คนแบบไหนที่ใช่ ในยุคดิจิทัล

สังคม
12 มิ.ย. 62
11:33
1,306
Logo Thai PBS
คนแบบไหนที่ใช่ ในยุคดิจิทัล
เชื่อว่า ณ วันนี้ น้องๆ หลายคนคงจะได้รายงานตัว เข้ามหาวิทยาลัยไปบ้างแล้ว และยังเหลือทีแคสรอบ 5 ให้ฝ่าฟันกันในยกสุดท้าย ทปอ. ยังพบว่า ในทีแคสรอบที่ผ่านๆ มา คณะสายสังคมศาสตร์ ยังเป็นที่สนใจมากเป็นอันดับต้นๆ เช่นเดียวกับคณะแพทยศาสตร์ ยังเป็นแชมป์ในสายวิทย์

ข้อมูลเหล่านี้มีความน่าสนใจอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณากับภาวะตลาดงานในปัจจุบัน ที่กำลังเปลี่ยนโครงสร้างไปอย่างรวดเร็ว จากการเข้ามาของเทคโนโลยี จนทำให้ขาดบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ต้องการให้รัฐบาลยกระดับการผลิตแรงงานให้เป็นวาระแห่งชาติ

คนที่มี ไม่ใช่คนที่ใช่…

ศาสตราจารย์พิริยะ ผลพิรุณห์ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า อธิบายว่า ความไม่สอดคล้องทางการศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาของการว่างงานในปัจจุบัน เกิดขึ้นอย่างมากในระดับปริญญาตรี เอกชนกลับสะท้อนว่าขาดแคลนแรงงานทักษะในสายอาชีวะ

จะเน้นอาชีวะอย่างเดียวคงไม่พอ

อาชีวะก็ต้องการการมุ่งพัฒนา โดยเฉพาะการลบภาพว่า ด้อยกว่าการจบจากมหาวิทยาลัย เป็นที่เรียนของคนไม่มีที่ไป ทั้งๆที่คนกลุ่มนี้ คือแรงงานที่สำคัญ และควรจะได้รับเงินเดือนที่ตรงกับความสามารถ ไม่น้อยกว่าปริญญาตรี ซึ่งการพัฒนาในปัจจุบันมีมากขึ้น

แล้วทำไมคนบางส่วนยังเชื่อว่าปริญญาตรีดีกว่า

นโยบายส่งเสริมการเรียนต่อในระดับปริญญาตรี ค่านิยมการมีใบปริญญา และค่าแรงปริญญาตรีที่สูงกว่า ทำให้ที่ผ่านมา ถนนสายปริญญาตรีผลิตบุคลากรออกมาจำนวนมาก

เชื่อไหมว่า จากผลการสำรวจของบริษัทเอกชนด้านการจัดหารงานบางแห่ง พบว่า มีบริษัทไม่ถึงครึ่งของการสำรวจที่มีบุคลากรตรงกับความต้องการ และที่มีอยู่นั้นก็มีแค่ 40% ไม่ถึงครึ่งของพนักงานที่มี

บุคลากรสายวิทยาศาสตร์ มีความต้องการมากกว่า แต่ผลิตบัณฑิตออกมาน้อยกว่า โดยคนส่วนใหญ่กว่า 80% เลือกเรียนสายสังคมศาสตร์ ซึ่งถือเป็นความไม่สอดคล้องกันของสาขาที่ผลิตแรงงานออกมา

ทักษะที่ได้ออกมาจากสถาบันการศึกษา ไม่ตรงกับความต้องการตลาดแรงงาน เมื่อมาประกอบกับความไม่สอดคล้องในเชิงพื้นที่ คนที่จบมาส่วนใหญ่อยากทำงานอยู่ในกรุงเทพมหานคร แต่งานในกรุงเทพมหานครส่วนใหญ่เป็นภาคบริการ จึงไม่แปลกที่แม้แต่สายวิทยาศาสตร์บางแขนงก็อยากทำงานข้ามสายงาน เช่น วิศวกร อาจไปทำงานสายการเงินก็เป็นไปได้

เด็กไทยวางแผนชีวิตการเรียนจากอะไร?

มนัส อ่อนสังข์ บรรณาธิการข่าวการศึกษา เว็บไซต์เด็กดีดอทคอม เล่าว่า ส่วนใหญ่น้องๆยังคงเลือกคณะ สาขา จากคะแนนที่มี เด็กที่เก่งก็เลือกได้ตามที่ฝัน แต่ถ้าคะแนนไม่ดีก็เลือกตามที่คะแนนถึง นั่นทำให้มีโอกาสที่เด็กไทยจะซิ่ว (ฟอสซิล คือ คำเรียกเด็กที่เรียนชั้นปีที่หนึ่งแล้ว กลับมาสอบในคณะที่อยากเรียนใหม่ ต้องกลับมาเรียนมีหนึ่งใหม่อีกครั้ง) เสียเวลาอีกปีหนึ่งไปกับการเรียนในคณะที่ไม่ชอบ แต่ได้ขึ้นชื่อว่าสอบติด

ปัญหาอยู่ตรงไหน?

เด็กส่วนใหญ่ไม่รู้จักตัวเอง พรุ่งนี้ต้องเลือกคณะแล้ว แต่ยังไม่รู้จะเลือกอะไร มีคำแนะนำ 3 อย่าง ที่น้องๆ ควรตั้งคำถามและหาคำตอบให้กับตัวเองคือ


1.เก่งวิชาอะไร คณะที่จะเลือกเรียน มีวิชาที่ถนัดอยู่ไหม
2. ดูแค่วิชาที่ชอบก็ไม่ได้ ต้องดูหลักสูตรว่ารายวิชาที่จะต้องเรียนตลอด 4 ปี สอนอะไรบ้าง ใช่ที่สนใจหรือไม่
3. ถ้ายังเลือกคณะไม่ได้ ลองดูว่าในอนาคตอยากทำอาชีพอะไร

ยุคดิจิทัล กำลังท้าทายว่า ใบปริญญาไม่ใช่สิ่งสำคัญ แล้วคนแบบไหนคือคนที่ต้องการ
อาจารย์พิริยะ เปรียบเทียบว่า ปัจจุบันเด็กไทยยังเรียนไม่ต่างกับ 40 ปีก่อน ซึ่งเป็นยุคอุตสาหกรรม ซึ่งต้องการคนเก่ง คนดี คนขยัน การเรียนเน้นการแข่งขัน การบ้านหนัก

แต่ในยุคดิจิทัล สามคุณสมบัติที่สำคัญคือ ทักษะด้านภาษาในขั้นที่ต้องสื่อสารได้ ความสามารถในการใช้เทคโนโลยีเพื่อรองรับการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นขั้นสูงมากขึ้นเรื่อยๆ และทักษะการคิดวิเคราะห์ แต่การจะผลิตคนได้แบบนี้ อาจารย์พิริยะ มองว่า ต้องเริ่มกันใหม่ตั้งแต่ระดับอนุบาล การเรียนต้องเปลี่ยน

วิธีคิดของผู้ปกครอง โรงเรียน ต้องยอมรับในความเก่งที่เด็กแต่ละคนเป็น ไม่ต้องแข่งขันหรือจัดอันดับ แต่ต้องดูว่าเด็กเก่งตรงไหน ต้องเพิ่มตรงไหน ไม่ต้องตัดเกรด ให้เด็กเรียนรู้อย่างมีความสุข เด็กจะค้นหาตัวเองเจอ และมีความสุขที่จะเรียนรู้ตลอดเวลา

ซึ่งจะเห็นว่า การแก้ปัญหาเรียนไปตกงาน มีแรงงานไม่ตรงความต้องการของตลาด ยังมีทางออก เพียงแต่ครอบครัว ภาคการศึกษาตั้งแต่เด็กเล็กจนถึงมหาวิทยาลัย และอุตสาหกรรม ต้องทำงานกันให้ใกล้ชิดมากขึ้น

โลกอนาคต ต้องการคนที่เรียนรู้ตลอดเวลา

คุณยุทธนา เจียมตระการ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ การบริหารกลาง เอสซีจี ซึ่งดูแลงานด้านทรัพยากรบุคคล ยืนยันว่า คนในยุคดิจิทัล ไม่ได้ต้องการคนจบ ป.เอก ป.โท ป.ตรีเสมอไป สิ่งที่ต้องการจริงๆคือ เก่งและดี

เก่งคือ ต้องมีทักษะด้านวิชาการในระดับที่ดี เพื่อพัฒนาให้มีทักษะเฉพาะทางที่มากขึ้น เพื่อให้ตอบโจทย์รับกับการแข่งขันได้ ซึ่งต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ กล้าคิดกล้าทำ

แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือ ต้องพร้อมที่จะเรียนรู้ตลอดเวลา มีทัศนคติที่ดี เด็กสมัยใหม่เก่ง มีความเป็นตัวตนสูง แต่เมื่อเข้าไปทำงาน แต่ละที่ก็มีวัฒนธรรมองค์กร มีจริยธรรมกำหนด นั่นคือสิ่งที่สำคัญเช่นกัน นั่นคือ ความดี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง