กลาโหม ยืนยัน 4 ปี เหตุรุนแรงลดลง จัดงบฯ ชายแดนใต้ไม่ซ้ำซ้อน

การเมือง
2 มิ.ย. 64
16:06
299
Logo Thai PBS
 กลาโหม ยืนยัน 4 ปี เหตุรุนแรงลดลง จัดงบฯ ชายแดนใต้ไม่ซ้ำซ้อน
รมช.กลาโหม ชี้แจงร่าง พ.ร.บ.งบฯ ปี 65 ยืนยัน งบฯ แผนงานบูรณาการการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ไม่ซ้ำซ้อน ขณะที่เหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ลดลงต่อเนื่อง 4 ปี

วันนี้ (2 มิ.ย.2564) พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม ชี้แจงการอภิปรายร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่าย​ประจำปี 2565 ประเด็นงบประมาณชายแดนใต้โดยระบุว่า ปัญหาชายแดนใต้เชื่อมโยงในหลายมิติ การดำเนินการจึงต้องรอบคอบ

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้กำหนดแผนงานบูรณาการการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ โดยปรับลดงบประมาณลงจากปี 2564 เหลือ 7,144 ล้านบาทเศษ สำหรับงบประมาณอื่นที่ ส.ส.อภิปรายมานั้นเป็นงบฯ ฟังชันก์ของแต่ละกระทรวง ยืนยัน งบประมาณไม่ซ้ำซ้อนกัน มีระบบตรวจสอบและประมวลผล

ทั้งนี้ การดำเนินการที่ผ่านมา เหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้ลดลงต่อเนื่อง โดยในปี 2560 เกิดเหตุการณ์ 166 เหตุการณ์ ปี 2562 จำนวน 125 เหตุการณ์ และปี 2563 จำนวน 54 เหตุการณ์ ลดลง 67.47% โดยช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2564 ระหว่าง ต.ค.2563 - มี.ค.2564 เหตุการณ์ลดลงเหลือ 38 เหตุการณ์

การพัฒนา สร้างอาชีพ รายได้ สอดคล้องกับชีวิตให้ประชาชน เสริมสร้างพหุวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง สัดส่วนงบประมาณ 7,000 กว่าล้านบาทให้ความสำคัญด้านการพัฒนา 4,000 ล้านบาทเศษ 56.9% ด้านความมั่นคง 3,000 ล้านบาท 43.10% ของวงเงิน

พล.อ.ชัยชาญ ยังได้กล่าวถึงงบประมาณด้านการข่าว โดยระบุว่า มีเพียง 700 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งเป็นงานสำคัญในพื้นที่เพราะหากงานด้านการข่าวมีประสิทธิภาพจะช่วยป้องกันการเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นได้


ส่วนเรื่องรั้วชายแดน ฝั่งมาเลเซียได้ก่อสร้างแนวป้องกันการลักลอบของกลุ่มก่อเหตุรุนแรง ลักลอบยาเสพติด สินค้าเถื่อน แรงงานข้ามชาติ เพื่อจัดระเบียบชายแดน โดยหน่วยงานในพื้นที่ได้สร้างความเข้าใจกับผู้ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ช่วงจุดผ่านแดนถาวร 1 แห่ง ยังสามารถเข้า-ออกได้ตามปกติและจุดผ่อนปรนทางการค้า 6 แห่ง ยังใช้งานได้

ส่วนช่องทางท่าข้ามกว่า 100 จุด ประชาชนที่เคยติดต่อตามประเพณี มีประตูรั้วสามารถเข้า-ออกได้ แต่ต้องคัดกรองทั้งหมดเป็นการจัดระเบียบชายแดน ยืนยันไม่กระทบคนในพื้นที่

ส่วนโครงการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อสันติสุข เกิดขึ้นเพื่อป้องกันความเข้าใจผิดให้เด็กและเยาวชนโดยวิทยากรใช้อาจารย์จากมหาวิทยาลัย และผู้นำทางศาสนาให้ความรู้การดำเนินชีวิตให้นักเรียนเป็นคนดี มีคุณธรรมตามหลักศาสนาและอัตลักษณ์ท้องถิ่น

เรื่องการตรวจดีเอ็นเอ เป็นการดำเนินการร่วมกันหลายฝ่าย แก้ปัญหาคนไร้สัญชาติในจังหวัดชายแดนใต้ ตอนนี้ได้ดำเนินการเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎร์แล้ว 900 คน ตั้งเป้าปีนี้ให้ได้ 250 คน เพื่อพิสูจน์สัญชาติและมีชื่อในทะเบียนราษฎร์

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง