ปีนี้ คุณเลือกใช้กระทงแบบไหน ?

สิ่งแวดล้อม
21 พ.ย. 61
15:32
1,163
Logo Thai PBS
ปีนี้ คุณเลือกใช้กระทงแบบไหน ?
เช็ก! กระทงแบบไหน มลพิษน้อยที่สุด ลอยกระทงปีนี้ กรมควบคุมมลพิษชวนงดกระทงโฟม เลี่ยงกระทงขนมปัง ลดขนาดกระทง มาด้วยกัน ลอยด้วยกัน เพื่อลดขยะไปพร้อมกัน

วันนี้ (21 พ.ย.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยแพร้ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant ระบุว่า แค่กรุงเทพมหานคร แต่ละปีเก็บขยะกระทง ที่มาจากงานลอยกระทงได้เกือบ 1 ล้านใบ อย่างไรก็ตามได้มีความพยายามรณรงค์ให้ใช้วัสดุย่อยสลายง่าย จากธรรมชาติ มาอย่างต่อเนื่อง

ปี พ.ศ. 2555 ปริมาณกระทง รวมทั้งสิ้น 916,354 ใบ เป็นกระทงจากวัสดุธรรมชาติ 785,061 ใบ เป็นกระทงทำจากโฟม 131,338 ใบ

ปี พ.ศ. 2556 ปริมาณกระทง รวมทั้งสิ้น 865,415 ใบ เป็นกระทงจากวัสดุธรรมชาติ 757,567 ใบ เป็นกระทงทำจากโฟม 107,848 ใบ

ปี พ.ศ. 2557 ปริมาณกระทง รวมทั้งสิ้น 982,064 ใบ เป็นกระทงจากวัสดุธรรมชาติ 885,995 ใบ เป็นกระทงทำจากโฟม 96,069 ใบ

ปี พ.ศ. 2558 ปริมาณกระทง รวมทั้งสิ้น 825,614 ใบ เป็นกระทงจากวัสดุธรรมชาติ 754,587 ใบ เป็นกระทงทำจากโฟม 71,027 ใบ

ปี พ.ศ. 2559 ปริมาณกระทง รวมทั้งสิ้น 661,935 ใบ เป็นกระทงจากวัสดุธรรมชาติ 617,901 ใบ เป็นกระทงทำจากโฟม 44,034 ใบ

ปี พ.ศ. 2560 ปริมาณกระทง รวมทั้งสิ้น 811,945 ใบ เป็นกระทงจากวัสดุธรรมชาติ 760,019 ใบ เป็นกระทงทำจากโฟม 51,926 ใบ

กระทงขนมปังส่ง "น้ำเน่า"

ขณะที่ "กระทงขนมปัง" ซึ่งเป็นกระทงที่ได้รับความนิยม คือ กระทงที่ไม่ดีต่อสิ่งแวดล้อมที่สุด ควรหลีกเลี่ยงถ้าคิดจะลอยคืนพรุ่งนี้ ถ้ายังตัดใจเลิกลอยกระทงไม่ได้ อย่างน้อยก็ขอให้หลีกเลี่ยงเรื่อง "ลอยกระทงขนมปังเพื่อสิ่งแวดล้อม" เนื่องจากกระทงขนมปังทำน้ำเน่าเสียมากกว่าอย่างอื่น เพราะกระทงขนมปัง เป็นสารอินทรีย์ ลงน้ำก็ยุ่ยและเน่าอย่างรวดเร็ว จะเก็บขึ้นแบบกระทงใบตองหรือโฟมก็ไม่ได้ ปลาก็ไม่ค่อยกิน และหากกินไม่หมด จะกลายเป็นอาหารของเชื้อจุลินทรีย์ในน้ำ ทำให้น้ำเน่าเสียหนักขึ้นอีก

งดโฟม-เลี่ยงขนมปัง มาด้วยกัน ลอยด้วยกัน

ขณะที่กรมควบคุมมลพิษได้มีแคมเปญสำหรับงานลอยกระทงในปีนี้ "ลอยกระทงสุขใจ รักษ์น้ำใสด้วยมือเรา" โดยเสนอให้ประชาชนร่วมกันทำมาตรการดังต่อไปนี้ 

งด กระทงโฟม ถึงจะง่ายในการเก็บขน แต่ลำบากในการกำจัด เพราะใช้เวลาการย่อยสลาย 500-1,000 ปี

หลีกเลี่ยง กระทงขนมปัง เพราะหากปลากินไม่หมด จะย่อยสลายและทำให้น้ำเน่าเสีย

ลดขนาดกระทง มาด้วยกัน ลอยด้วยกัน ลดขยะไปพร้อมกัน

ปรับเปลี่ยนวัสดุที่ใช้ เช่น ใช้กระทงน้ำแข็ง ใช้ใบตองหรือหยวกกล้วยทำกระทง

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดพิกัด "ลอยกระทง" ทั่วไทย

มาแรง "กระทงน้ำแข็ง" ไอเดียลอยกระทงรักษ์สิ่งแวดล้อม

คุมเข้มขายพลุ ปล่อยโคม ตรวจโป๊ะเรือรับลอยกระทง

โพลชี้ประชาชนไม่อยากลอยกระทงกับนักการเมือง

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง