เครือข่ายแรงงานย้ำ 10 ข้อเรียกร้องเดิม วันแรงงานแห่งชาติ

สังคม
30 เม.ย. 62
18:12
5,549
Logo Thai PBS
เครือข่ายแรงงานย้ำ 10 ข้อเรียกร้องเดิม วันแรงงานแห่งชาติ
1 พ.ค. วันแรงงานแห่งชาติ เครือข่ายผู้ใช้แรงงานย้ำ 10 ข้อเรียกร้องเดิม เนื่องจากรัฐบาลยังไม่ได้นำไปแก้ไข ด้านประธานสภาอุตสาหกรรม ชี้ นโยบายปรับค่าแรงที่พรรคการเมืองหาเสียง 400 บาท/วัน กระทบกับผู้ประกอบ ทำให้เกิดการย้ายฐานผลิต

วันนี้ (30 เม.ย.62) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ย้ำข้อเรียกร้องเดิม 10 ข้อ เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ เนื่องจากเห็นว่ารัฐบาลยังไม่ได้แก้ไขปัญหาตามที่ยื่นข้อเสนอไว้ เมื่อปี 2560 เช่น ต้องจัดให้มีรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า ต้องกำหนดค่าจ้างที่เป็นธรรมครอบคลุมทุกภาคส่วน ต้องมีโครงสร้างค่าจ้างและปรับค่าจ้างทุกปี ต้องปฏิรูประบบประกันสังคม ส่วนการปรับค่าจ้างขั้นต่ำที่ยังไม่มีความชัดเจน  

 

 

น.ส.ธนพร วิจันทร์ รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า ความฮึมครึมของการจัดตั้งรัฐบาล และสถานการณ์การเลือกตั้งที่ผ่านมา ทำให้เรื่องการปรับค่าจ้างไม่ถูกหยิบยกขึ้นมา ซึ่งมองว่าไม่ควรนำเรื่องนี้มาเกี่ยวข้อง ต้องเป็นไปตามกลไกของการปรับขึ้นค่าจ้างประจำปี 

เพราะรอการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ทั้งที่ความจริงควรให้เป็นไปตามกลไกของคณะกรรมการค่าจ้างตามรอบปี ยิ่งล่าช้ายิ่งกระทบต่อค่าครองชีพของแรงงาน

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวว่า การปรับค่าแรงควรสอดคล้องกับสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และทักษะแรงงาน โดยการปรับค่าแรงตามนโยบายที่พรรคการเมืองหลายพรรคหาเสียงไว้สูงถึง 400 บาทต่อวัน จะส่งผลกระทบกับผู้ประกอบและทำให้เกิดการย้ายฐานผลิต โดยเฉพาะโรงงานที่ใช้แรงงานเข้มข้น และหากมีการปรับค่าแรงที่เหมาะสมไม่ควรสูงเกิน 10 บาท

นายสุพันธุ์ กล่าวว่า รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาจะต้องเร่งดำเนินการก่อน คือ การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจไม่ใช่เร่งขึ้นค่าแรงตามนโยบาย ซึ่งขณะนี้อยู่ในภาวะชะลอตัว ทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลออกมาในวันนี้ ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีซึ่งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นได้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง