ไขคำตอบ "แอมโมเนียมไนเตรท" จากปุ๋ยสู่ระเบิดกรุงเบรุต

Logo Thai PBS
ไขคำตอบ "แอมโมเนียมไนเตรท" จากปุ๋ยสู่ระเบิดกรุงเบรุต
ไทยพีบีเอสออนไลน์ พาไปทำความรู้จัก "แอมโมเนียมไนเตรท" จากปุ๋ยสู่สารตั้งต้นต้นเหตุระเบิดช็อกโลก กรุงเบรุต ประเทศเลบานอน ทำให้คนเสียชีวิต 78 คน บาดเจ็บ 4,000 คน ชี้อานุภาพของก๊าซร้อนที่เกิดขึ้นทำให้เกิดคลื่นความดัน เคลื่อนที่เร็วเท่าเสียง 330 เมตร

มีคำยืนยันเหตุการณ์ระเบิดช็อกโลกกลางกรุงเบรุต ประเทศเลบานอนว่ามาจากสารแอมโมเนียมไนเตรท น้ำหนัก 2,750 ตันที่ถูกเก็บไว้ในท่าเรือแห่งหนึ่ง จากตรวจยึดจากเรือสัญชาติมอลโดวาเมื่อปี 2558

Aljazeera ระบุหน่วยงานของเลบานอน รู้ตั้งแต่ 6 ปีที่แล้วว่ามีแอมโมเนียมไนเตรท 2,750 ตัน ถูกเก็บไว้ที่ท่าเรือ ซึ่งผอ.สำนักงานศุลกากร (ในปี 2014-2017) เคยทำหนังสือไปสอบถามสำนักงานผู้พิพากษาว่าควรจะจัดการกับสารดังกล่าวอย่างไร ทำหนังสือไปทั้งหมด 5 ฉบับไม่มีการตอบกลับแม้แต่ครั้งเดียว

อานุภาพของแอมโมเนียมไนเตรท ทำให้พื้นดินเกิดการสั่นไหว เปรียบเทียบได้กับแผ่นดินไหวขนาด 3.3 และมีรายงานผู้เสียชีวิต78 คน บาดเจ็บ 4,000 คน (ข้อมูล 5 ส.ค.63) 

ทำไมแอมโมเนียมไนเตรท จึงรุนแรง? 

ข้อมูลจากเว็บไซต์ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) ที่เรียบเรียงโดยบุญรักษ์ กาญจนวรวณิชย์ จากศูนย์ MTEC ระบุว่า การนำปุ๋ยแอมโมเนียมไนเตรท มาใช้เป็นวัตถุดิบในการทำระเบิดมีมานานแล้ว โดยนำไปผสมกับเชื้อเพลิง เนื่องจากระเบิดที่ได้ใช้งานง่าย และมีราคาถูก จึงนิยมใช้มากในเหมืองถ่านหิน เหมืองหิน เหมืองแร่โลหะและอื่นๆ

สำหรับการนำปุ๋ยแอมโมเนียมไนเตรทไปใช้ทำระเบิด เพื่อก่อการร้ายเริ่มครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1970 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันประเทศในแถบตะวันออกกลาง เช่น อัฟกานิสถาน ก็ยังนิยมทำและใช้อยู่

เนื่องจากระเบิดแบบนี้ใช้ปุ๋ยเคมี เป็นส่วนประกอบ จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า ระเบิดปุ๋ย (fertilizer bomb)
ภาพ:ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ

ภาพ:ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ

ภาพ:ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ

ระเบิดปุ๋ย องค์ประกอบระเบิด 

1.เชื้อเพลิง เป็นวัตถุที่เกิดการลุกไหม้
2.สารออกซิไดเซอร์ หรือสารที่ทำหน้าที่เป็นแหล่งก๊าซออกซิเจน เนื่องจากการเผาไหม้สสารหรือวัตถุในที่เปิดโล่งสามารถใช้ก๊าซออกซิเจนที่มีอยู่ในอากาศ แต่การเผาไหม้วัสดุในวัตถุปิดผนึกไม่มีอากาศจำเป็นต้องอาศัยก๊าซออกซิเจนจากสารที่มีออกซิเจนเป็นองค์ประกอบ เช่น ปุ๋ยแอมโมเนียไนเตรท จากสูตรเคมี NH4NO3 หากพิจารณาเฉพาะส่วนของไนเตรท (NO3) จะเห็นได้ชัดเจนว่า ไนโตรเจน 1 อะตอม ประกอบด้วยออกซิเจนถึง 3 อะตอม ดังนั้นสารนี้จึงเหมาะที่จะใช้เป็นแหล่งจ่ายก๊าซออกซิเจน

สำหรับระเบิดยุคใหม่ เช่น ระเบิดทีเอ็นที ผลิตจากสารไตรไนโตรโทลูอีน ซึ่งเป็นวัตถุระเบิดประเภททูอินวันคือ โมเลกุลของสารเคมีมีทั้งแหล่งให้ก๊าซออกซิเจน และส่วนที่เป็นเชื้อเพลิงครบสมบูรณ์ใน 1 โมเลกุล

ภาพ:ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ

ภาพ:ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ

ภาพ:ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ

กลไกการระเบิด

นักวิชาการ อธิบายว่า การระเบิดเริ่มต้นจากการระเบิดของเชื้อปะทุ (วัสดุที่มีวัตถุระเบิดปริมาณเล็กน้อย) และปลดปล่อย คลื่นระเบิด ซึ่งมีความเร็วประมาณ 3.2-4.8 กิโลเมตรต่อวินาทีออกมา ส่งผลให้สารแอมโมเนียมไนเตรท ในเม็ดปุ๋ยระเหิด กลายเป็นก๊าซทันที และจุดเชื้อเพลิงให้ลุกไหม้

พลังงานจากคลื่นระเบิดที่ทะลุผ่านสารแอมโมเนียมไนเตรททำให้โมเลกุลสลายตัว อะตอมออกซิเจนถูกปลดปล่อยออกมา และรวมตัวเป็นก๊าซออกซิเจน เร่งปฏิกิริยาหรือกระบวนการเผาไหม้ให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ได้ผลิตผลต่อเนื่องเป็นก๊าซร้อนต่างๆ

ก๊าซร้อนที่เกิดในเวลาสั้นทำให้เกิดคลื่นความดัน เคลื่อนที่เร็วเท่าอัตราเร็วเสียง 330 เมตรหรือ 1,100 ฟุตต่อวินาที คลื่นนี้อาจทำอันตรายต่อชีวิต วัตถุสิ่งของต่างๆโดยรอบ ความร้อนสูงเกิดขึ้นจากการเผาไหม้ ยังทำให้วัตถุโดยรอบไหม้ไฟได้ แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านระเบิดระบุว่าอำนาจการทำลายส่วนใหญ่มาจากคลื่นความดัน

ปุ๋ยยูเรีย

สำหรับปุ๋ยเคมีชนิดนี้ไม่สามารถใช้เป็นส่วนประกอบของวัตถุระเบิดได้โดยตรง ต้องดัดแปลงให้เป็นยูเรียไนเตรท(urea nitrate, (NH2)2COHNO3) ก่อน และเนื่องจากยูเรีย เป็นสารประกอบชนิดหนึ่งในปัสสาวะมนุษย์ จึงมีผู้เรียกระเบิดชนิดนี้ว่า ระเบิดปัสสาวะ 

นอกจากปุ๋ยแอมโมเนียมไนเตรท และปุ๋ยยูเรียที่กล่าวถึงไปแล้ว ยังมีปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต (ammonium sulfate, (NH4)2SO4) และปุ๋ยแคลเซียมแอมโมเนียไนเตรท ปุ๋ยผสมประกอบด้วยแคลเซียมคาร์บอเนตร้อยละ 20-30 และแอมโมเนียไนเตรทร้อยละ 70-80 ซึ่งถูกระบุว่าสามารถใช้เป็นส่วนประกอบวัตถุระเบิดได้

ปุ๋ยเคมี = ระเบิด

แม้จะมีการระบุว่า ปุ๋ยแอมโมเนียมไนเตรท รวมถึงปุ๋ยบางชนิดสามารถนำมาผลิตเป็นระเบิดได้ แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุระเบิดระบุว่า ส่วนผสมของปุ๋ยเคมี และเชื้อเพลิงที่สามารถทำให้เกิดการระเบิดได้มีสัดส่วนค่อนข้างจำเพาะ หากผสมคลาดเคลื่อน จะมีผลให้ส่วนผสมทั้งหมดเกิดปฏิกิริยาติดไฟลุกไหม้ และไม่ระเบิด

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

แอมโมเนียมไนเตรท 2.7 พันตัน ปมระเบิดครั้งใหญ่กรุงเบรุต

ระเบิดกลางเมืองหลวงเลบานอน เสียชีวิต 50 คน เจ็บ 2,700 คน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง