ก.ล.ต.เผยผลสำเร็จด้านคุ้มครองผู้ลงทุนของไทยพุ่งสู่อันดับ 3 ของโลก

เศรษฐกิจ
24 ต.ค. 62
15:47
600
Logo Thai PBS
ก.ล.ต.เผยผลสำเร็จด้านคุ้มครองผู้ลงทุนของไทยพุ่งสู่อันดับ 3 ของโลก
ก.ล.ต.ยินดีผลการประเมินความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ ซึ่งจัดทำโดยธนาคารโลก ในด้านการคุ้มครองผู้ลงทุนเสียงข้างน้อยของไทย ก้าวกระโดดสู่อันดับ 3 ของโลก จากอันดับที่ 15 ในปีที่แล้ว จากทั้งหมด 190 ประเทศ

วันนี้ (24 ต.ค.2562) น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ตามที่ในวันนี้ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้แถลงผลรายงานการจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจของธนาคารโลก ซึ่งประเทศไทยได้อันดับที่ 21 ดีขึ้น 6 อันดับ จากอันดับที่ 27 ในปีที่แล้ว และเป็นอันดับที่ 5 ในเอเชียแปซิฟิก โดยด้านที่ไทยได้รับอันดับและคะแนนที่ดีขึ้นมีอยู่ 2 ด้าน ได้แก่ การขออนุญาตก่อสร้าง และการคุ้มครองผู้ลงทุนเสียงข้างน้อย

คะแนนคุ้มครองผู้ลงทุนเสียงข้างน้อยติด 10 อันดับแรก

ก.ล.ต.ได้มีบทบาทในการเข้าร่วมในการปรับปรุงและผลักดันมาตรการต่างๆ ในด้านการคุ้มครองผู้ลงทุนเสียงข้างน้อย และในการประเมินในครั้งนี้ผลการจัดอันดับในเรื่องดังกล่าวปรับสูงขึ้นมาอยู่ที่อันดับที่ 3 ของโลก จากเดิมที่อยู่ที่อันดับที่ 15 โดยได้รับคะแนน 86 คะแนน ซึ่งเดิม 75 คะแนนในปีที่แล้ว โดยเป็นผลจากดัชนีด้านความสะดวกในการฟ้องคดีของผู้ถือหุ้นที่เพิ่มขึ้นจาก 8 คะแนนเป็น 9 คะแนน โดยมีคะแนนเต็ม 10 คะแนน และดัชนีด้านความโปร่งใสของบริษัท ที่ได้รับการปรับคะแนนเพิ่มขึ้นในเรื่องสิทธิของผู้ถือหุ้นในการเสนอวาระการประชุมต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้น ซึ่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2550 ที่คะแนนด้านการคุ้มครองผู้ลงทุนเสียงข้างน้อยของไทยติดอยู่ใน 10 อันดับแรก

 

อานิสงส์การทำงานเชิงรุก - แสดงหลักฐานสนับสนุน

สำหรับการที่อันดับดีขึ้นอย่างก้าวกระโดดในครั้งนี้ เป็นผลจากการที่ในเดือนพฤษภาคม 2562 ก.ล.ต.ได้ปรับแนวทางการทำงาน โดย ก.ล.ต. ทำงานเชิงรุกในการสื่อสารโดยได้ริเริ่มประชุมทางไกล กับผู้ประเมินของธนาคารโลก จากกรุงวอชิงตัน ดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นครั้งแรก และทำงานในเชิงบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง ก.ล.ต.ได้เชิญตัวแทนจากสำนักงานศาลยุติธรรม และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เข้าร่วมชี้แจงพร้อมกัน รวมถึงได้แสดงหลักฐานเชิงประจักษ์ สนับสนุนการตอบคำถามในการประเมิน

 

ไทยได้คะแนนดีขึ้นมากในตัวชี้วัดด้านการคุ้มครองผู้ลงทุนเสียงข้างน้อย สะท้อนถึงกลไกที่เข้มแข็งทั้งกฎหมายและทางปฏิบัติในส่วนที่เกี่ยวข้องสิทธิของผู้ถือหุ้น ซึ่งจะเพิ่มความเชื่อมั่นการลงทุนในตลาดทุนจากผู้ลงทุนไทยและต่างประเทศ

10 ปัจจัย ใช้ประเมินความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ

ทั้งนี้ การประเมินความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ ประกอบด้วยตัวชี้วัดทั้งหมด 10 ด้าน ประกอบด้วย 1. ด้านการเริ่มต้นธุรกิจ 2. ด้านการขออนุญาตก่อสร้าง 3. ด้านการขอใช้ไฟฟ้า 4. ด้านการจดทะเบียนทรัพย์สิน 5. ด้านการได้รับสินเชื่อ 6. ด้านการคุ้มครองผู้ลงทุนเสียงข้างน้อย 7. ด้านการชำระภาษี 8. ด้านการค้าระหว่างประเทศ 9. ด้านการบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง และ 10. ด้านการแก้ปัญหาการล้มละลาย โดยธนาคารโลกจะพิจารณาจากกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง และเก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม รวมทั้งการเข้าพบสัมภาษณ์ผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง