ต้องอ่าน! ชีวิต “จารุชาติ” พยานปากสำคัญ คดี “บอส อยู่วิทยา”

อาชญากรรม
2 ส.ค. 63
18:09
53,088
Logo Thai PBS
ต้องอ่าน! ชีวิต “จารุชาติ” พยานปากสำคัญ คดี “บอส อยู่วิทยา”
“จารุชาติ” อาจเป็นคนธรรมดาที่ไม่มีใครรู้จัก ถ้าเขาไม่ได้เป็นพยานคดีสำคัญ “บอส อยู่วิทยา” และมาเสียชีวิตปริศนาด้วยอุบัติเหตุ ก่อนเสียชีวิต “จารุชาติ” อยู่กับใคร ทำงานอะไร และบุคคลเหล่านั้นเกี่ยวข้องกันอย่างไร

เมื่อวันที่ 3 ก.ย.2555 “จารุชาติ” เป็นพยาน ขณะขับรถกระบะส่งของ ให้การเมื่อวันที่ 8 ก.ย.2555 หรือ 5 วันหลังจากเกิดเหตุ ว่า เป็นหนึ่งในผู้เห็นเหตุการณ์อุบัติเหตุ แต่ไม่ได้ให้การเรื่องความเร็ว

30 มิ.ย.2557 พยาน “จารุชาติ” เดินทางไปทำงานที่ไต้หวัน ทำงานที่ไต้หวัน 3 ปี เดินทางกลับมาประเทศไทยเมื่อวันที่ 1 มิ.ย.2560

1.ทนายอ้างพยานเดิม

4 พ.ค.2559 นายธนิต บัวเขียว ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายและบริหารความเสี่ยง บริษัท เครื่องดื่มกระทิงแดง จำกัด ในฐานะทนายความ ยื่นเรื่องร้องเรียนไปที่คณะกรรมาธิการยุติธรรมฯ สนช. เพื่อขอให้สอบสวนเพิ่มเติม ในประเด็นความเร็ว จากข้อหาขับรถประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิต

อ้างถึงพยานที่เป็นผู้เชี่ยวชาญความเร็วอีก 1 คน คือ “ดร.สายประสิทธิ์” และอ้างว่า มีประจักษ์พยาน เห็นเหตุการณ์ทั้งหมด

ประเด็นนี้ “นายธานี โฆษกกรรมาธิการฯ อ้างว่า กรรมาธิการฯ สนช. ได้เชิญประจักษ์พยานไปให้การเพิ่มเติม

อ้างว่า ประจักษ์พยานที่ไปให้การเพิ่มเติมไม่ใช่พยานใหม่ แต่เป็นพยานเดิมที่เคยให้การไว้ (หมายถึง จารุชาติ เนื่องจากเคยให้การเมื่อวันที่ 8 ก.ย.2555)

แต่เมื่อดูเปรียบเทียบ วัน และเวลา ของ “จารุชาติ” ปี 2559 “จารุชาติ ” ยังทำงานอยูที่ไต้หวัน จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะเดินทางไปให้การที่กรรมาธิการ สนช. ในช่วงเวลานั้น

“นายธานี” กรรมาธิการฯ ชี้แจงกับสื่อมวลชนว่า วันที่ 16 ธ.ค.2559 คณะกรรมาธิการฯ มีมติรวบรวมผลการสอบและการศึกษาข้อเท็จจริง ส่งให้กับพนักงานอัยการ

ประเด็นนี้ขัดแย้งกับ พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร สมาชิกวุฒิสภา อดีต ผบช.น. และอดีตกรรมาธิการฯ ชุดเดียวกัน

พล.ต.ท.ศานิตย์ บอกว่า : “ขณะเป็นกรรมาธิการ ได้อภิปราย ว่า กรรมาธิการฯ จะนำมาหารือพิจารณาไม่ได้ เพราะไม่ใช่อำนาจหน้าที่ รวมทั้งพยานผู้เชี่ยวชาญความเร็ว “ดร.สายประสิทธิ์” ก็ไม่มีน้ำหนักรับฟังได้

กรรมาธิการฯ มีมติเห็นด้วย พิจารณาในวันเดียวและตีเรื่องตกไป ไม่ได้มีความเห็นใด ๆ ไม่ได้รับรอง ตรวจสอบจากรายงานการประชุมที่รัฐสภาได้

2.อัยการสั่งยุติการสอบสวน

พนักงานอัยการ มีหนังสือฉบับลงวันที่ 14 ก.พ.2561 แจ้งผลการพิจารณา การร้องขอความเป็นธรรมของนายวรยุทธ ต่อคณะกรรมาธิการฯ ว่า อัยการสูงสุด พิจารณารายงานผลการศึกษาสอบหาข้อเท็จจริง ของคณะกรรมาธิการฯ แล้ว

มีคำสั่งให้ยุติเรื่องขอความเป็นธรรม และได้แจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ร้องขอความเป็นธรรมรับทราบ

พยานปากสำคัญ “จารุชาติ” ที่เคยมีชื่อว่า เป็นคนเห็นเหตุการณ์ และถูกอ้างชื่อว่าพร้อมจะให้การเรื่องความเร็วขณะเกิดอุบัติเหตุ

เมื่อเรื่องถูกส่งกลับไปที่สำนักงานอัยการ อัยการฝ่ายคดีพิเศษ เห็นว่า เป็นความพยายามประวิงเวลา จึงมีคำสั่งว่า

พยานปากสำคัญขับรถกระบะ ไม่ใช่หลักฐานใหม่ และให้ดำเนินการตามหมายจับ ติดตามตัวผู้ถูกกล่าวหามาฟ้องคดี ลงนาม เมื่อวันที่ 26 ต.ค.2562

ถัดมาเพียงเดือนเศษ ๆ ปรากฎว่า พยานปากสำคัญ “จารุชาติ” ได้ไปให้ปากคำใหม่เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.2562

ช่วงเวลา 1 เดือนนี้สำคัญมากว่า ใครเป็นคนออกคำสั่งใหม่ และทำไมถึงออกคำสั่งที่ว่านั้นได้

3.อุ้มพยานปากสำคัญ

“จารุชาติ” หลังจากให้ปากคำแล้ว เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.2562 พยานปากสำคัญ “จารุชาติ” เดินทางไปทำงานที่ จ.เชียงใหม่

ปลายเดือนธันวาคม “นายวัลลภ” พ่อค้ากุ้งที่เชียงใหม่ อ้างว่า “เจอ นายจารุชาติ ที่ จ.สุพรรณบุรี พูดคุยทักทายกันประสาคนขับรถ แล้วก็แยกย้ายกันไป พบกันครั้งที่ 2 ที่ตลาดเมืองใหม่ ก่อนตกลงกันจะว่าจ้างให้ทำงานเป็นคนรับส่งกุ้งจาก จ.สุพรรณบุรี

“นายวัลลภ” อ้างว่า แนะนำ “จารุชาติ” ให้รู้จักกับ นายชูชัย เลิศพงศ์อดิศร อดีตสมาชิกวุฒิสภา เพื่อฝากให้ช่วยงาน

นายชูชัยจึงจ้างให้ “จารุชาติ” ทำหน้าที่ดูแลสนามฟุตบอล สโมสรเจแอล เชียงใหม่ยูไนเต็ด และให้พักอาศัยที่โกดังเก็บของหลังบ้านน้องสาว ที่ย่านแม่เหี้ยะ และเป็นที่ตั้งสำนักงานทนายความนิติชัย

มีข้อมูลนายจารุชาติ จากการไปขึ้นทะเบียนที่สำนักงานประกันสังคม ว่า ทำงานให้สำนักงานทนายความแห่งหนึ่ง เมื่อวันที่ 1 ก.ค.2563 และรับเงินเดือนจาก เจแอล เชียงใหม่ ยูไนเต็ด หลังจากอัยการออกคำสั่งไม่ฟ้อง และให้เพิกถอนหมายจับ นายวรยุทธ อยู่วิทยา เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.2563

และเพียงแค่เดือนเดียว “จารุชาติ” เสียชีวิต ลักษณะการตายยังเป็นข้อสงสัยว่า เกิดจากอุบัติเหตุจริงหรือไม่

“จารุชาติ” ตายอย่างไม่ปกติ หลังจากปรากฏข่าว อัยการสั่งไม่ฟ้องคดีนายวรยุทธ 1 สัปดาห์ และปรากฏชื่อ “จารุชาติ” เป็นพยานปากสำคัญ จุดเปลี่ยนคดีนี้

4.เบื้องหลัง “จารุชาติ”

สำนักงานทนายความนิติชัย นี้มีความสำคัญอย่างไร?

เมื่อตรวจค้นจากข้อมูลการจดทะเบียนประกอบกิจการ หุ้นส่วน และกรรมการของสำนักงานนิติชัยทนายความ 3 คน มีชื่อว่า. “นายเอกพล , นายกาญจนา , นายภูมเรศ”

นายเอกพล และนายภูมเรศ มีชื่อตรงกับ บริษัท เจแอล เชียงใหม่ ยูไนเต็ด ที่เป็นเจ้าของทีมฟุตบอลสโมรสร เจแอล เชียงใหม่ยูไนเต็ด

ก่อนใช้ชื่อว่า “เจแอล เชียงใหม่ยูไนเต็ด” นายชูชัย เลิศพงศ์อดิศร ทนายความ และอดีตสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดเชียงใหม่ จดทะเบียนก่อตั้งเป็นนิติบุคคลในรูปแบบบริษัท เมื่อเดือน ก.ค. 2558 ใช้ชื่อ ช้างเผือกเชียงใหม่ ยูไนเต็ด จำกัด และนายชูชัย เป็นประธานสโมสร

หลังจากสโมสร ได้เลื่อนชั้นขึ้นมาสู่ลีกอาชีพ บริษัท ศรีนานาพร มาร์เกตติ้ง จำกัด เจ้าของผลิตภัณฑ์ขนมหวานเจลาติน ยี่ห้อ เจเล่ (Jele) ได้เข้ามาเป็นผู้สนับสนุนหลักของสโมสร จึงเปลี่ยนชื่อที่เป็น เจแอล เชียงใหม่ ยูไนเต็ด ตั้งแต่ฤดูกาล 2560

สโมสรเชียงใหม่ยูไนเต็ด ได้รับสปอนเซอร์สนับสนุน จากเครื่องดื่ม ‘มูส’ ผลิตภัณฑ์ในเครือของบริษัท สยามไวเนอรี่ จำกัด ที่นายเฉลิม อยู่วิทยา พ่อของนายวรยุทธ เป็นผู้ดูแลกิจการ

ผ่านการแนะนำให้รู้จักโดย นายสมัคร เชาวภานันท์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา และทนายความประจำตระกูลอยู่วิทยา เป็นผู้แนะนำให้รู้จักเมื่อปี 2560 บริษัท สยามไวเนอรี่ สนับสนุนสปอนเซอร์ปีละ 3 ล้านบาท รวม 3 ปีประมาณ 10 ล้านบาท

5.ย้อนไปรู้จัก “นายชูชัย” เป็นใคร

นายชูชัย เลิศพงศ์อดิศร เป็นอดีตสมาชิกวุฒิสภา เมื่อช่วงปี 2551-2556 เป็น ส.ว. ช่วงเวลาเดียวกับ นายสมัคร เชาวภานันท์ ทนายความประจำตระกูลอยู่วิทยา ขณะนั้น นายสมัคร เชาวภานันท์ เป็นประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการยุติธรรมและตำรวจ

ตำแหน่งของนายชูชัย เลิศพงศ์อดิศร เมื่อปี 2551-2556 ในช่วงเวลานั้น
- ประธานคณะกรรมาธิการ พิจารณาเสนอรายชื่อบุคคลที่เห็นสมควรเป็นกรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิ
- คณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด
- รองเลขานุการคณะกรรมาธิการ ทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของผู้สมควรได้รับเลือกเป็นกรรมการ กสทช.


- คณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อ เป็น ป.ป.ท.
- คณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณาเสนอรายชื่อบุคคลที่เห็นสมควรเป็นกรรมการตุลาการศาลปกครอง
- เลขานุการคณะกรรมาธิการสามัญ เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง เลขาฯ ป.ป.ง.
.. ฯลฯ

อดีตสมาชิกวุฒิสภา ที่เป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอล มีข้อมูลที่น่าสนใจ เพราะเคยเป็นกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติ ตำแหน่งอัยการสูงสุด และตำแหน่งสูงสุดของกระบวนการยุติธรรมหลายคน เป็นกรรมาธิการสามัญและวิสามัญหลายคณะ

เมื่อต้นปี 2562 เป็นหนึ่งในผู้สมัคร เข้ารับการคัดเลือก คณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) ในสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิ และปัจจุบัน เป็นผู้สมัคร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง