สำรวจคลินิก กทม.เบิกงบ “บัตรทอง” ผิดปกติ เสี่ยงยกเลิกสัญญากระทบคนกรุง

สังคม
9 ก.ย. 63
14:51
31,180
Logo Thai PBS
สำรวจคลินิก กทม.เบิกงบ “บัตรทอง” ผิดปกติ เสี่ยงยกเลิกสัญญากระทบคนกรุง
สำรวจ รพ.แม่ข่าย-ลูกข่าย กทม.หลังพบคลินิกบัตรทองทุจริต พบเบิกจ่ายผิดปกติเกือบทุกเครือข่ายกระจายทุกเขต หากพบผิดจริงยกเลิกสัญญา-ประชาชนต้องย้ายสิทธิ

นับเป็นประเด็นที่ผู้ใช้สิทธิบัตรทองจะต้องติดตาม ไม่ว่าจะอยู่ใน กทม.หรือจังหวัดอื่นๆ เมื่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พบความผิดปกติเบิกงบประมาณของคลินิกใน กทม.หลายแห่ง หลังมีการตรวจสอบเอกสารเมื่อ ส.ค.-ต.ค.62 โดยพบว่าได้ทำเอกสารหลักฐานเท็จเพื่อเบิกเงินค่าบริการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคในกลุ่มของโรคเมตาบอลิก จนนำมาสู่การดำเนินคดีกับคลินิกชุมชนอบอุ่น 18 แห่งใน กทม.

ต่อมาพบคลินิกทันตกรรมอีก 2 แห่งทุจริต โดยมีห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ให้ความร่วมมือในการปลอมแปลงเอกสาร ล่าสุดการขยายผลเพิ่มเติมทำให้พบเบิกจ่ายเท็จรวม 86 แห่งทั่วประเทศ เสียหายต่อประชาชนโดยตรง เพราะถูกอ้างชื่อสวมรอย ใส่ข้อมูลทางการแพทย์ปลอม กระทบการรักษาพยาบาลในอนาคต

**อัปเดตข่าว 18 ก.ย.63 : "8 แสนคน" กระทบปมเลิกสัญญาคลินิก-รพ.โกงบัตรทอง

เปิดกระบวนการปลอมแปลงเอกสาร-กรอกข้อมูลเท็จ

คลินิกเกือบครึ่ง เบิกจ่ายผิดปกติ

หน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คือโรงพยาบาล คลินิก หรือสถานพยาบาลอื่นๆ ของรัฐและเอกชนที่ขึ้นทะเบียนอยู่ในระบบฯ รับค่าใช้จ่ายจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รวมกลุ่มกันเป็นเป็นเครือข่าย โดยมีโรงพยาบาลระดับทุติยภูมิเป็นแม่ข่าย (หน่วยบริการรับส่งต่อ) เช่น โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน หรือสถานพยาบาลที่รองรับผู้ป่วยในได้ และมีหน่วยบริการปฐมภูมิมากกว่า 1 แห่งเป็นลูกข่าย เช่น คลินิก ศูนย์บริการสาธารณสุข หรือศูนย์แพทย์ชุมชน เพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาลและเข้าถึงประชาชน

ในปี 2562 มีหน่วยบริการในระบบฯ 12,334 แห่ง เป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ 11,750 แห่ง หน่วยบริการรับส่งต่อ 1,382 แห่ง และที่ประชาชนลงทะเบียนใช้สิทธิเป็นหน่วยบริการประจำ 1,360 แห่ง ทั้งนี้แต่ละแห่งสามารถขึ้นทะเบียนได้มากกว่า 1 ประเภท

ไทยพีบีเอสตรวจสอบบัญชีเครือข่ายหน่วยบริการสาธารณสุขใน กทม.* (สปสช.เขต 13) เป็นหน่วยบริการรับส่งต่อ 25 แห่ง หน่วยบริการปฐมภูมิ 119 แห่ง รวม 144 แห่ง พบความผิดปกติเบิกจ่ายงบฯ 62 แห่ง

แผนภาพที่ 1

แผนภาพที่ 1

แผนภาพที่ 1

จากแผนภาพที่ 1 จะเห็นว่าในส่วนที่พบความผิดปกตินี้ มีหน่วยบริการปฐมภูมิ 9 แห่งอยู่ในหลายแม่ข่าย บางกลุ่มเครือข่ายเบิกจ่ายผิดปกติเกือบทุกแห่ง

*หมายเหตุ : ฐานข้อมูลปรากฎเฉพาะ รพ./คลินิก ที่ยังเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนหรือโอนย้ายสิทธิ และจำนวนหน่วยบริการปฐมภูมิของแม่ข่าย อาจมีมากกว่าที่ระบุในแผนภาพ

เกือบทุกเขต เบิกจ่ายผิดปกติ

หน่วยบริการแต่ละแห่งจะต้องรองรับประชาชนจากหลายเขต สูงสุดที่พบคือรองรับมากถึง 12 เขตจากทั้งหมด 50 เขต

เมื่อแบ่งระดับการพบความผิดปกติเบิกจ่ายงบฯ จากจำนวนหน่วยบริการในเขตพื้นที่รองรับนั้นๆ เป็นเขตที่มีความผิดปกติระดับสูง 11-17 แห่ง 10 เขต (เฉดสีแดง) ระดับกลาง 4-8 แห่ง 23 เขต (เฉดสีส้ม) ระดับต่ำ 1-3 แห่ง 14 เขต (เฉดสีเหลือง) ในแผนภาพที่ 2 เกือบทุกเขตเบิกจ่ายผิดปกติ ยกเว้นเขตบางกอกใหญ่และเขตปทุมวัน (สีเขียว)

แผนภาพที่ 2

แผนภาพที่ 2

แผนภาพที่ 2

ทั้งนี้ คลินิก 18 แห่งที่ถูกดำเนินคดีและยกเลิกสัญญาคลินิกชุมชนอบอุ่นกับ สปสช. ต่างก็อยู่ในเขตพื้นที่ที่พบความผิดปกติในระดับสูงและระดับกลางด้วย

  • เรือพระร่วงสหคลินิก เขตบางขุนเทียน
  • เรือพระร่วงคลินิกเวชกรรม สาขา 2 เขตบางเขน
  • เรือพระร่วงคลินิกเวชกรรม สาขา 3 เขตดอนเมือง
  • เรือพระร่วงคลินิกเวชกรรม สาขา 4 เขตดอนเมือง
  • เรือพระร่วงคลินิกเวชกรรม สาขา 5 เขตลาดพร้าว
  • เรือพระร่วงคลินิกเวชกรรม สาขาปัฐวิกรณ์ เขตบึงกุ่ม
  • เรือพระร่วงคลินิกเวชกรรม สาขารามคำแหง 39 เขตวังทองหลาง
  • คลินิกปิยะมินทร์ สาขาอุดมสุข เขตพระโขนง
  • คลินิกเพชรเกษม 54 เวชกรรมคลินิก เขตภาษีเจริญ
  • คลินิกเวชกรรมตลิ่งชัน เขตตลิ่งชัน
  • คลินิกเวชกรรมท่าพระ เขตบางกอกใหญ่
  • คลินิกเวชกรรมปิยะมินทร์ สาขาราม 2 เขตประเวศ
  • คลินิกเวชกรรมเพชรเกษม 102 เขตบางแค
  • คลินิกเวชกรรมรดาวุฒิ สาขาบางบอน 1 เขตบางบอน
  • คลินิกเวชกรรมหนองค้างพลู 1 เขตหนองแขม
  • นิมิตรใหม่คลินิกเวชกรรม เขตคลองสามวา
  • รักสุขภาพคลินิกเวชกรรม เขตห้วยขวาง
  • สหคลินิกรดาวุฒิบางแวก เขตภาษีเจริญ

ซึ่งขณะนี้ สปสช.ได้ประสานกรุงเทพมหานคร กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานต่างๆ หาหน่วยบริการมาทดแทนคลินิก 18 แห่งนี้อย่างเร่งด่วน ดังนั้นหากพบว่าหน่วยบริการ 62 แห่งนี้มีความผิดจริง จะกระทบชาวกรุงเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคเรื้อรัง โรคประจำตัว ที่ต้องรักษาต่อเนื่อง

เปิดรายชื่อคลินิกลูกข่าย

เมื่อเรียงลำดับโรงพยาบาลแม่ข่ายที่มีจำนวนลูกข่ายเบิกจ่ายผิดปกติมากที่สุด พบว่าเป็น รพ.มงกุฎวัฒนะ รองลงมาคือ รพ.ราชวิถี รพ.สิรินธร รพ.พระราม 2 ตามลำดับ (แผนภาพที่ 3)

อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลที่มีลูกข่ายเพียงแห่งเดียว เช่น รพ.นวมินทร์ และ รพ.ลาดกระบังกรุงเทพฯ ต่างก็อยู่ในเขตพื้นที่ที่พบความผิดปกติระดับสูงและระดับกลาง

หากพิจารณาจากจำนวนเขตพื้นที่ พบว่าหน่วยบริการที่ต้องรองรับประชาชนมากกว่า 10 เขตขึ้นไป มี 14 แห่ง มากที่สุดที่รองรับคือ 12 เขต

เช่น พระยาสุเรนทร์คลินิกเวชกรรม สาขาแกรนด์ออคิด ในเครือข่าย รพ.สิรินธร ตั้งอยู่ที่เขตคลองสามวา รองรับเขตบึงกุ่ม, บางกะปิ, ลาดพร้าว, สะพานสูง, คันนายาว, ดอนเมือง, สายไหม, บางเขน, ลาดกระบัง, คลองสามวา, มีนบุรี และหนองจอก

แผนภาพที่ 3

แผนภาพที่ 3

แผนภาพที่ 3

ทั้งนี้ ยังมีหน่วยบริการหลายแห่งที่ข้อมูลไม่ครบถ้วน คือไม่มีข้อมูลในเขตอื่นนอกจากเขตที่ตั้งของตนเอง มากกว่าครึ่งหนึ่งของที่พบความผิดปกติทั้งหมด สะท้อนขนาดความเสียหายที่ยังไม่ถูกนำมากางบนโต๊ะ

ข้อมูลที่ปรากฎมาทั้งหมดนี้ พอให้เห็นแนวทางที่อาจตั้งคำถามต่อ และควรนำไปสู่การตรวจสอบลงลึกในระดับเครือข่าย ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่าหลัง สปสช.ระดมสรรพกำลังตรวจสอบขนานใหญ่จะขุดถึงรากถึงโคนหรือไม่

 

**อัปเดตข่าว 18 ก.ย.63 : "8 แสนคน" กระทบปมเลิกสัญญาคลินิก-รพ.โกงบัตรทอง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง