ผู้เชี่ยวชาญ ห่วงงบฯ 1 พันล้าน ขุดบ่อบาดาลไม่คุ้มค่า

ภัยพิบัติ
14 ก.พ. 63
11:50
3,669
Logo Thai PBS
ผู้เชี่ยวชาญ ห่วงงบฯ 1 พันล้าน ขุดบ่อบาดาลไม่คุ้มค่า
ผู้เชี่ยวชาญน้ำบาดาลห่วงรัฐบาลเร่งใช้งบ 1 พันล้านขุดบ่อบาดาลแก้วิกฤตแล้ง หากไม่อยู่บนฐานข้อมูลและหลักวิชาการ อาจไม่ได้น้ำและเจอปัญหาน้ำเค็มซ้ำเติม

สถานการณ์ภัยแล้งที่เริ่มตั้งเค้ามาตั้งแต่เดือน ธ.ค.2562 พร้อมการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาว่า ปี 2563 ประเทศไทยอาจต้องเตรียมรับมือกับวิกฤตภัยแล้งที่คาดว่าจะมีความรุนแรงมากเป็นอันดับ 2 ในรอบ 40 ปี นับตั้งแต่ปี 2522

ข้อมูลล่าสุดจากกองอำนวยการน้ำแห่งชาติระบุว่า ขณะนี้ (12 ก.พ.) มีพื้นที่ประสบภัยแล้งจำนวน 21 จังหวัด 127 อำเภอ 674 ตำบล ส่วนแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การได้เพียงร้อยละ 37 แม่น้ำสายหลักทุกภาคปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อยวิกฤต ยกเว้นภาคกลางและภาคใต้ที่ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อยถึงปกติ

เมื่อน้ำผิวดินเหลือน้อยการนำน้ำใต้ดินหรือน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ จึงเป็นหนึ่งในมาตรการรับมือภัยแล้ง โดยจากข้อมูลของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ระบุว่า ประเทศไทยมีปริมาณน้ำบาดาลที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จำนวน 45,385 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) ซึ่งจนถึงปัจจุบันนี้มีการสูบขึ้นมาใช้แล้ว 14,741 ล้าน ลบ.ม. ยังเหลืออีก 30,645 ล้าน ลบ.ม. ที่พร้อมจะนำขึ้นใช้ได้ โดยเปรียบเทียบได้เท่ากับปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลประมาณ 2-3 เขื่อนรวมกัน

นี่จึงเป็นที่มาที่ทำให้ของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 ม.ค.ที่ผ่านมา อนุมัติงบประมาณจำนวน 3,079,472,482 บาท เพื่อดำเนินการ 2,041 โครงการ ในพื้นที่ 57 จังหวัด แบ่งเป็น การขุดเจาะบ่อบาดาล 1,100 โครงการ วงเงิน 1,300,530,496 บาท การจัดหาแหล่งน้ำผิวดิน 230 โครงการ วงเงิน 145,265,895 บาท และการซ่อมแซมระบบน้ำประปา 654 โครงการ วงเงิน 450,856,091 บาท นอกจากนี้ยังมีการวางท่อส่งน้ำ โครงการก่อสร้างโรงสูบน้ำ การติดตั้งท่อส่งน้ำ การวางท่อน้ำดิบ และการดูแลโรงพยาบาลที่ขาดแคลนน้ำ

ส่วนการทำงานจะเป็นบูรณาการหลายหน่วยงาน ได้แก่ การประปานครหลวงและการประปาส่วนภูมิภาค หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองทัพบก กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งงบประมาณ ทั้งหมดนี้จะต้องดำเนินโครงการเร่งด่วนให้เสร็จสิ้นภายใน 120 วัน

ขุดบ่อบาดาล ต้องอยู่บนหลักวิชาการ


การกำหนดกรอบเวลาให้หน่วยงานเร่งดำเนินโครงการภายใน 120 วัน แม้ด้านหนึ่งจะเห็นความจำเป็นที่ต้องเร่งบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่กำลังเผชิญปัญหาอยู่ในขณะนี้ แต่นายชัยพร ศิริพรไพบูลย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำบาดาล อดีตผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เห็นว่า แม้ว่าจะเร่งรีบอย่างไร แต่การทำงานเรื่องนี้ก็ต้องอยู่บนฐานข้อมูล

นายชัยพร ศิริพรไพบูลย์

นายชัยพร ศิริพรไพบูลย์

นายชัยพร ศิริพรไพบูลย์

 

ในการพัฒนาทรัพยากรน้ำบาดาล มันไม่ใช่น้ำผิวดินที่เราจะมองเห็น มันอยู่ใต้ดิน ซึ่งแต่ละส่วนของประเทศก็มีหินต่างชนิดกัน เพราะฉะนั้นน้ำบาดาลในแต่ละโซนจะไม่เหมือนกัน และยังมีปัญหาน้ำมาก น้ำน้อย น้ำเค็ม หรือเจาะแล้วไม่ได้น้ำ หากใช้วิชาการนำจะรู้ว่าโครงสร้างข้างล่างเป็นอย่างไร สภาพน้ำบาดาลเป็นอย่างไร

นายชัยพร ยืนยันว่า หากมีข้อมูลก็จะหลีกเลี่ยงความผิดพลาดในเรื่องเจาะบ่อไม่ได้น้ำ ก็จะทำให้สูญเสียงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์ หรือเจาะได้น้ำเค็มแทนน้ำจืด แม้แต่การสร้างฝายหรือเขื่อนในบางพื้นที่ เช่น ภาคอีสาน ซึ่งมีชั้นเกลืออยู่ใต้ดินด้วยนั้น หากสร้างผิดที่ก็จะกลายเป็นว่า น้ำในอ่างนั้นจะยิ่งกระจายความเค็ม แต่ถ้าสร้างถูกที่ก็จะมีประโยชน์ ดังนั้น ควรใช้วิชาการที่ถูกต้องนำการพัฒนา วิชาการต้องนำการปฏิบัติ

 

สำหรับการพัฒนาบ่อน้ำบาดาลตามหลักวิชาการต้องดำเนินการ 10 ขั้นตอน ดังนี้ 1. วิเคราะห์ฐานข้อมูลเดิม 2. การลงพื้นที่สำรวจภาคสนาม 3. การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อคัดเลือกสถานที่ 4. การเจาะสำรวจเพื่อเก็บตัวอย่างไปวิเคราะห์ 5. การออกแบบและก่อสร้างบ่อ 6. การก่อสร้างบ่อให้สมบูรณ์ 7. การสูบทดสอบ 8. เก็บตัวอย่างน้ำวิเคราะห์ 9. ออกแบบการจ่ายน้ำและก่อสร้างระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำและระบบจ่ายน้ำ และ 10. นำไปใช้ประโยชน์

อยากให้สื่อตามดูผลงานของโครงการที่จะทำ โดยเฉพาะพื้นที่ จ.มหาสารคาม และร้อยเอ็ด เพราะพวกนี้เป็นพื้นที่น้ำเค็ม ถ้าไม่สำรวจ จะเจอปัญหาและไม่ได้ผล

นายชัยพร ย้ำว่า น้ำบาดาลของประเทศไทยยังมีศักยภาพอีกเยอะและมีหลายแห่ง แต่การพัฒนายังน้อยและเทคนิคก็ใช้มานานแล้วแต่ไม่ได้ปรับปรุง นอกจากนี้ อดีตเราใช้น้ำบาดาลเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นหลัก เพราะยังไม่มีน้ำประปาและการทำเกษตรยังน้อย แต่ปัจจุบันพื้นที่เกษตรขยายมากขึ้น จึงต้องพัฒนาน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ ให้มีสัดส่วนมากกว่านี้ แต่ต้องใช้หลักวิชาการตั้งแต่การสำรวจไปถึงการเจาะ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เตือนฟ้อง! โต้รัฐบาลใช้งบ 3 พันล้านขุดบ่อบาดาล

 

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง