"กระเบนไฟฟ้า" อวดโฉมครั้งแรกหมู่เกาะสิมิลัน

สิ่งแวดล้อม
6 ม.ค. 63
18:12
4,858
Logo Thai PBS
"กระเบนไฟฟ้า" อวดโฉมครั้งแรกหมู่เกาะสิมิลัน
ข่าวดี! เจอปลากระเบนไฟฟ้าที่หมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงา ถือเป็นรายงานใหม่ที่พบในทะเลสิมิลัน คาดอาจมาจากคลื่นน้ำเย็น (IOD) ที่ส่งผลทำให้มีสัตว์ทะเลหายากปรากฎตัวหลายชนิด ด้านอาจารย์ธรณ์ โพสต์เฟซบุ๊ก เคยเจอเมื่อปี 2540 ที่ จ.ระนอง และกองหินริเชลิว

วันนี้ (6 ม.ค.2563) เฟซบุ๊กอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน เผยข่าวดีว่า ค้นพบตัวละครลับ ปลากระเบนไฟฟ้าที่สิมิลัน โดยระบุว่าเมื่อวันที่ 31 ธ.ค.2562 อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ได้รับแจ้งจากกลุ่มนักดำน้ำว่า พบปลากระเบนไฟฟ้าบริเวณจุดดำน้ำ Deep six ที่ความลึก 27 เมตร ของเกาะปายู (เกาะ7) ซึ่งอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ได้มอบหมายให้นายสุธีรชัย สมทา นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลประจำอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ประสานผู้เชี่ยวชาญหาข้อมูล เพื่อจำแนกชนิดของปลากระเบนไฟฟ้าตัว

เบื้องต้นกำลังลุ้นอยู่ว่าจะใช่ปลากระเบนไฟฟ้า (Torpedo fuscomaculata) หรือไม่ เพราะถ้าเป็นปลากระเบนไฟฟ้า(Torpedo fuscomaculata) ก็จะเป็นการค้นพบสัตว์ทะเลชนิดใหม่อีกครั้งที่สิมิลัน

ภาพ:อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน

ภาพ:อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน

ภาพ:อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน

 

แต่ถ้าหากเป็นปลากระเบนไฟฟ้า(Torpedo fuscomaculata) จริงคำถามต่อมาคือมันมาอยู่ที่สิมิลันได้อย่างไร เนื่องจากปลากระเบนไฟฟ้า ส่วนใหญ่พบอยู่บริเวณมหาสมุทรอินเดีย ไปจนถึงทะเลทางแถบแอฟริกาใต้ รวมถึงทะเลในแถบมัลดีฟส์ เป็นไปได้หรือไม่ที่การค้นพบปลากระเบนไฟฟ้าในครั้งนี้จะเกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ IOD

สำหรับปลากระเบนไฟฟ้า เป็นปลากระเบนที่มีรูปร่างกลม จัดอยู่ในอันดับ Torpediniformes และมีอวัยวะคู่หนึ่งที่สามารถปล่อยกระแสไฟฟ้าได้ ตั้งอยู่ทางด้านข้างของตาถัดไปถึงครีบอก ภายในมีสารเป็นเมือกคล้ายวุ้น ทำหน้าที่ในการผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากกว่า 200 โวลต์ กระแสไฟฟ้านี้ใช้เพื่อทำให้เหยื่อสลบหรือฆ่าเหยื่อ ปลากระเบนไฟฟ้าทั้งหมดมีรูปร่างแบนกลม ตามีขนาดเล็กมาก ส่วนหางแข็งแรง และไม่มีเงี่ยงหางแหลมคมเหมือนปลากระเบนในอันดับอื่น มีลำตัวหนาและอ่อนนุ่ม มีครีบหลัง 2 ตอน

โดยทั่วไปแล้วกระเบนไฟฟ้าชนิดนี้ยังไม่มีรายงานการถูกพบได้ทั่วไปในประเทศไทย แต่ก็มีโอกาสพบได้ในทะเลอันดามัน เนื่องจากรายงานการแพร่กระจายของกระเบนชนิดนี้อยู่บริเวณมหาสมุทรอินเดีย ไปจนถึงทะเลทางแถบแอฟริกาใต้ รวมถึงทะเลในแถบมัลดีฟส์ที่เป็นที่นิยมของนักดำน้ำ

ภาพ:อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน

ภาพ:อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน

ภาพ:อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน

 

ปลากระเบนไฟฟ้ามักหมกตัวอยู่ใต้พื้นทราย สามารถทำอันตรายต่อมนุษย์ได้หากเหยียบไปถูกเข้า ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการชา หรือหมดสติ และอาจทำให้จมน้ำเสียชีวิตได้

การป้องกันและรักษา หากทราบว่าในบริเวณใดมีปลากระเบนไฟฟ้าอาศัยอยู่ ควรหลีกเลี่ยงในการลงเล่นน้ำในบริเวณดังกล่าว เนื่องจากกระแสไฟฟ้าที่ปล่อยออกมาได้มากถึง 30 แอมป์ ซึ่งมากเกินพอให้เสียชีวิตได้ในทันที แต่หากพบว่ามีนักดำน้ำถูกกระเบนไฟฟ้าจนหมดสติให้รีบนำผู้ป่วยขึ้นสู้ผิวน้ำทันทีและช่วยปฐมพยาบาลให้ผู้ป่วยหายใจ (CPR) แล้วนำส่งโรงพยาบาล

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง เตือน "IOD" รุกคืบทะเลสิมิลันน้ำเย็นเฉียบ 23 องศาฯ

นักวิชาการ ระบุอาจมาจากปรากฎการณ์ IOD

นายธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) โพสต์เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ว่า มีข่าวพบกระเบนไฟฟ้าที่สิมิลันน่าจะเป็นครั้งแรกที่มีรายงานที่นั่น แต่ถ้าในเมืองไทย เคยมีผู้พบโดยเฉพาะในช่วงเกิดปรากฏการณ์น้ำเย็น IOD ตอนปี 2540 ก็เคยเจอที่ระนอง และริเชลิว

กระเบนหลายชนิดมีอวัยวะสร้างกระแสไฟฟ้าอ่อนๆ เพื่อใช้ช่วยในการล่าเหยื่อ แต่กระเบนกลุ่มหนึ่งมีอวัยวะพวกนี้พัฒนาเป็นพิเศษ เราเรียกว่าพวก Electric Ray มีอยู่ประมาณ 60 ชนิด

กระแสไฟฟ้าที่สร้างแรงพอควร ประมาณว่าใกล้เคียงกับไฟช็อตในน้ำ แต่ไม่ใช่กระเบนเจออะไรเป็นช็อต ไม่งั้นเป็นสัตว์ประหลาดแล้ว กระเบนไฟฟ้า แบ่งเป็น 2 กลุ่มง่ายๆ กลุ่มหนึ่งจะใช้ไฟฟ้าช่วยในการจับเหยื่อ อีกกลุ่มยังไม่แน่

นอกจากนี้ ยังใช้ไฟฟ้าเพื่อป้องกันตัวมีรายงานคนโดนชอตมาตั้งแต่อดีต (ในต่างประเทศ) แต่เป็นชาวประมงที่ไปจับพวกเขา ปกติกระเบนพวกนี่ไม่ว่ายไล่ช็อตใคร ต้องไปโดนหรือเข้าใกล้จนเขาตกใจ

ในเมืองไทย ไม่เคยมีรายงานว่ามีใครโดนกระเบนไฟฟ้าทำร้าย เพราะเขามีน้อยมาก นานๆ เจอทีในวาระพิเศษ เช่น คลื่นน้ำเย็นที่เกิดจาก IOD ปกติดำน้ำตื้นโอกาสเจอยากมาก หากดำน้ำลึกในช่วงนี้ เมื่อเจอก็แค่ตั้งหลักดู อย่าเข้าไปใกล้เกินเหตุหรือคิดจับต้อง แค่นั้นก็ปลอดภัย อันที่จริง จะเป็นกระเบนชนิดอื่นก็ควรทำเหมือนกัน สัตว์ทะเลยากที่จะทำร้ายเรา หากเราไม่คิดไปยุ่งเกี่ยวกับพวกเขาเกินเหตุครับ

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง