หลายชาติร่วมต้านกองทัพเมียนมา-บริษัทเหล้าญี่ปุ่นยกเลิกร่วมทุน

ต่างประเทศ
5 ก.พ. 64
18:32
416
Logo Thai PBS
หลายชาติร่วมต้านกองทัพเมียนมา-บริษัทเหล้าญี่ปุ่นยกเลิกร่วมทุน
บริษัทเอกชนของญี่ปุ่นประกาศยุติเป็นหุ้นส่วนกับบริษัทของกองทัพเมียนมา ขณะที่การประท้วงต่อต้านรัฐประหารเกิดขึ้นทั้งในเมียนมาและต่างประเทศ

วันนี้ (5 ก.พ.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัทคิริน ซึ่งเป็นบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สัญชาติญี่ปุ่น ประกาศยุติการเป็นหุ้นส่วนกับบริษัทเอ็มอีเอชแอล ของกองทัพเมียนมา เนื่องจากกังวลอย่างมากต่อการก่อรัฐประหารของกองทัพ แต่ยังไม่มีแผนถอนการลงทุนออกจากเมียนมา

ก่อนหน้านี้ บริษัทคิรินเปิดการสอบสวน กรณีกองทัพนำรายได้จากการเป็นหุ้นส่วนกับบริษัทไปใช้ในการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวโรฮิงญา หลังถูกกดดันอย่างหนักจากกลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิและองค์การระหว่างประเทศ โดยเมื่อเดือน ม.ค.2564 บริษัทระบุว่ายังไม่สามารถสรุปผลการสอบสวนได้

ผู้นำอินโดฯ-มาเลเซียร้องอาเซียนถกปมเมียนมา

โจโค วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย และมูห์ยิดดิน ยัสซิน นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย แสดงความกังวลต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมตั้งความหวังว่า เมียนมาจะยึดมั่นในหลักการของอาเซียนที่จะปฏิบัติตามหลักนิติธรรม มีธรรมาภิบาล รักษาประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน รวมทั้งปกป้องรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญ

ผู้นำทั้ง 2 ชาติ ยังร่วมกันเรียกร้องให้อาเซียนเปิดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศนัดพิเศษ เพื่อหารือในประเด็นนี้ และขอให้เมียนมาแก้ปัญหาความเห็นต่างทางการเมืองผ่านวิธีทางกฎหมาย เนื่องจากอาจกระทบต่อสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคอาเซียน

ชาวเมียนมาไม่หยุดประท้วงรัฐประหาร

นักศึกษาและอาจารย์ของมหาวิทยาลัยดากอน ในนครย่างกุ้งของเมียนมา ร่วมจัดการประท้วงชูสามนิ้วและร้องเพลง เพื่อแสดงพลังต่อต้านรัฐประหารและเรียกร้องประชาธิปไตย

ขณะที่กลุ่มครูและอาจารย์ มหาวิทยาลัยฝึกสอนครูย่างกุ้ง ร่วมกันเดินขบวนและนัดหยุดงาน พร้อมทั้งประกาศที่จะไม่ยอมรับรัฐบาลทหารนับตั้งแต่นี้เป็นต้นไป

ใช้สัญลักษณ์ "โบว์แดง" ต่อต้านกองทัพ

ข้าราชการประจำกระทรวงต่างๆ ในกรุงเนปิดอว์ ซึ่งรวมถึงกระทรวงกิจการกลุ่มชาติพันธุ์และกระทรวงพลังงาน ตัดสินใจหยุดทำงาน และเดินขบวนประท้วงโดยใช้โบว์แดง ซึ่งเป็นสีของพรรคเอ็นแอลดีเป็นสัญลักษณ์

ข้าราชการที่เข้าร่วมกิจกรรม ระบุว่า การรณรงค์โบว์แดงเป็นการเคลื่อนไหวทั่วประเทศ เพื่อแสดงจุดยืนว่าชาวเมียนมาจะยืนหยัดเพื่อความจริง สนับสนุนผลการเลือกตั้งตามความเป็นจริงและยืนเคียงข้างกับกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศ

ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในวันนี้ (5 ก.พ.) เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการแสดงออกถึงการต่อต้านการรัฐประหาร ผ่านการใช้วิธีอารยะขัดขืน และกระแสดังกล่าวกำลังขยายออกไปในวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และชาวย่างกุ้งเริ่มเคลื่อนไหว เมื่อวันที่ 1 ก.พ. ซึ่งเป็นวันเดียวกับวันที่กองทัพเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน

"เกาหลีใต้-อินโดนีเซีย" ร่วมประท้วงหน้าสถานทูต

การประท้วงต่อต้านรัฐประหารยังเกิดขึ้นในต่างแดนด้วยเช่นกัน โดยกลุ่มนักเคลื่อนไหวจากภาคประชาสังคมอินโดนีเซียจำนวนหนึ่ง ร่วมกันประท้วงบริเวณหน้าสถานเอกอัครราชทูตเมียนมาในกรุงจาการ์ตา เรียกร้องให้ปล่อยตัวออง ซาน ซูจี และแกนนำรัฐบาล รวมทั้งเรียกร้องให้ประชาคมโลกดำเนินมาตรการแข็งกร้าวต่อกองทัพ

ขณะที่กลุ่มนักศึกษาชาวเกาหลีใต้ ร่วมกันเดินขบวนประท้วงไปยังสถานเอกอัครราชทูตเมียนมา ประจำกรุงโซล เพื่อร่วมแสดงจุดยืนต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและยืนเคียงข้างชาวเมียนมา

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง