GitHub นำโค้ดที่เก็บลงในม้วนฟิล์ม ไปฝังที่ขั้วโลกเหนือได้สำเร็จ

Logo Thai PBS
 GitHub นำโค้ดที่เก็บลงในม้วนฟิล์ม ไปฝังที่ขั้วโลกเหนือได้สำเร็จ
หากวันหนึ่งอารยธรรมของมนุษยชาติสูญสิ้นไปด้วยสงครามโลก โรคระบาด หรือสาเหตุใด ๆ ก็ตามต้นฉบับของโค้ดซอฟต์แวร์จำนวนมหาศาลอาจสูญสิ้นพร้อมกันไปด้วย ทำให้ GitHub จัดทำโครงการรวบรวมโค้ดในฐานข้อมูลลงสู่ม้วนฟิล์ม แล้วนำไปเก็บรักษาไว้บริเวณขั้วโลกเหนือ

เว็บไซต์ GitHub ผู้ให้บริการพื้นที่ออนไลน์สำหรับจัดการโค้ดของซอฟต์แวร์ในรูปแบบต่าง ๆ ทำให้การทำงานเป็นทีมระหว่างนักพัฒนาซอฟต์แวร์สามารถทำได้ง่ายมากขึ้นการอัปเดตหรือเปลี่ยนแปลงโค้ดต้นฉบับจะถูกบันทึกและแชร์ให้คนอื่น ๆ ในทีมติดตามความคืบหน้าของการเขียนโปรแกรม ได้พัฒนาโครงการ GitHub Arctic Code Vault ขึ้น

โดยโครงการดังกล่าวของ ใช้วิธีดาวน์โหลดโค้ดต้นฉบับของซอฟต์แวร์จากฐานข้อมูล GitHub ในวันที่ 2 ก.พ. 63 ซึ่งมีปริมาณข้อมูล 21 เทราไบต์ จากนั้นจึงแปลงข้อมูลดังกล่าวเก็บลงบนแผ่นฟิล์มชนิดพิเศษ ที่เรียกว่า piqlFilm ความยาวกว่า 186 ม้วน โดยม้วนฟิล์มจะถูกเก็บรักษาไว้ในตู้เหล็กแข็งแรงที่ระดับความลึกประมาณ 250 เมตร บริเวณเกาะ Svalbard ห่างจากชายฝั่งประเทศนอร์เวย์ประมาณ 1,000 กิโลเมตร และเป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตขั้วโลกเหนือ

 

นักวิทยาศาสตร์คาดว่าม้วนฟิล์มเหล่านี้ถูกเก็บรักษาและคงสภาพไปได้อีกอย่างน้อย 1,000 ปี ซึ่งล่าสุด GitHub รายงานว่า ภารกิจการเคลื่อนย้ายม้วนฟิล์มดังกล่าวลงไปเก็บใต้ดินได้เป็นผลสำเร็จเมื่อวันที่ 8 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเป็นความพยายามครั้งสำคัญของ GitHub ที่ต้องการรักษาองค์ความรู้ด้านโค้ดของซอฟต์แวร์ที่ถูกมนุษย์พัฒนาขึ้นมา เพื่อรอคอยมนุษย์ในโลกอนาคตกลับมาทำความเข้าใจอีกครั้ง

 

สำหรับโครงการเก็บรักษาองค์ความรู้ของมนุษย์เอาไว้ในลักษณะนี้มีโครงการอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เช่น โครงการคลังเมล็ดพันธุ์พืชโลกสวาลบาร์ด (Svalbard Global Seed Vault) ที่สะสมเมล็ดพืชบนโลกกว่า 70,000 ชนิดเอาไว้ใต้ดินในบริเวณใกล้เคียงกับโครงการ Github Arctic Code Vault เพื่อรักษาสายพันธุ์ของพืชที่อาจสูญพันธุ์ไปในอนาคต

GitHub ก่อตั้งเมื่อปี 2552 ปัจจุบันถูกซื้อกิจการโดยบริษัทไมโครซอฟท์ และมีนักพัฒนาโปรแกรมเข้าใช้งานระบบนี้มากกว่า 50 ล้านคน และยังมีเข้ามาผู้ใช้งานอย่างต่อเนื่อง

--------------------------

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ #ThaiPBS
ติดตาม #ThaiPBSSciAndTech ได้ที่
- https://www.facebook.com/ThaiPBSSciAndTech
- https://twitter.com/ThaiPBSSciTech

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง