"ศศิน" ทวงคืนป่าสนธรรมชาติฟื้นฟูนิเวศภูกระดึง

สิ่งแวดล้อม
18 ก.พ. 63
12:56
1,778
Logo Thai PBS
"ศศิน" ทวงคืนป่าสนธรรมชาติฟื้นฟูนิเวศภูกระดึง
"ศศิน เฉลิมลาภ" โพสต์เพซบุ๊ก ระบุควรใช้สถานการณ์ไฟป่าภูกระดึงฟื้นฟูระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำแอ่งลานทราย ที่ได้รับผลกระทบจากการปลูกป่าสน

เมื่อวันที่ 17 ก.พ.2563 นายศศิน เฉลิมลาภ ประธานกรรมการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร โพสต์เพซบุ๊ก "ศศิน เฉลิมลาภ" แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ไฟป่าบนอุทยานแห่งชาติภูกระดึง จ.เลย โดยระบุว่า

ให้ไฟไหม้ภูกระดึง เป็นโอกาสในการฟื้นฟูระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำแอ่งลานทราย ไม่ใช่ว่าไฟป่าบนภูกระดึงจะเป็นเรื่องไม่น่ากลัว แต่เมื่อเกิดแล้วควบคุมได้แล้ว มาตรการระมัดระวังคงต้องเตรียมพร้อมกับช่วงแล้งจริงๆ ในเดือนมีนาคม และน่าจะ "ฉวยโอกาส" นี้ฟื้นฟูระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำแอ่งลานทราย หรือ bog ซึ่งได้รับผลกระทบจากโครงการปลูกป่าสน จนระบบนิเวศที่สำคัญและทำให้ภูกระดึง "เคยสวยกว่านี้" กลับมา

เอกลักษณ์ของภูกระดึงคือ ป่าต้นสนสลับทุ่งหญ้าป่าละเมาะ ขึ้นหลังแปมาเห็นทุ่งโล่งสวยสลับด้วยกลุ่มต้นสนสูงสง่า ไม่ใช่ป่าสนเป็นพืด หรือพุ่มไม้ทึบบังวิว

สักสามสิบปีที่ผ่านมา มีโครงการปลูกป่าสนสองใบ และสนสามใบบนภูกระดึงใน bog ดังกล่าว ทั่วไป ใครที่ปีนขึ้นภูกระดึงในปัจจุบัน เมื่อสายตาพ้นหลังแปขึ้นมา จะไม่ได้ตื่นเต้นกับที่ราบ ที่ความจริงเป็น bog สุดลูกหูลูกตาอีก แต่จะพบป่าสนแน่นขนัดแทน เพราะโครงการปลูกป่าที่อาจจะละเลยความรู้พื้นฐานทางนิเวศวิทยา ใช้แต่การจัดการป่าไม้ และเทคโนโลยีปลูกป่า

ต้นสนจึงโตงดงาม แต่สูบน้ำใน bog ไปด้วย ยิ่งโต ก็ยิ่งสูบน้ำใน bog และสนสามใบ สนสองใบ ยังทำให้ในดินมีไนโตรเจนเพิ่มมากขึ้น ทำให้พืชหลายชนิดที่ไม่เคยขึ้นได้ก็มาขึ้น จนมาแย่ง

หน้าแล้ง bog แห้งบ้าง มีหญ้าขึ้น มีดงสนอยู่ห่างๆกัน ในทุ่งหญ้าซึ่งที่จริงเหมือนคือ bog มีหม้อข้าวหม้อแกงลิง และหยาดน้ำค้าง สาหร่ายข้าวเหนียว ที่เป็นพืชกินแมลงมากมาย ปัจจุบันแห้งเกือบตลอดปี มีแต่สนปลูกทั่วไป ผลจากความรักธรรมชาติแต่อาจจะขาดความสนใจระบบนิเวศ ให้ไฟป่าครั้งนี้เป็นโอกาสฟื้นฟูระบบนิเวศกลับมา

 

นายศศิน ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์เพิ่มเติมว่า การปลูกป่าสนเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศที่ภูกระดึง ถือเป็นการปลูกป่าแบบจัดแถวที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติบนภูกระดึงไปอย่างมาก เพราะสภาพเดิมของหลังแป เป็นป่าสนเขาและทุ่งหญ้าสลับกันไป ผสมกับความหลากหลายของพืชหลากชนิดที่จะพบในระบบนิเวศนี้ เช่น ข้าวตอกฤาษี หม้อข้าวหม้อแกงลิงก็หายไปจากพื้นที่ รวมทั้งการที่มีต้นสนปลูกหนาแน่น แทนที่จะเป็นป่าธรรมชาติปลูกขึ้นเองทดแทนกันเรื่อยๆ เป็นรุ่นๆ ก็อาจะทำให้ดึงระบบน้ำ

ผมไม่เห็นด้วยที่มีไฟป่าบนยอดภูกระดึง แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็ถือโอกาสจากไฟป่าปล่อยให้ระบบนิเวศเดิมฟื้นตัวกลับมาเอง โดยไม่ต้องปลูกป่าทดแทนอย่างเด็ดขาด

นายศศิน กล่าวอีกว่า ส่วนปัญหาไฟป่าในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ปีนี้น่าจะรุนแรงต่อเนื่อง เพราะสภาพอากาศแล้งจัด น้ำแห้งมาก ต้องควบคุมไม่ให้เกิดไฟ โดยเฉพาะคน ซึ่งเชื่อว่าต่อไปการจัดการชุมชนรอบพื้นที่ป่าอย่างมีส่วนร่วม และนำกติกามาจัดระเบียบการเข้าป่าจะช่วยควบคุมให้เกิดความยั่งยืน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไฟไหม้ป่าภูกระดึง ต้นสนอายุกว่า 100 ปี เสียหายหนัก

คุมไฟไหม้ "ภูกระดึง" เสียหายกว่า 2,000 ไร่ ห่วงปะทุรอบใหม่

เสน่ห์ "ภูกระดึง" ครั้งหนึ่งที่ต้องพิชิต

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง