัตว์ให้เลือกเลี้ยงอีกมากมาย การนำสัตว์ป่ามาเลี้ยงเป็นการทำร้ายธรรมชาติ โดยไม่จำเป็นเลย

 

 

อ่านข่าวเพิ่มเติม

สัตว์ผู้ล่า สู่สัตว์เลี้ยง "ยอดฮิต" ขวัญใจวัยรุ่น

“อุ๋งอุ๋ง” สุดน่ารัก สัตว์คุ้มครองชี้วัดความอุดมสมบูรณ์

เส้นแบ่งความขัดแย้งคน-นาก เขตทุ่งครุ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง